ทินซาพาริน (Tinzaparin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 16 มกราคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- ทินซาพารินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ทินซาพารินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ทินซาพารินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ทินซาพารินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- ทินซาพารินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ทินซาพารินอย่างไร?
- ทินซาพารินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาทินซาพารินอย่างไร?
- ทินซาพารินมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เฮพารินโมเลกุลเล็ก (Low molecular weight heparin)
- ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ (Venous thrombosis)
- สิ่งหลุดอุดหลอดเลือดปอด (Pulmonary embolism)
- สะตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome)
- โรคหลอดเลือด โรคเส้นเลือด (Blood vessel disease)
- โรคเลือด (Blood Diseases)
บทนำ
ยาทินซาพาริน(Tinzaparin หรือ Tinzaparin sodium) เป็นเฮพารินโมเลกุลเล็ก(Low molecular weight heparin) ทางคลินิกใช้บำบัดและป้องกันภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ(Deep vein thrombosis) รักษาภาวะหลอดเลือดอุดตันในปอด/สิ่งหลุดอุดหลอดเลือดปอด(Pulmonary embolism)
รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาทินซาพารินเป็นยาฉีด การฉีดยาทินซาพารินเข้าหลอดเลือดโดยตรงมักจะใช้กับผู้ป่วยที่ต้องทำการฟอกเลือด(การล้างไต)ด้วยเครื่องไตเทียม แต่สำหรับการฉีดเข้าใต้ผิวหนังให้ผู้ป่วยนั้นอาจแบ่งเป็น 2 กรณี เช่น
1. ใช้กับผู้ป่วยก่อนการผ่าตัดเพื่อป้องกันการจับตัวของลิ่มเลือดขณะผ่าตัด
2. บำบัดการอุดตันด้วยลิ่มเลือดของหลอดเลือดดำ
ทั้งนี้ การให้ยาทินซาพารินเข้าใต้ผิวหนัง ร่างกายจะดูดซึมตัวยาได้ 90% โดยประมาณ และหลังได้รับตัวยาทินซาพารินเป็นเวลา 2–3 ชั่วโมง ตัวยาจะเริ่มออกฤทธิ์ ซึ่งร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 90 นาทีเป็นอย่างต่ำเพื่อกำจัดยานี้ทิ้งไปกับปัสสาวะ
ผู้ป่วยบางกลุ่มที่จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงและไม่สามารถใช้ยาทินซาพาริน ได้แก่
- ผู้ที่แพ้ยานี้
- ผู้ที่อยู่ในภาวะเลือดออก เช่น เลือดออกจากแผลในกระเพาะอาหาร
- ผู้ที่มีประวัติใช้ยาประเภทเฮพาริน(Heparin)ชนิดต่างๆ แล้วเกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
- ผู้ที่มีภาวะเยื่อบุหัวใจอักเสบอย่างรุนแรง
ทั้งนี้ การใช้ยาทินซาพารินกับผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว จะทำให้อาการของโรครุนแรงยิ่งขึ้น และตัวยาทินซาพารินจะถูกกำจัดออกจากร่างกายโดยผ่านไปที่ไต ดังนั้นผู้ป่วยโรคไตที่มีค่าครีอะตินีนเคลียรานซ์(Creatinine clearance)น้อยกว่า 30 มิลลิลิตร/นาที ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทินซาพาริน
ผู้ป่วยที่ได้รับการฉีดยาทินซาพารินยังต้องเข้ารับการตรวจร่างกายจากแพทย์ และการตรวจเลือดเพื่อดูปริมาณ เม็ดเลือด เกล็ดเลือด และฮีโมโกลบิน(Hb) ตลอดจนกระทั่งสุ่มตรวจอุจจาระเพื่อตรวจว่ามีเลือดออกจากลำไ/เลือดออกจากทางเดินอาหารปนมาหรือไม่
*กรณีเกิดข้อผิดพลาดที่ทำให้ผู้ป่วยได้รับยาทินซาพารินเกินขนาด จะเกิดภาวะ เลือดออกง่ายตามร่างกาย แพทย์จะช่วยเหลือผู้ป่วยโดยให้ ยาProtamine เพื่อแก้ไขพิษจากทินซาพาริน
ตามกฎหมายของประเทศไทยกำหนดให้ยาทินซาพารินเป็นยาอันตรายและต้องใช้ภายใต้คำสั่งของแพทย์แต่ผู้เดียว ซึ่งเราจะพบเห็นการใช้ยานี้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น และหากต้องการข้อมูลการใช้ยาทินซาพารินเพิ่มเติม สามารถสอบถามรายละเอียดได้จากแพทย์หรือจากเภสัชกรที่ประจำในสถานพยาบาลที่ตนเองเข้ารับการตรวจรักษาได้
ทินซาพารินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาทินซาพารินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้ป้องกันการจับตัวของลิ่มเลือดขณะที่ผู้ป่วยทำการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม(การล้างไต)
- บำบัดและป้องกันภาวะหลอดเลือดอุดตันจากลิ่มเลือด
ทินซาพารินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาทินซาพารินคือ ตัวยาจะเข้ารวมตัวกับสารโปรตีนในร่างกายที่มีชื่อว่า Antithrombin III เกิดเป็นสารประกอบเชิงซ้อนที่มีความสามารถยับยั้งการทำงานของปัจจัยการแข็งตัวของเลือดที่เรียกว่า Factor Xa (แฟคเตอร์สิบเอ) และยาทินซาพารินยังช่วยป้องกันมิให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของ Fibrinogen ไปเป็น Fibrin ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นใยตาข่ายที่ช่วยทำให้การรวมตัวของเกล็ดเลือดมีความแข็งแรง จากกลไกนี้เองจึงทำให้เกิดฤทธิ์ต้านการเกิดลิ่มเลือดได้ตามสรรพคุณ
ทินซาพารินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาทินซาพารินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาฉีดที่ประกอบด้วย Anti-factor Xa ของ Tinzaparin ขนาด 10,000 และ 20,000 ยูนิตสากล/มิลลิลิตร
ทินซาพารินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาทินซาพาริน มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
ก. ป้องกันการจับตัวของเกล็ดเลือดขณะฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม:
- ผู้ใหญ่: กรณีฟอกเลือดไม่นานเกิน 4 ชั่วโมง ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 2,000–2,500 ยูนิตสากลครั้งเดียว, กรณีฟอกเลือดนานเกิน 4 ชั่วโมง ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 2,500 ยูนิตสากล จากนั้นให้หยดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 750 ยูนิตสากล/ชั่วโมง
ข. ป้องกันการอุดตันของหลอดเลือดขณะทำการผ่าตัด:
- ผู้ใหญ่: สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกง่ายในระดับปานกลางๆลงมา ให้ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังขนาด 3,500 ยูนิตสากล ก่อนเข้ารับการผ่าตัด 2 ชั่วโมง หลังการผ่าตัดเสร็จสิ้น ผู้ป่วยยังต้องได้รับยา 3,500 ยูนิตสากล วันละ1ครั้ง ตามคำสั่งของแพทย์, กรณีผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงต่อภาวะเลือดออกง่าย ให้ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังขนาด 50 ยูนิตสากล/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ก่อนเข้ารับการผ่าตัด 2 ชั่วโมง หลังการผ่าตัดเสร็จสิ้นผู้ป่วยยังต้องได้รับยาขนาด 75 ยูนิตสากล/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละครั้งตามคำสั่งของแพทย์
ค.บำบัดอาการหลอดเลือดดำอุดตันจากลิ่มเลือด:
- ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังขนาด 175 ยูนิตสากล/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ1ครั้ง เป็นเวลาอย่างน้อย 6 วันติดต่อกัน จากนั้นแพทย์จะพิจารณาให้ยาต้านการจับตัวของก้อนลิ่มเลือด/ยาต้านเกล็ดเลือดชนิดรับประทานตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละรายบุคคล
อนึ่ง:
- มีรายงานทางคลินิก ให้ระวังการใช้ยานี้กับผู้ชราที่มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป ด้วยมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง ทั้งนี้เป็นเพราะไตของผู้สูงอายุมีความสามารถกำจัดยาทินซาพารินได้น้อยลง ทำให้แพทย์ต้องปรับเปลี่ยนใช้ยาชนิดอื่นทดแทนการใช้ยาทินซาพาริน
- เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาทินซาพาริน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ โดยเฉพาะยา แอสไพริน(Aspirin) หรือยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด/ยาต้านเกล็ดเลือด เพราะยาทินซาพารินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
ทินซาพารินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาทินซาพารินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น มีโปแตสเซียมในเลือดสูง
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีผื่นคัน ปวดหรือมีก้อนเลือดบริเวณผิวหนังตรงที่ฉีดยา ผิวหนังมีอาการบวม มีภาวะ Stevens-Johnson syndrome
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น มีเลือดปนมากับปัสสาวะ/ปัสสาวะเป็นเลือด
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น เจ็บหน้าอก ความดันโลหิตต่ำหรือไม่ก็สูง หัวใจเต้นเร็ว กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น ตับอักเสบ
- ผลต่อระบบโลหิตวิทยา: เช่น มีภาวะเลือดออกตามเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกาย เกล็ดเลือดต่ำ มีภาวะโลหิตจาง
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจลำบาก
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ ท้องผูกหรือท้องเสีย ท้องอืด เบื่ออาหาร ปวดท้อง
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดหลัง
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน
- ผลต่อสภาพจิตใจ :เช่น รู้สึกสับสน
มีข้อควรระวังการใช้ทินซาพารินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาทินซาพาริน เช่น
1. ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาทินซาพาริน
2. ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยา/แพ้สารประกอบเบนซิลแอลกอฮอล์(Benzyl alcohol) ด้วยในสูตรตำรับของยาทินซาพารินจะมีองค์ประกอบของสารดังกล่าวอยู่ด้วย
3. ห้ามใช้กับผู้ที่มีภาวะเลือดออกง่าย หรือผู้ที่มีประวัติหลังการใช้ยาประเภท เฮพารินชนิดต่างๆแล้วเกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำตามมา
4. ห้ามใช้ขณะที่ผู้ป่วยมีภาวะเลือดออกอยู่แล้ว เช่น เลือดออกในกระเพาะอาหารหรือในลำไส้(เลือดออกในทางเดินอาหาร)
5. หลีกเลี่ยงการใช้กับผู้ป่วยโรคไต ด้วยยาทินซาพารินจะถูกกำจัดออกจากร่างกายโดยผ่านทิ้งไปทางไต ผู้ป่วยโรคไตจึงกำจัดยาทินซาพารินออกจากร่างกายได้น้อยกว่าปกติ
6. ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
7. ห้ามใช้ยาหมดอายุ
8. ห้ามเก็บยาหมดอายุ
9. ระวังการใช้ยาทินซาพารินกับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีในภาวะให้นมบุตร
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาทินซาพารินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ทินซาพารินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาทินซาพารินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาทินซาพารินร่วมกับยา Aspirin, Ibuprofen เพราะจะเพิ่มความเสี่ยง ต่ออาการเลือดออกง่ายตามมา
- การใช้ยาทินซาพารินร่วมกับ ยาQuinapril อาจเพิ่มระดับโปแตสเซียมในเลือด และส่งผลต่อการทำงานของไต หัวใจเต้นผิดจังหวะ มีอาการคล้ายกล้ามเนื้อเป็นอัมพาต/กล้ามเนื้ออ่อนแรง หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยาทินซาพารินร่วมกับ ยาCelecoxib อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกใน กระเพาะอาหาร/เลือดออกในทางเดินอาหาร เมื่อจะใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป
ควรเก็บรักษาทินซาพารินอย่างไร?
ควรเก็บยาทินซาพารินภายใต้อุณหภูมิ 15-25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
ทินซาพารินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาทินซาพาริน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Innohep (อินโนเฮพ) | LEO Pharmaceutical Products |
บรรณานุกรม
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/innohep/?type=brief [2017,Dec30]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/tinzaparin%20sodium/?type=brief&mtype=generic [2017,Dec30]
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2008/020484s011lbl.pdf [2017,Dec30]
- https://www.drugs.com/sfx/tinzaparin-side-effects.html [2017,Dec30]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/tinzaparin-index.html?filter=3&generic_only=#I [2017,Dec30]