ทีพรีโนน (Teprenone)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาทีพรีโนน(Teprenone) เป็นสารประกอบที่มีสูตรโครงสร้างคล้ายกับTerpenes นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า สารประกอบ Terpenes มีปะปนอยู่ในน้ำมันหอมระเหย จากต้นพืชหลายชนิด และเป็นที่ทราบกันดีในหมู่นักวิทยาศาสตร์ว่าสาร Terpenes มีคุณสมบัติในการซ่อมแซมเนื้อเยื่อของร่างกาย ดังนั้น ยาทีพรีโนน ที่มีโครงสร้างเคมีเลียนแบบหรือคล้ายคลึงกับสาร Terpenes จึงมีคุณสมบัติซ่อมแซมเนื้อเยื่อด้วยเช่น เดียวกัน ทางคลินิกจึงใช้ยาทีพรีโนนรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ที่มีจำหน่ายในประเทศของยาทีพรีโนน เป็นลักษณะยารับประทาน แบบแคปซูล แต่ในต่างประเทศอาจพบเห็นเป็นยาทีพรีโนนที่เป็นลักษณะของแกรนูล(ผงละเอียด/Granule)แบบรับประทานเช่นเดียวกัน

ยาทีพรีโนน สามารถรักษาแผลในกระเพาะอาหารทั้งประเภทเฉียบพลัน หรือแผลในกระเพาะอาหารประเภทกลับมาเป็นใหม่ อย่างไรก็ตามยาชนิดนี้มีผลข้างเคียงบางประการที่อาจส่งผลให้การทำงานของตับผิดปกติ ทางการแพทย์จึง ‘ไม่ใช้ยาทีพรีโนนกับ เด็ก สตรีมีครรภ์ และสตรีในภาวะให้นมบุตร’

ในด้านประสิทธิภาพของการรักษา มีรายงานว่า ยาทีพรีโนน สามารถรักษาแผลในกระเพาะอาหารโดยคำนวณได้ 81%จากผู้ป่วยทั้งหมด คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้กำหนดให้ยาชนิดนี้เป็นยาอันตราย ประชาชนสามารถพบเห็น ยาทีพรีโนน ภายใต้ชื่อการค้าว่า ‘Selbex’ โดยสามารถซื้อหาได้จากร้านขายยา หรือพบการใช้ยานี้ตามสถานพยาบาลบางแห่ง

อย่างไรก็ดี เพื่อความปลอดภัย ก่อนที่จะใช้ ยาทีพรีโนน ผู้ป่วยควรเข้ารับการตรวจร่างกายจากแพทย์เพื่อยืนยันอาการป่วยด้วยแผลในกระเพาะอาหาร และสามารถรับคำแนะนำการใช้ยานี้จากเภสัชกรตามร้านขายยาทั่วไป

อนึ่ง ชื่ออื่นของยาทีพรีโนน เช่น Geranylgeranylacetone ย่อว่า GGA

ทีพรีโนนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ทีพรีโนน

ยาทีพรีโนนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้เป็นยารักษาแผลในกระเพาะอาหาร (Gastric ulcers)

ทีพรีโนนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธ์ของยาทีพรีโนนคือ มีฤทธิ์สนับสนุนหรือเร่งให้กระเพาะอาหารสร้างเยื่อเมือกที่ผนังกระเพาะอาหาร โดยยาชนิดนี้จะกระตุ้นให้เซลล์ในกระเพาะอาหารสังเคราะห์สารประเภท Glycoprotein และ Phospholipids ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสังเคราะห์เยื่อเมือกของกระเพาะอาหารดังกล่าว ดังนั้นการรับประทานยานี้ตามคำสั่งแพทย์อย่างต่อเนื่องจะทำให้อาการแผลในกระเพาะอาหารดีขึ้นตามลำดับ

ทีพรีโนนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาทีพรีโนนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Teprenone ขนาด 50 มิลลิกรัม/แคปซูล

ทีพรีโนนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาทีพรีโนนมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 1 แคปซูล (50 มิลลิกรัม)หลังอาหาร วันละ 3 ครั้ง
  • เด็ก: ยังไม่รายงานมีการศึกษาที่แน่ชัดถึง ประสิทธิผล ขนาดยา และความปลอดภัยที่รวมถึงผลข้างเคียงของการใช้ยานี้ในเด็ก

อนึ่ง:

  • รับประทานยานี้ต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์
  • แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานยานี้ตามความเหมาะสมโดยพิจารณา จากอายุของผู้ป่วยและความรุนแรงของโรค

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาทีพรีโนน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคตับ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาทีพรีโนนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

กรณีลืมรับประทานยาทีพรีโนน สามารถรับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ห้ามเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาฯที่ขนาดปกติเท่านั้น

ทีพรีโนนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาทีพรีโนน สามารถก่อให้เกิด ผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น มีอาการท้องผูกหรือไม่ก็ท้องเสีย คลื่นไส้ กระหายน้ำ ปวดท้อง
  • ผลต่อตับ: เช่น ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น อาจพบอาการผื่นคัน

มีข้อควรระวังการใช้ทีพรีโนนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาทีพรีโนน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
  • การรับประทาน ยาทีพรีโนนร่วมกับยาใดๆ ควรปรึกษาแพทย์/เภสัชกรก่อนเสมอ
  • หลังรับประทานยานี้แล้วมีอาการ วิงเวียนศีรษะ ห้ามขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆ รวมถึงการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรทุกชนิด ด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • หากพบอาการข้างเคียงที่รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวันจากใช้ยานี้ เช่น ท้องเสียบ่อยครั้ง ปวดศีรษะมาก ให้หยุดใช้ยานี้ แล้วรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำการใช้ยานี้ของแพทย์อย่างเคร่งครัด และควรมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาทีพรีโนนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ทีพรีโนนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยังไม่พบรายงานว่า ยาทีพรีโนน เกิดอันตรกิริยา /ปฏิกิริยาระหว่างยา กับยาชนิดใดๆอย่างไรก็ตาม การจะรับประทานยาใดๆร่วมกับยาทีพรีโนนควรอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น

ควรเก็บรักษาทีพรีโนนอย่างไร?

ควรเก็บรักษา ยาทีพรีโนน เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาที่หมดอายุ
  • ไม่ทิ้งยาลงในแม่น้ำคูคลองตามธรรมชาติ

ทีพรีโนนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาทีพรีโนน มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Selbex (เซลเบ็กซ์)Eisai

บรรณานุกรม

  1. http://www.shijiebiaopin.net/upload/product/201431323032020.pdf[2019, May25]
  2. https://www.mims.com/thailand/drug/info/selbex[2019, May25]