ทอร์ซีไมด์ (Torsemide)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาทอร์ซีไมด์(Torsemide)หรืออีกชื่อคือ ทอราซีไมด์(Torasemide) เป็นยาขับปัสสาวะ ประเภทลูป ไดยูเรติก(Loop diuretics) มีการออกฤทธิ์ที่ไตบริเวณที่เรียกว่า ลูปออฟเฮนเล่(Loop of Henle, เป็นเนื้อเยื่อไตส่วนทำหน้าที่ดูดน้ำ และเกลือแร่ จากปัสสาวะ กลับสู่กระแสเลือด) โดยต่อต้านการดูดกลับของเกลือ โซเดียม เกลือคลอไรด์ และน้ำ กลับเข้าสู่ร่างกาย ทางคลินิก ใช้ยาทอร์ซีไมด์เพื่อรักษาอาการบวมที่มีสาเหตุจากภาวะหัวใจล้มเหลว รวมถึงใช้เป็นยาบำบัดโรคความดันโลหิตสูง

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาทอร์ซีไมด์มีทั้งยารับประทานและยาฉีด การดูดซึมของยานี้จากระบบทางเดินอาหารทำได้ 80–90% ตัวยานี้ในกระแสเลือดจะถูกส่งไปทำลายที่ตับ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 3.5 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดผ่านทางปัสสาวะ

สำหรับข้อจำกัดการใช้ยาทอร์ซีไมด์ที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบ มีดังนี้ เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ทอร์ซีไมด์กับผู้ที่แพ้ยานี้ ผู้ป่วยโรคตับขั้นรุนแรง ตลอดจน ผู้ที่มีภาวะปัสสาวะขัด
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ด้วยมีรายงานว่า หลังการใช้ยาทอร์ซีไมด์ในผู้ป่วยกลุ่มโรคนี้ อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
  • กรณีที่ผู้ป่วยอยู่ในภาวะลดอาหารเค็ม ต้องเพิ่มความระมัดระวังต่อการใช้ยานี้ด้วยยาทอร์ซีไมด์เป็นยาขับปัสสาวะที่มีฤทธิ์กำจัดเกลือแร่ชนิดต่างๆออกจากร่างกาย/กระแสเลือด เช่น โซเดียม เกลือคลอไรด์ โปแตสเซียม ซึ่งจากเหตุผลนี้ อาจทำให้เกิดภาวะเกลือแร่ในร่างกายต่ำจนเป็นอันตรายตามมา
  • การใช้ยาทอร์ซีไมด์ร่วมกับยาลดความดันโลหิตชนิดต่างๆ อาจทำให้มีอาการความดันโลหิตต่ำ ตามมา ดังนั้น การจะใช้ยาใดๆร่วมกับยาทอร์ซีไมด์ จึงต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • ด้วยฤทธิ์ขับปัสสาวะของยาทอร์ซีไมด์ สามารถทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำของร่างกาย จึงมีข้อแนะนำไม่ให้ผู้ป่วยอยู่ในที่มีสภาพอากาศร้อนจัดซึ่งจะทำให้สูญเสียเหงื่อมากขึ้นจนอาจสนับสนุนกลไกการขาดน้ำของร่างกาย ตลอดจนส่งผลให้มีภาวะความดันโลหิตต่ำตามมา
  • ระหว่างใช้ยานี้ ควรระวังการเกิดโรคเกาต์คุกคาม ตลอดจนเกิดภาวะเกลือแร่ในร่างกายลดต่ำลง แพทย์อาจต้องมีการตรวจเลือดผู้ป่วยเป็นระยะๆตามดุลพินิจของแพทย์ เพื่อดู ระดับกรดยูริค ระดับเกลือแร่แต่ละชนิด ในเลือด ผู้ป่วยต้องให้ความร่วมมือและมารับการตรวจเลือดตามนัดหมายทุกครั้ง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้หลังช่วงเวลา 6 โมงเย็น ด้วยจะเป็นเหตุรบกวนการนอนหลับพักผ่อนของผู้ป่วย เพราะต้องตื่นนอนกลางดึกเพื่อมาขับถ่ายปัสสาวะ
  • กรณีที่พบอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)บางประการจากยานี้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วย เช่น กระหายน้ำจัด หิวอาหารมาก ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะขัด ใบหน้าแดง หายใจเร็ว ลมหายใจมีกลิ่นเหมือนกลิ่นผลไม้ น้ำหนักเพิ่มมากผิดปกติหรือพบเลือดออกปนมากับปัสสาวะ/ปัสสาวะเป็นเลือด ซึ่งหากพบเหตุการณ์ดังกล่าวต้องรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
  • แจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทุกครั้งที่เข้ารับการตรวจว่า ตนเองมีโรคประจำตัวใดบ้าง ด้วยขนาดรับประทานของยาทอร์ซีไมด์มีความสัมพันธ์กับโรคประจำตัวประเภทต่างๆ เช่น ผู้ป่วยอาการบวมจากโรคหัวใจล้มเหลว บวมจากโรคไตหรือบวมจากโรคตับ จะมีขนาดรับประทานยาทอร์ซีไมด์ที่แตกต่างกัน

ยาทอร์ซีไมด์จัดอยู่ในประเภทยาอันตราย การใช้ยานี้ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น ซึ่งในต่างประเทศ สามารถพบเห็นการจัดจำหน่ายยานี้ภายใต้ยาชื่อการค้าว่า “Demadex”

ทอร์ซีไมด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ทอร์ซีไมด์

ยาทอร์ซีไมด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ลดอาการบวมน้ำของร่างกาย
  • รักษาภาวะ/โรคความดันโลหิตสูง

ทอร์ซีไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาทอร์ซีไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะยับยั้งการดูดกลับเข้าสู่กระแสเลือดของเกลือ โซเดียม โปแตสเซียม และคลอไรด์ จากไต/จากปัสสาวะ จึงส่งผลให้มีการขับน้ำและเกลือแร่ออกจากร่างกายสูงขึ้น ผู้ป่วยจะมีปัสสาวะบ่อยขึ้น มากขึ้น จนส่งผลให้ลดอาการบวมน้ำของร่างกาย และรวมถึงมีความดันโลหิตต่ำลง

ทอร์ซีไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาทอร์ซีไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Torsemide 5, 10, 20 และ 100 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาฉีดที่ประกอบด้วย Torsemide 10 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

ทอร์ซีไมด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาทอร์ซีไมด์ มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

ก. บำบัดอาการบวมจากโรคหัวใจล้มเหลว:

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ หรือรับประทานยาขนาด 10–20 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง

ข. บำบัดอาการบวมจากโรคไต:

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำหรือรับประทานยาขนาด 20 มิลลิกรัม วันละ1 ครั้ง

ค. บำบัดอาการบวมจากโรคตับ:

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำหรือรับประทานยาขนาด 5–10 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง

ง. สำหรับรักษาโรคความดันโลหิตสูง:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยา 5 มิลลิกรัม วันละ1 ครั้ง หลังจากนั้น 4 – 6 สัปดาห์ แพทย์จะประเมินผลการรักษา และอาจปรับขนาดรับประทานเป็น 10 มิลลิกรัม/วัน

อนึ่ง:

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด
  • มาตรวจร่างกายตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • กรณีเป็นยารับประทาน สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ ตามคำสั่งแพทย์
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกถึงความปลอดภัยของการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาทอร์ซีไมด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาทอร์ซีไมด์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตรเพราะ ยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิด ผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาทอร์ซีไมด์ สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2เท่า ให้รับประทานที่ขนาดปกติ

แต่อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาทอร์ซีไมด์ตรงเวลา

ทอร์ซีไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาทอร์ซีไมด์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย เช่น เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง มีภาวะกรดยูริคในเลือดสูง เกิดการขับเกลือแคลเซียมและแมกนีเซียมออกจากร่างกายเพิ่มขึ้น กระหายน้ำมาก
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสียหรือท้องผูก คลื่นไส้ เบื่ออาหาร เกิดแผลในลำคอ
  • ผลต่อระบบประสาท เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ เช่น ปวดกล้ามเนื้อ
  • ผลต่อสภาพจิตใจ เช่น นอนไม่หลับ
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น เยื่อจมูกอักเสบ ไอเพิ่มขึ้น
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว
  • ผลต่อระบบเลือด เช่น เม็ดเลือดแดงลดลง เม็ดเลือดขาวต่ำ เกล็ดเลือดลดลง
  • ผลต่อผิวหนัง เช่น อาจพบผื่นคัน

มีข้อควรระวังการใช้ทอร์ซีไมด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาทอร์ซีไมด์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ และ/หรือ แพ้ยาซัลฟา(Sulfa drugs)
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะปัสสาวะไม่ออก ผู้ที่มีภาวะตับล้มเหลว
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่สูญเสียเกลือแร่ของร่างกายอย่างรุนแรง เช่น ท้องเสียรุนแรง
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ นอกจากมีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาทอร์ซีไมด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด)รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ทอร์ซีไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาทอร์ซีไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาทอร์ซีไมด์ร่วมกับยา Amiodarone เพราะจะทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาทอร์ซีไมด์ร่วมกับยา Lithium เพราะเสี่ยงต่อการเกิดพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)จากยาLithium ตามมา
  • การใช้ยาทอร์ซีไมด์ร่วมกับยาปฏิชีวนะบางกลุ่ม เพราะจะก่อให้เกิดความเป็นพิษ ของยาปฏิชีวนะนั้นๆกับไต, สูญเสียการได้ยิน, วิงเวียน, ที่โดยมากมักเกิดกับผู้สูงอายุ ยาปฏิชีวนะกลุ่มดังกล่าว เช่นยา Amikacin , Tobramycin, และ Gentamycin เป็นต้น
  • ห้ามใช้ยาทอร์ซีไมด์ร่วมกับยา Amphotercin B เพราะเสี่ยงต่อภาวะเกลือ โปแตสเซียมในเลือดต่ำ

ควรเก็บรักษาทอร์ซีไมด์อย่างไร?

ควรเก็บยายาทอร์ซีไมด์ในช่วงอุณหภูมิ 15–30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์

ทอร์ซีไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาทอร์ซีไมด์มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Demadex (ดีมาเดกซ์)Roche Farma S.A.

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Demator, Nephtor, Torsid

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Torasemide[2017,Oct7]
  2. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2010/020136s023lbl.pdf[2017,Oct7]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/torasemide/?type=brief&mtype=generic[2017,Oct7]
  4. https://www.drugs.com/cdi/torsemide-injection-solution.html[2017,Oct7]
  5. https://www.drugs.com/dosage/torsemide.html[2017,Oct7]
  6. https://www.drugs.com/dosage/torsemide.html#Usual_Adult_Dose_for_Edema[2017,Oct7]
  7. https://www.drugs.com/sfx/torsemide-side-effects.html[2017,Oct7]