ทางเลือกของโควิด-19 (ตอนที่ 1)
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 9 มิถุนายน 2563
- Tweet
ดร.ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฏกกุล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวในประเด็นยารักษาโรคโควิด 19 ที่ อภ.ผลิต จัดหา และพัฒนา ว่า มีการสำรองยาและจัดหายาที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคโควิด-19 ในภาวะวิกฤตและระยะยาว รวม 7 รายการ
โดย อภ.ผลิตเอง 5 รายการ ได้แก่
1. ยาคลอโรควินที่ใช้รักษาโรคมาลาเรีย สำรอง 1.8 ล้านเม็ด
2. ยาต้านไวรัสเอดส์สูตรผสมโลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ 30.6 ล้านเม็ด
3. ยาต้านไวรัสเอดส์ ดารุนาเวียร์ 1.9 ล้านเม็ด
4. ยาต้านไวรัสเอดส์ริโทนาเวียร์ 1.9 ล้านเม็ด
5. ยาอะซิโทรมัยซิน ใช้รักษาอาการติดเชื้อจากแบคทีเรีย 3.4 ล้านเม็ด
ส่วนอีก 2 รายการ คือ ยาไฮดรอกซีคลอโรควิน จัดซื้อในประเทศ 1.09 ล้านเม็ด และยาฟาร์วิพิราเวียร์ สั่งนำเข้าโดยกรมควบคุมโรค (คร.) และ อภ. ครั้งแรกจำนวน 187,000 เม็ด จากประเทศญี่ปุ่นและจีน ซึ่งได้มีการกระจายไปยังสถานพยาบาลแล้ว 1 แสนเม็ด เหลือสำรองในคลัง อภ. 87,000 เม็ด และจะมีการส่งมอบเพิ่มเติมในเดือน พ.ค. 2563 อีก 303,860 เม็ด ซึ่งเป็นการนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นกว่า 1 แสนเม็ด และจากจีนอีกประมาณ 2 แสนเม็ด ทำให้ประเทศไทยมียาฟาร์วิพิราเวียร์ใช้ได้อย่างต่อเนื่องระยะยาว
ดร.ภญ.นันทกาญจน์ กล่าวอีกว่า อภ.มีการพัฒนายาฟาร์วิพิราเวียร์ โดยนำเข้าวัตถุดิบมาพัฒนาเป็นยาเม็ดผลิตขึ้นเอง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนา คาดว่าจะมีการผลิตกึ่งอุตสาหกรรมได้ในต้นปี 2564 ก่อนศึกษาการคงตัวและการละลายของยาเปรียบเทียบกับยาต้นแบบ นำไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมประสิทธิผลด้านชีวสมมูล ด้วยการนำยาที่พัฒนาขึ้นเองและยาต้นแบบไปให้อาสาสมัครสุขภาพดีรับประทานและเจาะเลือด เพื่อประเมินว่ายาฟาร์วิพิราเวียร์ 200 มิลลิกรัม ที่ อภ.ผลิตเองกับยาต้นแบบมีการละลายและดูดซึมเข้ากระแสเลือดแตกต่างกันหรือไม่
โดยในปลายปี 2564 น่าจะรวบรวมข้อมูลพร้อมยื่นขอขึ้นทะเบียนยา และหากได้รับการขึ้นทะเบียนเรียบร้อย ในต้นปี 2565 จะผลิตเพื่อจำหน่ายได้ ถือเป็นการเตรียมการในระยะกลาง เพื่อให้มียาฟาร์วิพิราเวียร์ผลิตเองสำรองไว้ใช้ เพราะโรคโควิด-19 จะอยู่ไปอีกนาน
ดร.ภญ.นันทกาญจน์ กล่าวด้วยว่า อภ.ได้ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) วิจัยพัฒนาการสังเคราะห์วัตถุดิบยาฟาวิพิราเวียร์ คาดจะแล้วเสร็จภายใน 3 – 6 เดือน หลังจากนั้นจะขยายการสังเคราะห์วัตถุดิบเป็นระดับกึ่งอุตสาหกรรม โดย อภ.มีสถานที่ เครื่องมือ อุปกรณ์พร้อมทำการผลิตมากขึ้น คาดว่าช่วงเดือนมิ.ย 2564 จะได้เริ่มสังเคราะห์วัตถุดิบผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ที่ อภ.ต่อไป
ส่วนอนาคตอาจมีการขยายกำลังการผลิตเป็นระดับอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทย อาจจะต้องพิจารณาร่วมกันลงทุนสร้างโรงงานสังเคราะห์วัตถุดิบขึ้น โดยอาจจะสร้างในลักษณะที่สามารถสังเคราะห์วัตถุดิบผลิตยาได้หลายชนิดนอกจากยาฟาวิพิราเวียร์ด้วย
แหล่งข้อมูล:
- สำรองยารักษาโควิด-19 ทั้งในวิกฤตและระยะยาว. https://www.dailynews.co.th/politics/775343 [2020, Jun 8].