ทำไมเราจึงหาว?

มนุษย์ทุกคนหาว เช่นเดียวกับสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังเกือบทุกชนิด แม้จะทำหน้าที่ที่เป็นประโยชน์บางอย่าง แต่การหาวได้เป็นปริศนาให้บรรดานักวิทยาศาสตร์ขบคิดกันมาช้านานแล้ว

จากการเปิดเผยของ Dr. Andrew C. Gallup นักวิจัย ณ มหาวิทยาลัย Princeton ผู้รวบรวมข้อมูลการทดลองกับ หนู นกแก้ว และคน ต่อเนื่องกันหลายครั้ง ปรากฏผลลัพธ์สนับสนุนข้อสมมุติฐานที่ว่า การหาวช่วยให้สมองเย็นลง โดยเขาอธิบายว่าเมื่อคนเราเริ่มหาว ขากรรไกรจะยืดออก ช่วยเพิ่มการหมุนเวียนของเลือดในบริเวณลำคอ ใบหน้า และศีรษะ การหายใจเข้าที่ลึกระหว่างการหาว บังคับการไหลลงของน้ำหล่อเลี้ยงสมอง (น้ำไขสันหลัง) และเลือดจากสมอง สู่กระดูกสันหลัง และลมเย็นที่หายใจเข้าไปในปาก ก็ยังช่วยทำให้น้ำไขสันหลังและเลือดเย็นลง

กระบวนการเหล่านี้ทำหน้าที่คล้ายเครื่องแผ่รังสี โดยขจัดเลือดที่อุ่นเกินไปจากสมอง แล้วนำเลือดที่เย็นกว่าจากปอดและแขนขามาช่วยลดความอุ่น ณ พื้นผิวสมอง ในขณะเดียวกัน ลมเย็นจากภายนอก จะทำให้สมองเย็นลงได้ดีกว่าลมอุ่น ดังนั้นคนเราจึงหาวถี่ขึ้นเมื่ออากาศเย็น แต่หาวน้อยลงเมื่ออากาศอุ่น เขาได้ทดสอบทฤษฎีนี้ที่เมือง Tucson รัฐอาริโซนา 2 ครั้ง ครั้งแรกในฤดูหนาวเมื่อมีอุณหภูมิ 22 องศาเซลเซียส และครั้งหลังในฤดูร้อนเมื่อมีอุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส

ทีมงานวิจัยของเขาสอบถามผู้คนที่เดินผ่านไปมาจำนวน 80 คน โดยให้ดูภาพของผู้คนที่กำลังหาว ผลปรากฏว่า ในสภาพอากาศเย็น 45% ของผู้ถูกสอบถาม จะหาวตามภาพที่เห็น แต่ในสภาพอากาศอุ่น มีเพียง 24% ของผู้ถูกสอบถามเท่านั้น ที่หาวตามภาพที่เห็น นอกจากนี้ ผู้คนจะหาวถี่ขึ้นกว่า เมื่อเขาอยู่นอกบ้านยาวนานพอในสภาพอากาศเย็น และหาวน้อยลง เมื่อเขาอยู่นอกบ้านที่ยาวนานพอในสภาพอากาศอุ่น

อย่างไรก็ตาม แม้นายแพทย์ Adrian G. Guggisberg แห่งมหาวิทยาลัย Geneva จะเห็นด้วยกับทฤษฎีที่ว่า การเปลี่ยน แปลงอุณหภูมิห้อง มีผลกระทบต่อการหาว แต่เขาไม่เห็นด้วยกับคำอธิบายที่ว่า การหาวทำให้สมองเย็นลง เพราะเขาเชื่อว่า การหาวที่ลดจำนวนครั้งลงในสภาพอากาศที่อุ่นขึ้นนั้น เป็นเรื่องของการสื่อสารทางสังคมมากกว่าทางสรีระ

นายแพทย์ผู้นี้เห็นว่า ผลกระทบทางสรีระของการหาวนั้น เล็กน้อยเกินกว่าที่จะเป็นวิวัฒนาการทางประสาทวิทยาศาสตร์ เขาเชื่อว่า คนเราหาวตามคนอื่นนั้นมีนัยทางสังคมมากกว่า กล่าวคือเป็นพฤติกรรมที่ปราศจากจิตสำนึก แต่ก่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายอารมณ์ และส่งผ่านข้อมูลที่มีผลกระทบบางอย่างต่อเครือข่ายสมองหรือพฤติกรรม และในทางวัฒนธรรมแล้ว การหาวเป็นสัญญาณของการง่วงนอน และเบื่อหน่าย ซึ่งเป็นการสื่อสารให้ผู้อื่นรับรู้ว่า ผู้หาวกำลังประสบความรู้สึกที่ไม่พึงประสงค์ แต่ไม่ถึงกับเป็นภัยคุกคามต่อใครๆ

คุณผู้อ่านคงต้องใช้วิจารณญาณในการเลือกเชื่อทฤษฎีใด หรือไม่เชื่อทั้ง 2 ทฤษฎีเลย เพราะคำกล่าวที่ว่า “Yawning is catching.” นั้นละเอียดอ่อนเกินกว่าที่จะพิสูจน์ได้ว่า เป็นวิวัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ ในขณะที่การเป็นนัยทางสังคมศาสตร์ของการสื่อสาร ก็ยังไม่ชัดเจนพอที่จะเป็นการแสดงออกของความไม่สุภาพ เพราะเป็นพฤติกรรมที่ควบคุมไม่ได้จริงๆ แล้วคุณล่ะ คิดเห็นอย่างไร?

แหล่งข้อมูล: Daniel J. DeNoonและ Laura J. Martin, MD ใน http://www.webmd.com/brain/news/20110923/why-we-yawn?page=2.