ทารกท่าหน้า (Face presentation)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

ทารกท่าหน้าหมายถึงอะไร?

ทารกในครรภ์ส่วนใหญ่เมื่อครบกำหนดคลอดจะอยู่ในท่าศีรษะ/ท่าหัว คือมีศีรษะเป็นส่วนนำการคลอด/ศีรษะทารกจะเป็นส่วนอยู่ต่ำที่สุดที่จะคลอดออกมาก่อน ร่วมกับทารกจะก้มหน้ามากที่สุดเพื่อปรับให้เส้นผ่าศูนย์กลางศีรษะเล็กที่สุดเพื่อผ่านช่องทางคลอดได้ง่ายที่สุด, แต่สำหรับ”ทารกท่าหน้า(Face presentation)”นั้น คอทารกจะเงยไปด้านหลัง (Hyperextension)ทำให้ทารกแหงนหน้าขึ้น ใบหน้าทารกจึงเป็นส่วนที่อยู่ต่ำที่สุด ดังนั้นเมื่อคลอดทางช่องคลอด ส่วนใบหน้าฯจะโผล่พ้นช่องคลอดออกมาก่อน   

ทารกท่าหน้า จัดเป็น 'ท่าที่ผิดปกติ' ของการคลอด อุบัติการณ์การเกิดทารกท่าหน้าพบได้น้อย ประมาณ 0.2% ของการคลอดทั้งหมด

ใครมีปัจจัยเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ทารกท่าหน้า?

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ทารกท่าหน้า เช่น

  • สตรีตั้งครรภ์ที่มีบุตรหลายคน: จึงส่งผลให้มดลูกขยายตัวมาก ทารกในครรภ์จึงมีโอกาสเป็นท่าหน้าได้จากทารกฯสามารถหมุนเปลี่ยนท่าได้ง่าย
  • สตรีตั้งครรภ์แฝด: เพราะทารกในครรภ์จะมีขนาดเล็ก แต่มดลูกมีการขยายตัวมาก, และ/หรือทารกฯมีโอกาสเบียดกันไปมา จึงทำให้ทารกฯอยู่ในท่าที่ผิดปกติได้ เช่น ท่าหน้า
  • ทารกคลอดก่อนกำหนด: เพราะทารกในครรภ์จะตัวเล็ก จึงมีโอกาสหมุนตัวเกิด ท่าผิดปกติได้ง่าย
  • ทารกในครรภ์ตัวโตมาก หรือมารดามีช่องเชิงกรานแคบ: ทารกฯจึงหมุนตัวไม่ได้ตามปกติ จึงทำให้เกิดปัญหาทารกท่าหน้าได้เช่นกัน
  • ทารกในครรภ์ที่มีความวิกลรูป (มีความพิการแต่กำเนิด): เช่น ทารกไม่มีศีรษะ (Anencephaly) , ทารกหัวบาตร/หัวโตจากมีสารน้ำที่เรียกว่า 'ซีเอสเอฟ (CSF)' คั่งในโพรงสมอง(Hydrocephaly) ทำให้ทารกฯมีโอกาสอยู่ผิดท่าได้มากขึ้น, หรือทารกฯที่มีก้อน-ก้อนเนื้อผิดปกติที่คอ ทำให้ก้มศีรษะไม่ได้
  • สตรีตั้งครรภ์ที่มีเนื้องอกมดลูกซึ่งไปขัดขวางการหมุนเปลี่ยนท่าของทารกในครรภ์

สังเกตได้อย่างไรว่าตั้งครรภ์ทารกท่าหน้า?

เป็นการยากที่สตรีตั้งครรภ์จะรู้ว่าตนเองตั้งครรภ์ทารกท่าหน้า  เนื่องจากรูปร่างหน้าท้องภายนอกดูเหมือนการตั้งครรภ์ปกติทั่วไป เพราะศีรษะทารกในครรภ์จะอยู่ด้านล่างเหมือนการตั้งครรภ์ส่วนใหญ่/ทารกท่าหัว/ท่าศีรษะ,  การตรวจครรภ์ทางหน้าท้อง มักตรวจได้ว่าทารกฯอยู่ในท่าศีรษะเหมือนปกติทั่วไป,  การที่จะวินิจฉัยได้ว่า ทารกฯเป็นท่าหน้า ทำได้ค่อนข้างช้า แพทย์จึงมักจะตรวจพบตอนก่อนคลอดเมื่อปากมดลูกมารดาเปิดมากแล้ว

การตั้งครรภ์ทารกท่าหน้าอันตรายอย่างไร?

ทารกท่าหน้า ไม่สามารถคลอดทางช่องคลอดได้ทุกราย ในรายที่สามารถคลอดทางช่องคลอดได้ มักเป็นกรณีที่ทารกฯตัวเล็กมากและคางของทารกฯต้องอยู่ด้านหน้ามารดา,   หากคางทารกฯอยู่ด้านหลังมารดา มักไม่สามารถคลอดทางช่องคลอดได้ เพราะเส้นผ่าศูนย์กลางศีรษะทารกฯจะยาว จึงต้องมีการผ่าท้องคลอดบุตร  

 นอกจากนี้ ทารกท่าหน้า อาจได้รับอันตรายจากการตรวจภายในระหว่างรอคลอด  เช่น นิ้วแพทย์ไปตรวจถูก บริเวณตา  บริเวณปาก เป็นต้น,  และใบหน้าของทารกฯจะถูกกดอยู่ในช่องทางคลอดนาน, หรือ กดกับปากมดลูกของมารดาในการดันให้ปากมดลูกขยายตัว, จึงทำให้บริเวณใบหน้าทารกฯบวมมากเมื่อคลอดทางช่องคลอด   แต่อาการบวมเหล่านี้ จะสามารถค่อยๆยุบลงได้เองในเวลาไม่นาน ประมาณ 2-3 วันหลังคลอด

แพทย์วินิจฉัยการตั้งครรภ์ท่าหน้าอย่างไร?

การวินิจฉัยทารกท่าหน้าทำได้ค่อนข้างช้า  แพทย์มักวินิจฉัยได้ตอนใกล้คลอดขณะที่ปากมดลูกมารดาเปิดมากแล้ว  หรือเมื่อมีถุงน้ำคร่ำแตกแล้ว  อย่างไรก็ตามแนวทางวินิจฉัยท่ารกท่าหน้า   เช่น

ก. ประวัติทางการแพทย์ของมารดา: หากมารดามีปัจจัยเสี่ยงต่างๆตามที่กล่าวในหัวข้อ “ปัจจัยเสี่ยงฯ” จะทำให้แพทย์คิดถึงภาวะทารกท่าหน้านี้มากขึ้น

ข. การตรวจทางหน้าท้องมารดาพบว่า ทารกอยู่ในท่าศีรษะ คือ มีศีรษะเป็นส่วนนำที่อยู่ต่ำที่สุดในช่องทางคลอด แต่เมื่อตรวจภายใน หากปากมดลูกมารดาเปิดกว้าง  แพทย์จะคลำทารกฯได้เป็นส่วนนุ่มๆ  ไม่เรียบ  ไม่แข็งเป็นก้อนกลมที่เป็นศีรษะตามที่ตรวจได้ทางหน้าท้อง และคลำพบปากของทารกฯ, ซึ่งเมื่อคลำได้ส่วนนิ่มๆ ที่ไม่ใช่ศีรษะ แพทย์ต้องแยกว่า เป็นทารกท่าหน้า หรือเป็นทารกท่าก้น, ซึ่งในทารกท่าก้นจะคลำได้กระดูกก้น/Ischial tuberosity  อยู่ในระดับแนวเดียวกับรูก้นทารก  และอาจตรวจพบขี้เทา(Meconium) ติดนิ้วผู้ตรวจออกมา, ส่วนในทารกท่าหน้า  แพทย์จะคลำได้กระดูกขากรรไกรบน(Malar bone) 2 ข้างที่จะอยู่คนละระดับกับปากของทารกและจะเรียงตัวกันเป็นรูปสามเหลี่ยม

ค. การตรวจครรภ์ด้วยอัลตราซาวด์: จะช่วยบอกท่าทารกในครรภ์ได้แม่นยำขึ้น  โดยจะตรวจพบทารกฯอยู่ในท่าเงยคอ

ดูแลตนเองขณะตั้งครรภ์ทารกท่าหน้าอย่างไร?

การดูแลตนเองขณะตั้งครรภ์ท่ารกท่าหน้า  จะดูแลเหมือนกับการตั้งครรภ์ปกติทั่วไป   หากแพทย์ตรวจไม่พบความผิดปกติของทารกฯ หรือความผิดปกติอื่นๆของมารดา  ให้มารดาไปฝากครรภ์ตามแพทย์นัด,  รับประทานยาบำรุงครรภ์ตามคำแนะนำของแพทย์,  และในช่วงใกล้คลอด ควรต้องเตรียมพร้อมที่อาจคลอดทางช่องคลอด หรือ อาจต้องผ่าตัดคลอด

อาการอะไรที่ต้องรีบพบแพทย์ก่อนนัด?

อาการที่มารดาตั้งครรภ์ทารกท่าหน้า ต้องรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด คือ มีอาการเจ็บครรภ์ถี่ขึ้น, มีเลือดออกทางช่องคลอด, มีน้ำเดิน(ถุงน้ำคร่ำแตก), และ/หรือการดิ้นของทารกในครรภ์ลดลง

รักษาทารกท่าหน้าอย่างไร?

ทารกท่าหน้าไม่สามารถคลอดทางช่องคลอดได้ทุกราย ทารกฯที่อายุครรภ์ครบกำหนดและหันคางไปทางด้านหน้าของมารดา (Mento-anterior) สามารถคลอดทางช่องคลอดได้หากทารกตัวไม่โตเกินไป

แต่หากทารกฯหันคางไปทางด้านหลังของมารดา(Mento-posterior) จะไม่สามารถคลอดทางช่องคลอดได้   (ยกเว้นทารกมีขนาดตัวเล็กมากๆ  หรือทารกฯสามารถหมุนเป็นท่า Mento-anterior ได้) เพราะท่านี้จะทำให้เส้นผ่าศูนย์กลางของศีรษะทารกฯกว้างกว่าช่องทางคลอด จึงต้องทำการผ่าตัดคลอด

การตั้งครรภ์ครั้งต่อไปจะเกิดเป็นทารกท่าหน้าอีกหรือไม่?

หากยังมีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวใน’หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ’ มารดาอาจเกิดการตั้งครรภ์ทารกท่าหน้าได้อีกในครรภ์ต่อไป

ป้องกันการตั้งครรภ์ทารกท่าหน้าได้หรือไม่?

โดยทั่วไป ไม่สามารถป้องกันการเกิดทารกท่าหน้าได้  แต่ในรายที่มีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวใน 'หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ' หรือเคยตั้งครรภ์ทารกท่าหน้ามาก่อน, ควรมีการตรวจครรภ์ด้วยอัลตราซาวด์เมื่ออายุครรภ์ใกล้กำหนดคลอด  เพื่อดูว่าทารกในครรภ์อยู่ในท่าที่ผิดปกติหรือไม่

ทารกท่าหน้าที่คลอดออกมาจะมีปัญหาหรือไม่?

การดำเนินการคลอดในทารกท่าหน้าจะช้ากว่าทารกที่ก้มศีรษะหรือทารกท่าปกติ เพราะเส้นผ่าศูนย์กลางศีรษะทารกที่จะคลอดออกมา กว้างกว่าช่องทางคลอด, ใบหน้าทารกฯจะบวมช้ำอยู่ประมาณ 2-3 วัน  เนื่องจากใบหน้าถูกกดทับนานในช่องทางการคลอด, และอาจเกิดอันตรายที่อาจพบได้ระหว่างคลอด เช่น จากการตรวจภายในจากใช้นิ้วไปตรวจถูกตาเด็ก

หลังคลอดควรดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองของมารดาหลังคลอดทารกท่าหน้า จะเหมือนการดูแลตนเองในกรณีหลังคลอดทารกปกติทั่วไป,  โดยขึ้นกับว่าเป็นการคลอดทางช่องคลอด  หรือเป็นการผ่าท้องคลอดบุตร, ทั้งนี้แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com 3 เรื่อง คือ เรื่อง การคลอด, เรื่องระยะหลังคลอด, และเรื่องการผ่าท้องคลอดบุตร

หลังคลอดเมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?

หลังคลอด มารดาทารกท่าหน้าควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด หากมีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้สูง, หนาวสั่น, น้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็น, ปวดแผลที่ฝีเย็บ หรือที่แผลผ่าตัดคลอด มากผิดปกติ

ควรตั้งครรภ์ครั้งต่อไปเมื่อไหร่?

การตั้งครรภ์ครั้งต่อไปของมารดาคลอดทารกท่าหน้าขึ้นอยู่กับว่าเป็นการคลอดทางช่องคลอด  หรือเป็นการผ่าท้องคลอดบุตร   อย่างไรก็ตาม ควรเว้นระยะการตั้งครรภ์ไปประมาณ 2 ปี  เพื่อให้สามารถเลี้ยงดูบุตรที่เพิ่งคลอดได้อย่างเต็มที่ และเพื่อสุขภาพที่สมบูรณ์ของมารดา 

ทั้งนี้แนะนำอ่านเพิ่มเติมใน เว็บ haamor.com 3 เรื่อง คือ เรื่อง การคลอด  , เรื่อง ระยะหลังคลอด, และเรื่อง การผ่าท้องคลอดบุตร

บรรณานุกรม

  1. https://emedicine.medscape.com/article/262341-overview#showall [2022,Dec31]
  2. https://www.uptodate.com/contents/face-and-brow-presentations-in-labor [2022,Dec31]