ทาซาโรทีน (Tazarotene)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 23 มีนาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- ทาซาโรทีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ทาซาโรทีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ทาซาโรทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ทาซาโรทีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- ทาซาโรทีนมีขนาดการบริหารยาชนิดทาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
- ทาซาโรทีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ทาซาโรทีนอย่างไร?
- ทาซาโรทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาทาซาโรทีนอย่างไร?
- ทาซาโรทีนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เรตินอยด์ (Retinoid)
- โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)
- สิว (Acne)
- กรดซาลิไซลิก (Salicylic acid)
- ยาทาเฉพาะที่กลุ่มกำมะถัน (Sulfur topical)
บทนำ
ยาทาซาโรทีน(Tazarotene) เป็นยาประเภทเรตินอยด์(Retinoid) ทางคลินิกนำมาใช้รักษา สิว โรคสะเก็ดเงิน แต่ห้ามใช้บำบัดผิวที่เป็นรอยย่น หรือผิวที่โดนแสงแดดทำลาย รูปแบบเภสัชภัณฑ์ยานี้จะเป็น ยาทาประเภท เจล ครีม และโฟม โดยทั่วไป จะมีวางจำหน่ายในขนาดความเข้มข้น 0.05 และ 0.1% แพทย์จะเป็นผู้กำหนดขนาดความเข้มข้นที่เหมาะสมต่ออาการโรคของผู้ป่วยแต่ละราย
ยาทาซาโรทีนเป็นยาที่ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ ด้วยยากลุ่มเรตินอยด์ที่รวมถึงยาทาซาโรทีนสามารถก่อให้เกิดอันตรายกับทารกในครรภ์ได้
นอกจากนี้ ข้อควรระวังในการใช้ยาทาซาโรทีนสำหรับทาผิวภายนอกมีอยู่หลายประการที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วย ต้องทำความเข้าใจและปฏิบัติตามขั้นตอนการใช้ยาอย่างถูกต้อง เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามนำยาทาซาโรทีนชนิดทาผิวภายนอกมาป้ายตา กรณีที่ยาสัมผัสกับตา ให้รีบล้างออกด้วยน้ำสะอาดทันที
- ห้ามใช้ยานี้ทาบริเวณผิวที่มีผื่นผิวหนังหนังอักเสบ รวมถึงผิวที่มีลักษณะเป็นแผล ด้วยจะก่อให้เกิดการระคายเคืองผิวหนังที่สัมผัสยานี้อย่างรุนแรง
- ระหว่างใช้ยานี้จะทำให้ผิวหนังมีความไวต่อแสงแดดได้มากขึ้น แพทย์จึง แนะนำให้หลีกเลี่ยงการออกแดดระหว่างใช้ยานี้
- กรณีใช้ยนี้แล้วกลับพบว่า มีอาการผิวหนังออกผื่นคัน แสบผิวหนังมาก ให้หยุด การใช้ยานี้ทันที แล้วรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
- ทายานี้ตามคำสั่งแพทย์ ไม่ใช้ยามากจนเกินขอบเขตผิวหนังที่มีอาการโรค ผู้ที่ทายานี้จนเกินขนาด จะพบอาการเป็นผื่นแดง ผิวหนังลอก และมีการระคายผิวส่วนสัมผัสยานี้มากขึ้น
- ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี ด้วยเด็กจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับอันตราย/ผลข้างเคียงรุนแรงจากการใช้ยาทาซาโรทีน
- การใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ ควรต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ ด้วยผู้ป่วยกลุ่มนี้จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่อาจได้รับผลข้างเคียงรุนแรงจากการใช้ยาได้หลายประเภท ซึ่งรวมถึงยาทาซาโรทีนด้วย
- ห้ามเผลอรับประทานยานี้โดยเด็ดขาด ด้วยจะทำให้มีอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)คล้ายรับประทานยาพวกวิตามินเอ(Vitamin A) เกินขนาด
- รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล เช่น การอาบน้ำชำระล้างร่างกายให้สะอาดร่วมกับการใช้ยาทาซาโรทีน จะส่งผลดีต่ออาการโรคที่เป็นอยู่
- แจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทุกครั้งที่เข้ารับการรักษาว่า ตนเองมีโรคประจำตัว และใช้ยาอะไรอยู่ก่อน ด้วยปัจจัยทั้ง 2 อย่างดังกล่าว อาจได้รับผลกระทบจากการใช้ยาทาซาโรทีนได้เช่นกัน
- ห้ามใช้ยาทาผิวหนังชนิดอื่นทาร่วมกับยาทาซาโรทีนโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์ ด้วยอาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาจนทำให้อาการโรครุนแรงมากขึ้น
- ห้ามใช้ผ้าพันแผลปิดทับบริเวณผิวหนังที่มีการทายาทาซาโรทีน ด้วยอาจเพิ่มการดูดซึมตัวยานี้เข้าสู่ร่างกาย และทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยานี้มากยิ่งขึ้น
- สตรีที่มีแนวโน้มจะตั้งครรภ์ ต้องได้รับการตรวจสอบการตั้งครรภ์ล่วงหน้า 2 สัปดาห์เพื่อยืนยันสถานะว่าตนเองตั้งครรภ์หรือไม่ ก่อนที่จะใช้ยานี้ รวมถึงระหว่างที่มีการใช้ยากลุ่มRetinoidที่รวมถึงยาทาซาโรทีน ควรใช้วิธีคุมกำเนิดป้องกันการตั้งครรภ์ร่วมด้วยเสมอ
- ระยะเวลาของการใช้ยานี้ต้องเป็นไปตามคำเห็นของแพทย์ ด้วยเป็นการป้องกันการสะสมของยาเข้าสู่ร่างกาย รวมถึงจำกัดขอบเขตการเกิดอาการข้างเคียงต่างๆ
- ยาทาซาโรทีนไม่สามารถลบรอยย่นบนผิวหนังได้ ผู้บริโภคควรทราบเพื่อป้องกันความเข้าใจที่ผิดวัตถุประสงค์ของการใช้ยานี้
การใช้ยาทาซาโรทีนอย่างปลอดภัยเหมาะสม จะต้องใช้ยาตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น จึงจะส่งผลดีต่อการรักษา สิว หรือโรคสะเก็ดเงิน สิ่งสำคัญ ห้ามมิให้ผู้ป่วยไปซื้อหายานี้มาใช้เอง
ทาซาโรทีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาทาซาโรทีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษาสิว และโรคสะเก็ดเงิน โดยต้องใช้ขนาดความเข้มข้นและระยะเวลาของการรักษาตามคำสั่งแพทย์
ทาซาโรทีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาทาซาโรทีน ยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่การศึกษาทางเภสัชวิทยาพบว่า ตัวยานี้จะออกฤทธิ์กับตัวรับ(Receptor)บริเวณผิวหนังที่เรียกว่า Retinoic acid receptor ซึ่งอาจส่งผลต่อสารพันธุกรรมในบริเวณผิวหนังที่มีอาการโรค ทำให้มีการผลัดเซลล์ผิวหนังที่สมดุลมากขึ้น จนเป็นผลให้เกิดฤทธิ์การรักษาได้ตามสรรพคุณ
ทาซาโรทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาทาซาโรทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาครีมทาผิวหนังที่ประกอบด้วยตัวยา Tazarotene เข้มข้น 0.05 และ 0.1%
- โฟมทาผิวหนังที่ประกอบด้วยตัวยา Tazarotene เข้มข้น 0.1%
- เจลทาผิวหนังที่ประกอบด้วยตัวยา Tazarotene เข้มข้น 0.05 และ 0.1%
ทาซาโรทีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาทาซาโรทีนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
ก. สำหรับรักษาสิว (Acne):
- ผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป: ทายาขนาดความเข้มข้น 0.1% บริเวณที่เป็นสิวเพียงบางๆ วันละ1ครั้ง ก่อนนอน
- เด็กอายุต่ำกว่า 12ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัด ถึงประสิทธิผล และความปลอดภัยของการใช้ยานี้ การใช้ยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
ข.สำหรับรักษาโรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis):
- ผู้ใหญ่ที่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: ทายาขนาดเข้มข้น 0.05หรือ0.1%ในบริเวณที่เป็นรอยโรควันละ 1ครั้งก่อนนอน หากจำเป็น แพทย์อาจแนะนำให้ทาโลชั่นเพิ่มความชุ่มชื่นให้ผิวหนัง1 ชั่วโมงก่อนการใช้ทาซาโรทีน
- ผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัด ถึงประสิทธิผล และความปลอดภัยของการใช้ยานี้ การใช้ยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
อนึ่ง:
- ทายานี้เพียงบางๆ ในบริเวณที่มีรอยโรค
- หลีกเลี่ยงการออกแดดขณะใช้ยานี้ กรณีออกที่โล่งแจ้งควรสวมเสื้อผ้า ปกคลุมร่างกายอย่างมิดชิด ไม่ให้ผิวหนังสัมผัสแสงแดดโดยตรง
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้รักษาสิวในเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปีลงมา
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้รักษาโรคสะเก็ดเงินในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา
- ล้างมือก่อนและหลังใช้ยาทาซาโรทีน
- ยานี้ มิได้ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันรอยเหี่ยวย่น หรือใช้รักษาแผลทางผิวหนังที่ถูกแดดเผาไหม้ และไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ดูอ่อนเยาว์ ผู้ป่วยจึงควรทำความเข้าใจการใช้ผลิตภัณฑ์นี้อย่างถ่องแท้
- กรณีอาบน้ำก่อนใช้ยานี้ ต้องเช็ดผิวหนังให้แห้งก่อนทายานี้เสมอ
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาทาซาโรทีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น แผลไหม้ของผิวหนัง รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาหรือ อาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาทาซาโรทีน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้น รุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ และ/หรือกับอาหารเสริม ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
หากลืมทายาทาซาโรทีน สามารถทายาทันทีที่นึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับทายาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดการทายาเป็น 2 เท่าให้ทายาในปริมาณปกติ
แต่อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรทายาทาซาโรทีน ตรงตามขนาดและตรงเวลาในแต่ละวัน
ทาซาโรทีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาทาซาโรทีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผิวหนังลอก แสบคัน ผิวแห้ง มีผื่นคัน ผื่นแดง มีอาการระคายเคืองผิวหนัง ผิวหนังบวม ผิวแพ้แสงแดดได้ง่าย ผิวด่างขาว
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น ไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดสูง
- ผลต่อตา: เช่น การทายาในบริเวณใบหน้า ตัวยาอาจซึมเข้าตา จนอาจก่อให้เกิดอาการ ตาบวม ระคายเคืองตา
มีข้อควรระวังการใช้ทาซาโรทีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาทาซาโรทีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับหญิงมีครรภ์ หญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี
- ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ หรือใช้ยานี้นานเกินจากคำสั่งแพทย์
- ห้ามรับประทานยาทาซาโรทีนด้วยจะทำให้เกิดอาการข้างเคียงรุนแรงตามมา
- ห้ามมิให้ยานี้เข้าตา
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่อยู่ในภาวะผิวแห้งไหม้จากแสงแดด
- ระวังการใช้ยานี้ทา ร่วมกับการใช้สบู่ หรือใช้สารที่มีฤทธิ์ในการกัดผิวหนัง เช่น กรดมะนาว หรือแอลกอฮอล์
- ระหว่างการใช้ยานี้ ให้เลี่ยงการโดนแสงแดด หรืออากาศเย็นจัด
- กรณีที่ใช้ยานี้แล้วเกิดอาการทางผิวหนัง อย่างเช่น บวม แดง แสบคัน ปวดผิวหนัง ผิวหนังลอกตัวอย่างมาก ให้ผู้ป่วยรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลด่วน ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด เพื่อให้แพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- ปฏิบัติตัวตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาทาซาโรทีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ทาซาโรทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาทาซาโรทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาทาซาโรทีนร่วมกับยาทาที่มีส่วนผสมของกำมะถัน/ยาทากำมะถัน และ Salicylic acid ด้วยจะทำให้ผิวหนังบริเวณที่ใช้ยาต่างๆเหล่านั้น ระคายเคืองมากยิ่งขึ้น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาทาซาโรทีนร่วมกับยา Methoxsalen ด้วยจะทำให้ผิวหนัง แพ้แสงแดดได้มากขึ้น
ควรเก็บรักษาทาซาโรทีนอย่างไร
ควรเก็บยาทาซาโรทีนภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
ทาซาโรทีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาทาซาโรทีน ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Fabior (ฟาบิเออร์) | Stiefel |
Tazorac (ทาโซแรค) | ALLERGAN |
Avage (อาเวจ) | ALLERGAN |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Zorac, A-retTZ, LA -Tez, Tazret, Zorotene
บรรณานุกรม
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2011/020600s008lbl.pdf[2017,March4]
- https://www.drugs.com/cdi/tazarotene-cream.html[2017,March4]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/tazarotene?mtype=generic[2017,March4]
- https://www.drugbank.ca/drugs/DB00799[2017,March4]
- https://www.drugs.com/sfx/tazarotene-topical-side-effects.html[2017,March4]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/tazarotene-topical-index.html?filter=2&generic_only=#R[2017,March4]