ทิโมลอล (Timolol)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาทิโมลอล(Timolol หรือ Timolol maleate ) เป็นยาในกลุ่มเบต้า บล็อกเกอร์ (Beta blocker หรือ Beta-adrenergic receptor antagonist) มีการออกฤทธิ์ต่อตัวรับหรือหน่วยรับ (Receptor) ที่มีชื่อว่า เบต้า รีเซ็ปเตอร์ (Beta receptor) หน่วยรับดังกล่าวถูกพบที่กล้ามเนื้อหัวใจ กล้ามเนื้อเรียบ หลอดลม หลอดเลือดฝอย ไต และเนื้อเยื่อของเซลล์ประสาทชนิด Sympathetic nervous system

ในประเทศไทย ตำรับยาทิโมลอลที่พบเห็นการใช้ทางคลินิกจะเป็นลักษณะของยาลดความดันในลูกตา ใช้รักษาโรคต้อหิน มีรูปแบบผลิตภัณฑ์เป็นยาหยอดตาที่เป็นตำรับยาเดี่ยวและสูตรตำรับที่ผสมร่วมกับยาอื่น ต่างประเทศอาจพบเห็นการใช้ยาทิโมลอล ในรูปแบบยารับประทานได้เช่นเดียวกัน โดยมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างจากยาหยอดตา คือใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง ป้องกันอาการไมเกรน บำบัดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นต้น

การดูดซึมยาทิโมลอลจากระบบทางเดินอาหารจะเป็นปริมาณประมาณ 90%ของยาที่บริโภค แต่กลับพบว่ามีการกระจายตัวในร่างกายเพียงประมาณ 50% ยานี้สามารถซึมผ่านน้ำนม และรกของมารดาได้ หากไม่จำเป็นควรต้องหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร

สำหรับยาทิโมลอลที่เป็นยาหยอดตา ต้องใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงหลังหยอดยานี้เป็นอย่างต่ำ ยาจึงเริ่มออกฤทธิ์ แต่มีระยะเวลาของการออกฤทธิ์นาน 24 ชั่วโมง ขณะที่ยารับประทานใช้เวลาประมาณ 15-45นาทีในการออกฤทธิ์หลังรับประทาน และมีฤทธิ์การรักษานานเพียงประมาณ 4 ชั่วโมง โดยร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ เพื่อกำจัดยาทิโมลอลออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับน้ำปัสสาวะ

ทั้งนี้ มีข้อจำกัดการใช้ยาทิโมลอลบางประการที่ผู้บริโภคควรทราบ ดังนี้ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาทิโมลอล
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) ผู้ที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้น ผู้อยู่ในภาวะหัวใจล้มเหลว หรือหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ
  • ผู้ที่มีการใช้ยา Beta blockers, Calcium channel blocker, Alpha-blockers,Sympathomimetic drug, อยู่ก่อนแล้วควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกับยาทิโมลอล

การใช้ยาทิโมลอลอาจทำให้มีอาการ ง่วงนอน วิงเวียน ดังนั้นระหว่างใช้ยานี้ จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะใดๆ และ/หรือการทำงานกับเครื่องจักร เพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

*การได้รับทิโมลอลเกินขนาด จะสังเกตได้จาก มีอาการเจ็บหน้าอก หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก วิงเวียนและปวดศีรษะเป็นอย่างมาก หัวใจเต้นช้าผิดปกติ กรณีดังกล่าว ควรรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว ทันที/ฉุกเฉิน

องค์การอนามัยโลกได้ระบุให้ยาทิโมลอลเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สถานพยาบาลควรมีสำรองไว้ใช้เพื่อให้บริการกับผู้ป่วย คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยาทิโมลอลลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยจัดอยู่ในหมวดยาอันตราย การใช้ยานี้อย่างถูกต้องปลอดภัย จึงต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

ทิโมลอลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ทิโมลอล

ยาทิโมลอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาโรคต้อหิน (Glaucoma)
  • บำบัดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย(Myocardial infarction)
  • ป้องกันอาการโรคไมเกรน (Migraine)
  • รักษาโรคความดันโลหิตสูง(Hypertension)
  • รักษาอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Angina pectoris)

ทิโมลอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาทิโมลอลมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับของร่างกายที่มีชื่อว่า Beta receptor ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางชีวะเคมี(Biochemistry)ของร่างกายและมีเวลาการออกฤทธิ์ตามลักษณะของแต่ละผลิตภัณฑ์

กรณีเป็นยารับประทาน จะช่วยลดความดันโลหิต และส่งผลให้หัวใจทำงานได้ดีขึ้น กรณีเป็นยาหยอดตา จะทำให้การสะสมของเหลวในลูกตาลดน้อยลง ส่งผลให้ความดันในลูกตาลดลงตามมาเช่นเดียวกัน

ทิโมลอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาทิโมลอลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 5,10, และ20 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาหยอดตา ขนาดความเข้มข้น 0.5 %
  • ยาหยอดตาที่ผสมร่วมกับยาอื่น เช่น Brinzolamide 10 มิลลิกรัม + Timolol maleate 5 มิลลิกรัม / มิลลิลิตร, Brimonidine tartrate 2 มิลลิกรัม+ Timolol 5 มิลลิกรัม/ มิลลิลิตร, Dorzolamide HCl/Hydrochloride 20 มิลลิกรัม+ Timolol maleate 5 มิลลิกรัม/ มิลลิลิตร, Travoprost/ยาลดความดันในลูกตา 40 ไมโครกรัม + Timolol maleate 5 มิลลิกรัม/ มิลลิลิตร

ทิโมลอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาทิโมลอลมีขนาดรับประทาน เช่น

ก.สำหรับรักษาโรคความดันโลหิตสูง:

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 10 มิลลิกรัม/วัน แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานหลังจากใช้ยาขนาดเริ่มต้นไปแล้วประมาณ 7 วัน ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 60 มิลลิกรัม/วัน หากรับประทานยามากกว่า 30 มิลลิกรัม/วัน ให้แบ่งรับประทานเป็น 2 ครั้ง/วัน

ข. สำหรับป้องกันอาการไมเกรน:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานวันละ 10 มิลลิกรัม วันละ 1 – 2 ครั้ง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 30 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน

ค. สำหรับรักษาอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด:

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานครั้งละ 5 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า – เย็น แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเพิ่มขึ้นเป็น 10 มิลลิกรัม/ครั้ง ทุกๆ 3 วัน ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 60 มิลลิกรัม/วัน

*อนึ่ง

  • กรณีใช้เป็นยาหยอดตา: ขนาดการใช้ยา ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
  • เด็ก: ทางคลินิก ยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนถึงขนาดการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
  • ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหาร

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาทิโมลอล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาทิโมลอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยา/ใช้ยาทิโมลอล สามารถรับประทาน/ใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทาน/ใช้ยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทาน/ใช้ยาเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาทิโมลอลตรงเวลา

ทิโมลอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาทิโมลอลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายได้ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจเต้นช้า หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจหยุดเต้น หัวใจล้มเหลว เจ็บหน้าอก ตัวบวม ความดันโลหิตต่ำหรือสูง
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ระบบหายใจล้มเหลว ไอ หลอดลมตีบแคบ/หายใจลำบาก
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ มีภาวะความจำเสื่อม วิงเวียน สมองขาดเลือด/สมองขาดออกซิเจน
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ซึมเศร้า นอนไม่หลับ ฝันร้าย
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผมร่วง ผื่นคัน เหงื่อออกมาก
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ ท้องเสีย ท้องอืด ปากแห้ง ปวดท้อง อาเจียน
  • ผลต่อตับ: เช่น เกิดภาวะตับโต

มีข้อควรระวังการใช้ทิโมลอลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาทิโมลอล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่เป็น โรคหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นช้า ผู้ที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้น ผู้ที่อยู่ในภาวะช็อก ผู้ที่มีภาวะกรดในพลาสมาเพิ่มขึ้น/Metabolic acidosis (เลือดเป็นกรด)
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งแพทย์
  • แจ้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทุกครั้งว่ามีโรคประจำตัวใดบ้าง หรือมีการรับประทานยาชนิดใดอยู่ก่อน
  • กรณีใช้ยาทิโมลอลในรูปแบบยาหยอดตา ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำการใช้ยาในเอกสารกำกับยา เช่น ล้างมือก่อนและหลังใช้ยาทุกครั้ง
  • ตรวจวัดความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ หลังการใช้ยานี้อย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษา
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาทิโมลอลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ทิโมลอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาทิโมลอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาทิโมลอลร่วมกับยา Reserpine อาจทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำ และหัวใจเต้นช้าลง เพื่อป้องกันมิให้เกิดภาวะดังกล่าว ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาทิโมลอลร่วมกับยาลดความดันโลหิตตัวอื่น เช่น Hydralazine, Methyldopa, อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงของการใช้ยาเพิ่มมากขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาทิโมลอลร่วมกับยากลุ่ม NSAIDs อย่าง Ibuprofen, Indomethacin, อาจก่อให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาทิโมลอลอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาทิโมลอล ดังนี้ เช่น

ก. กลุ่มยาเม็ด เก็บที่อุณหภูมิไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส(Celsius)

ข. ยาหยอดตา เก็บที่อุณหภูมิไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส

นอกจากนั้น ควรเก็บยาทิโมลอลในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น และ ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ทิโมลอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาทิโมลอล ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Archimol (อาร์ชิมอล)T P Drug
Azarga (อะซาร์กา)Alcon
Azopt (อะซอพท์)Alcon
Combigan (คอมบิแกน)Allergan
Cosopt (โคซอพท์)MSD
Duotrav BAK-free (ดูโอทราพ บาค-ฟรี)Alcon
Ganfort (แกนฟอร์ท)Allergan
Glauco Oph (กลายูโค ออฟ)Seng Thai
Opsartimol (ออพซาร์ไทมอล)Charoon Bhesaj
Timodrop (ไทโมดร็อพ)Biolab
Timolol Maleate Alcon (ทิโมลอล มาลีทเอท อัลคอน) Alcon
Timo-optal (ทิโม-ออฟตัล)Olan-Kemed
Timosil (ทิโมซิล)Silom Medical
Timoptol (ทิมอพทอล)MSD
Xalacom (ซาลาคอม)Pfizer

อนึ่ง ชื่อการค้าของยานี้ที่จำหน่ายในต่างประเทศ เช่น Timoptic, Istalol

บรรณานุกรม

  1. http://en.wikipedia.org/wiki/Beta_blocker [2016,Aug6]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Timolol [2016,Aug6]
  3. https://www.drugs.com/dosage/timolol-ophthalmic.html [2016,Aug6]
  4. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/165#item-8939 [2016,Aug6]
  5. http://www.mims.com/thailand/drug/info/timolol/?type=brief&mtype=generic [2016,Aug6]