ทาพาโซล (Tapazole) หรือ เมไทมาโซล (Methimazole)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 13 ธันวาคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- ยาทาพาโซลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาทาพาโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาทาพาโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาทาพาโซลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาทาพาโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาทาพาโซลอย่างไร?
- ยาทาพาโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาทาพาโซลอย่างไร?
- ยาทาพาโซลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ (Thyrotoxicosis)
- ไทรอยด์: โรคของต่อมไทรอยด์ (Thyroid: thyroid diseases)
- ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน (Hypothyroidism)
- ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism)
- ยาโรคไทรอยด์ (Thyroid medication)
บทนำ
ยาทาพาโซล (Tapazole) หรืออีกชื่อหนึ่งคือ เมไทมาโซล (Methimazole) หรือ ไทอะมาโซล (Thiamazole) หรือเรียกย่อว่า เอมเอมไอ (MMI) ทางการแพทย์นำมาใช้รักษาโรคไทรอยด์ เป็นพิษ /ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน(Hyperthyroidism) ถือเป็นทางเลือกแรกๆก่อนที่คนไข้จะต้องผ่าตัดต่อมไทรอยด์ ลักษณะของยาจะเป็นประเภทรับประทาน และยังไม่มีรูปแบบของยาฉีด
หลังรับประทานยาทาพาโซล/ เมไทมาโซล ภายในเวลา 12 - 18 ชั่วโมง ยาจะเริ่มออกฤทธิ์และคงฤทธิ์ในการรักษา ได้นาน 36 - 72 ชั่วโมง เมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือดจะไม่มีการจับตัวกับโปรตีนในกระแสเลือด แต่จะถูกส่งไปเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีที่ตับเลย ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 5 - 13 ชั่วโมงในการกำ จัดยาออกจากกระแสเลือด 50% โดยผ่านออกมากับปัสสาวะ
กระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยบรรจุยาทาพาโซล/เมไทมาโซล ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ยาทาพาโซล/ จัเมไทมาโซล ดอยู่ในหมวดยาอันตราย มีข้อห้ามใช้ ข้อควรระวังที่จำเพาะเจาะจงเป็นราย บุคคลไป อีกทั้งสามารถซึมผ่านรกและน้ำนมมารดา การใช้ยาจึงต้องอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์เท่า นั้น
ยาทาพาโซลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาทาพาโซล/เมไทมาโซล มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้บำบัดรักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษ /ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน(Hyperthyroidism)
ยาทาพาโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ทาพาโซล/ เมไทมาโซล มีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะยับยั้งการสังเคราะห์ไทรอยด์ฮอร์โมนโดยไปรบกวนกระบวนการทางเคมี ไม่ให้ธาตุไอโอดีนไปรวมตัวกับสารไทโรซีน (Tyrosine: กรดอะมิโน/ Amino acid ชนิดหนึ่ง) ด้วยกลไกดังกล่าว ทำให้ชะลอการสังเคราะห์ไทรอยด์ฮอร์โมนลง จึงช่วยบำบัดโรคไทรอยด์เป็นพิษตามสรรพคุณ
ยาทาพาโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาทาพาโซล/ เมไทมาโซล มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ด ขนาด 5 มิลลิกรัม/เม็ด
ยาทาพาโซลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาทาพาโซล/เมไทมาโซล มีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่: ขนาดเริ่มต้นของการรับประทาน 15 - 60 มิลลิกรัม/วัน จากนั้นแพทย์อาจปรับขนาดการรับประทานเป็น 5 - 15 มิลลิกรัม/วัน
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ขนาดเริ่มต้นของการรับประทาน 0.4 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน จากนั้นแพทย์อาจปรับขนาดการรับประทานเป็น 0.2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
อนึ่ง:
- ควรรับประทานยาทาพาโซล พร้อมกับอาหาร
- ขนาดการรับประทาน และระยะเวลาในการใช้ยา ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาทาพาโซล/เมไทมาโซล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริม อะไรอยู่ เพราะยาทาพาโซลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรือกับอาหารเสริม ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาทาพาโซล/เมไทมาโซล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาทาพาโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาทาพาโซล/เมไทมาโซล มีผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- ยับยั้งการสร้างเซลล์เม็ดเลือดจากไขกระดูก จนอาจเป็นต้นเหตุของโรค/ภาวะโลหิตจาง
- อาจก่อให้เกิดอาการ เช่น
- ไข้
- ภาวะตับอักเสบ
- การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ
- มีอาการของหลอดเลือดแดงอักเสบ (โรคหลอดเลือดอักเสบ)
มีข้อควรระวังการใช้ยาทาพาโซลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาทาพาโซล/เมไทมาโซล เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ระวังการใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์
- ระหว่างการใช้ยานี้ต้องคอยตรวจสอบผลเลือด(CBC)ว่า มีลักษณะโลหิตจาง หรือมีความผิดปกติในระบบเลือด/ระบบโลหิตวิทยาหรือไม่
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วย โรคตับ โรคที่มีความผิดปกติในระบบเลือด เช่น โลหิตจาง เกล็ดเลือดทำงานผิดปกติ เป็นต้น
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาทาพาโซล/เมไทมาโซล ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาทาพาโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาทาพาโซล/เมไทมาโซล มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาทาพาโซล ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่นยา Warfarin สามารถทำให้เกิดภาวะตกเลือดหรือเลือดออกง่าย โดยสังเกตจากมีเลือดออกปนมากับปัสสาวะหรืออุจจาระ มีอาการอาเจียน ปวดศีรษะ วิงเวียน อ่อนแรง ก่อนการใช้ยาทาพาโซลจึงควรต้องแจ้งแพทย์ว่า ผู้ป่วยมีการใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดหรือไม่ เพื่อแพทย์จะได้ปรับแนวทางการให้ยาได้ถูกต้องและปลอดภัย
- การใช้ยาทาพาโซล ร่วมกับยารักษาโรคความดันโลหิตสูง เช่นยา Propranolol สามารถนำมาซึ่งอาการชีพจรเต้นผิดจังหวะ หายใจลำบาก วิงเวียน อ่อนแรง และเป็นลม หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยาทาพาโซล ร่วมกับยาขยายหลอดลม เช่นยา Theophylline อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลกระทบจากยาทาพาโซลเพิ่มมากขึ้น เช่น มีอาการ คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ ชัก และชีพจรเต้นผิดปกติ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาทั้งคู่ในการบำบัดโรคของผู้ป่วย แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดการรับประทานของยาทั้ง 2 ตัวให้เหมาะ สมกับร่างกายผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
ควรเก็บรักษายาทาพาโซลอย่างไร?
สามารถเก็บยาทาพาโซล/เมไทมาโซล เช่น
- เก็บยาที่อุณหภูมิห้อง
- เก็บยาให้พ้นแสง/ แสงแดด และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำ
ยาทาพาโซลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาทาพาโซล/ เมไทมาโซล มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Methimazole Yung Shin (เมไทมาโซล ยุง ชิน) | Yung Shin |
Tapazole (ทาพาโซล) | DKSH |
Timazol (ไทมาซอล) | Sriprasit Pharma |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Thiamazole [2020,Dec12]
- http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fTapazole%2f%3ftype%3dbrief [2020,Dec12]
- http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fthailand%2fdrug%2finfo%2fthiamazole%3fmtype%3dgeneric [2020,Dec12]
- http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fTapazole%2f%3ftype%3dbrief%26q%3dtapazole#Interactions [2020,Dec12]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/methimazole-index.html?filter=2#W [2020,Dec12]
- https://www.medicinenet.com/methimazole-oral/article.htm [2020,Dec12]