ทิโคลพิดีน (Ticlopidine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

ยาทิโคลพิดีน (Ticlopidine) คือ ยาต้านเกล็ดเลือด(Antiplatelet drug)ด้วยกลไกลดการรวมตัวของเกล็ดเลือดและยับยั้งการสร้างสาร/ปัจจัยธรอมบัส (Thrombus, ลิ่มเลือด) ซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยให้เลือดแข็งตัว ก่อให้เกิดผลทางคลินิกโดยทำให้การไหลเวียนของเลือดเป็นไปได้อย่างสะดวกขึ้น

ยาทิโคลพิดีน: เป็นยาประเภท Adenosine diphosphate receptor inhibitors (กลุ่มยาต้านเกล็ดเลือด) ถูกออกแบบให้เป็นยารับประทาน ตัวยาสามารถดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้มากกว่า 80% ซึ่งเมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือด จะรวมตัวกับพลาสมาโปรตีนถึงประมาณ 98% ตับจะคอยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีของยาทิโคลพิดีนในกระแสเลือดอย่างต่อเนื่อง และร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 12 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำเพื่อกำจัดปริมาณยา 50% ออกจากร่างกายโดยผ่านไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยาทิโคลพิดีนลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยระบุเงื่อนไขของการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่ไม่สามารถใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด Clopidogrel ได้

ด้วยยาทิโคลพิดีนมีข้อควรระวังและข้อห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกง่าย การใช้ยาจึงต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น

ทิโคลพิดีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ทิโคลพิดีน

ยาทิโคลพิดีนมีสรรพคุณรักษาโรค /ข้อบ่งใช้:

  • ป้องกันอาการสมองขาดเลือด (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง อัมพาต อัมพฤกษ์: โรคหลอดเลือดสมอง)
  • รักษาภาวะหัวใจขาดเลือด (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ)
  • รักษาอาการปวดน่องเมื่อเดินมากจากกล้ามเนื้อขาดเลือด

ทิโคลพิดีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาทิโคลพิดีนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการจับตัวของเกล็ดเลือด จึงทำให้เลือดไหลเวียนได้สะดวกขึ้น และเกิดฤทธิ์ของการรักษาตามมา

ทิโคลพิดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาทิโคลพิดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 250 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 250 มิลลิกรัม/แคปซูล

ทิโคลพิดีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาทิโคลพิดีนมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่ (อายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป): รับประทานเริ่มต้นที่ 250 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้งเช้า - เย็น
  • ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี: ยังไม่มีการศึกษาที่แน่ชัดถึงผลของยานี้รวมถึงผลข้างเคียงด้วย ในคนกลุ่มอายุดังกล่าว ดังนั้นการใช้ยานี้ในคนกลุ่มนี้จึงขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

*****หมายเหตุ:

  • สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาทิโคลพิดีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาทิโคลพิดีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาทิโคลพิดีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ทิโคลพิดีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาทิโคลพิดีนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • ท้องเสีย
  • คลื่นไส้
  • อาหารไม่ย่อย
  • เลือดออกง่าย
  • ผื่นคันขึ้นตามผิวหนัง
  • ระดับไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดเพิ่มมากขึ้น
  • ตับอักเสบ และ
  • ดีซ่าน

อนึ่ง: สำหรับผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาดอาจพบอาการมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร-ลำไส้ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง เลือดออกในทางเดินอาหาร), เกิดอาการชัก, ตัวเย็น, เสียการทรงตัว, หอบเหนื่อย/หายใจลำบาก, หากพบอาการดังกล่าว ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้ทิโคลพิดีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ทิโคลพิดีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติเลือดออกง่าย ผู้ที่มีปริมาณเกล็ดเลือดต่ำ
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร ผู้ที่อยู่ในภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะ ผู้ป่วยโรคตับในระยะรุนแรง
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีบาดแผลฉีกขาด ผู้ป่วยที่ไตทำงานผิดปกติตั้งแต่ระดับกลางจนถึงระดับรุนแรง ผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับการผ่าตัดมาใหม่ๆ
  • ระวังการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ การจะใช้ยากับผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
  • ในช่วง 3 เดือนแรกที่มีการใช้ยานี้ควรต้องตรวจสอบความเข้มข้นของเม็ดเลือดทุกๆประมาณ 2 สัปดาห์
  • สำหรับผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดประเภทรอได้ (Elective surgery) ควรหยุดการใช้ยา ทิโคลพิดีนเป็นเวลาประมาณ 10 - 14 วัน ทั้งนี้เพื่อป้องกันภาวะเลือดออกในระหว่างการผ่าตัด
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาทิโคลพิดีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ทิโคลพิดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาทิโคลพิดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาทิโคลพิดีน ร่วมกับ ยา Clopidogrel อาจทำให้ประสิทธิภาพการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวของยา Clopidogrel ด้อยประสิทธิภาพลงไป กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป
  • การใช้ยาทิโคลพิดีน ร่วมกับ ยาแก้ปวด เช่นยา Ibuprofen อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย สัง เกตจากปัสสาวะมีเลือดปน อุจจาระมีสีคล้ำเข้ม มีอาการปวดหัว วิงเวียน และอ่อนเพลีย หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาทิโคลพิดีน ร่วมกับ ยารักษาโรคหืด เช่นยา Theophylline สามารถกระตุ้นให้ร่าง กายผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยาทั้ง 2 ตัวเพิ่มขึ้นเช่น คลื่นไส้-อาเจียน ท้องเสีย ปวดหัว กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ หัวใจเต้นผิดจังหวะ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการดังกล่าวแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาทิโคลพิดีนร่วมกับยา Codeine อาจทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยา Codeine ด้อยลงไป การใช้ยาทั้ง 2 ตัวร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษาทิโคลพิดีนอย่างไร?

สามารถเก็บยาทิโคลพิดีน:

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ทิโคลพิดีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาทิโคลพิดีน มียาชื่อการค้าอื่นๆ และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Aplaket (อะพลาเค็ท)Rottapharm
Cenpidine (เซ็นพิดีน)Central Poly Trading
Ticlid (ทิคลิด)sanofi-aventis
Ticlo (ทิโคล)Greater Pharma
Ticlodin (ทิโคลดิน)T.O. Chemicals
Ticlopine (ทิโคลพีน)Umeda
Tilopin (ไทโลพิน)Unison
Tipidine (ทิพิดีน)Seven Stars

บรรณานุกรม

  1. https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=ticlopidine [2021,July10]
  2. https://www.mims.com/india/drug/info/ticlopidine?type=full&mtype=generic [2021,July10]
  3. https://www.mims.com/singapore/drug/info/apo-ticlopidine?type=full [2021,July10]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Ticlopidine [2021,July10]
  5. https://www.drugs.com/mtm/ticlid.html [2021,July10]