ทราเบคทีดิน (Trabectedin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 17 พฤศจิกายน 2561
- Tweet
- บทนำ
- ทราเบคทีดินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ทราเบคทีดินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ทราเบคทีดินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ทราเบคทีดินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- ควรดูแลตนเองอย่างไรขณะได้รับทราเบคทีดิน?
- หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?
- ทราเบคทีดินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ทราเบคทีดินอย่างไร?
- อาการข้างเคียงลักษณะใดที่ต้องนำผู้ป่วยมาส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว?
- ทราเบคทีดินมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาทราเบคทีดินอย่างไร?
- ทราเบคทีดินมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- มะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน (Soft tissue sarcoma) / มะเร็งเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective tissue sarcoma)
- กล้ามเนื้อลายสลาย (Rhabdomyolysis)
- ซาร์โคมา มะเร็งซาร์โคมา (Sarcoma)
- มะเร็งซาร์โคมามดลูก (Uterine sarcoma)
- ยาเคมีบำบัด (Cancer chemotherapy)
- มะเร็ง (Cancer)
บทนำ
ยาทราเบคทีดิน(Trabectedin) หรืออีกชื่อหนึ่ง คือ Ecteinascidin 743 ย่อว่า ET 743 เป็นยาเคมีบำบัดที่สกัดได้จากสัตว์จำพวกเพรียงทะเล(Ecteinascidia turbinata) มีคุณสมบัติในการต่อต้านเซลล์มะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน(Soft tissue sarcoma) การผลิตทราเบคทีดินเพื่อนำมาเป็นยารักษามะเร็งในเชิงอุตสาหกรรมต้องใช้เชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Candidatus endoecteinascidia เป็นผู้สังเคราะห์
รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาทราเบคทีดินเป็นยาฉีดชนิดผงปราศจากเชื้อที่ต้องเตรียมเป็นสารละลายก่อนหยดเข้าทางหลอดเลือดดำ
ตัวยาทราเบคทีดิน จะออกฤทธิ์ปิดกั้นการทำงานของสารพันธุกรรม(DNA)ในเซลล์มะเร็ง ระยะเวลาที่ยาทราเบคทีดินสามารถอยู่ในร่างกายนั้น ยาวนานถึงประมาณ 175 ชั่วโมง ประกอบกับผลข้างเคียงและตัวยาที่ตกค้างในกระแสเลือดเป็นผลให้การได้รับยาเพียง 1 ครั้งก็ต้องเว้นระยะเวลาถึง 3 สัปดาห์ แพทย์จึงจะนัดให้กลับมารับยาครั้งต่อไป ตัวยานี้จะถูกกำจัดออกจากร่างกายโดยผ่านไปกับน้ำปัสสาวะและอุจจาระ
ยาทราเบคทีดินเหมาะกับผู้ป่วยที่มีช่วงอายุ 19–83 ปีและควรมีน้ำหนักตัวในช่วง 36–148 กิโลกรัม หรือคิดเป็นพื้นที่ผิวของร่างกาย 0.9–2.8 ตารางเมตร และไม่เหมาะที่จะใช้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคไตในระยะรุนแรงหรือระยะสุดท้าย รวมถึงผู้ที่มีโรคตับ
ก่อนที่จะได้รับยาทราเบคทีดิน แพทย์จะขอตรวจร่างกายผู้ป่วย โดยเฉพาะระบบเลือด เช่น ปริมาณเกล็ดเลือด จำนวนเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิล ตรวจค่าบิลิรูบิน และปริมาณเอนไซม์การทำงานของตับในเลือด ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการปรับขนาดการใช้ยานี้ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น
มีผู้ป่วยบางกลุ่มที่เสี่ยงต่ออาการกำเริบของโรคอย่างรุนแรงเมื่อได้รับยาทราเบคทีดิน เช่น
- กลุ่มผู้ป่วยที่มีระดับเม็ดเลือดขาวต่ำ(Neutropenic sepsis)
- ผู้ที่มีภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย(Rhabdomyolysis)
- ผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจล้มเหลว
- ผู้ที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
การให้ยาทราเบคทีดินกับผู้ป่วย ยังต้องระวังเรื่องการแทงเข็มทะลุออกนอกหลอดเลือดซึ่งจะทำให้ตัวยาสามารถเข้าทำลายเนื้อเยื่อใกล้เคียงได้
ยาทราเบคทีดินจัดเป็นยาที่มีอันตรายสูง การใช้ยาต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์แต่เพียงผู้เดียว เราจะพบเห็นการใช้ยานี้แต่ในสถานพยาบาลที่รักษาโรคมะเร็งเท่านั้น และใช้ชื่อยาการค้าว่า Yondelis
ทราเบคทีดินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาทราเบคทีดินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้รักษามะเร็งในกลุ่มมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน ได้แก่
- รักษามะเร็งซาร์โคมาของเนื้อเยื่อไขมัน(Liposarcoma)
- รักษามะเร็งซาร์โคมามดลูก ชนิด Leiomyosarcoma
ทราเบคทีดินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ตัวยาทราเบคทีดินมีกลไกการออกฤทธิ์คือ ตัวยาจะเข้าจับสายดีเอนเอ(DNA) ของเซลล์มะเร็ง ทำให้สายดีเอนเอเกิดการบิดงอและเสียรูปในที่สุด จากเหตุผลนี้เองส่งผลต่อการทำงานดีเอนเอของเซลล์มะเร็งทำได้ยากลำบากมากขึ้น และเป็นเหตุให้เซลล์มะเร็งตายในที่สุด
ทราเบคทีดินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาทราเบคทีดินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาฉีดแบบผงแห้งปราศจากเชื้อที่บรรจุ Trabectedin ขนาด 1 มิลลิกรัม/ขวด(Vial)
ทราเบคทีดินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
การใช้ยา/บริหารยาทราเบคทีดิน รักษาอาการป่วยมะเร็ง แพทย์จะต้องนำปัจจัยต่างๆทางร่างกายของผู้ป่วยมาพิจารณา เช่น อายุ น้ำหนักตัวหรือพื้นที่ผิวหนังของร่างกาย ตลอดรวมถึงโรคประจำตัวอื่นๆของผู้ป่วย เมื่อผู้ป่วยได้รับยา 1 ครั้งจะเว้นช่วงเป็นเวลา 3 สัปดาห์แพทย์จึงนัดหมายให้กลับมารับยาครั้งต่อไป โดยขนาดและความถี่ของการใช้ยานี้จะขึ้นอยู่กับแพทย์เท่านั้น และเพื่อประสิทธิผลของการรักษาผู้ป่วยต้องมารับยานี้ตรงตามที่แพทย์นัดหมายอย่างสม่ำเสมอ
*****หมายเหตุ: การเตรียมยาทราเบคทีดินเพื่อหยดเข้าหลอดเลือดดำทำโดยเจือจางผงยานี้ด้วยน้ำกลั่น 20 มิลลิลิตรต่อยา 1 มิลลิกรัม และต้องใช้ยาเตรียมนี้ภายใน 30 ชั่วโมง
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาทราเบคทีดิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาทราเบคทีดินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิด ปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
ควรดูแลตนเองอย่างไรขณะได้รับยาทราเบคทีดิน?
ควรดูแลตนเองขณะได้รับยาทราเบคทีดิน ดังนี้ เช่น
- ดื่มน้ำสะอาดวันละ 2–3 ลิตร ถ้าไม่มีโรคที่แพทย์สั่งจำกัดน้ำดื่ม
- ล้างมือบ่อยๆโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก่อนรับประทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ
- อยู่ในที่ ไม่มี ผู้คนแออัดเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดโรคต่างๆ
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บเป็นแผลเลือดออก
- เพื่อป้องกันเลือดออกบริเวณเหงือกและลดอาการปากเป็นแผลควรใช้ แปรงสีฟันที่มีขนนิ่ม
- กรณีมีอาการคลื่นไส้ให้รับประทานยาบรรเทาอาการ(ยาแก้คลื่นไส้)ที่สั่งจ่ายโดยแพทย์ผู้ที่ทำการรักษาเท่านั้น และห้ามไปซื้อหายาใดๆมารับประทานเอง
- ขณะใช้ยานี้ ห้ามดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นองค์ประกอบ
- ในสตรี ต้องป้องกันการมีบุตร ขณะได้รับยาชนิดนี้ โดยใช้การป้องกันทางกายภาพ เช่น ถุงยาอนามัยชาย
- พักผ่อนอย่างพอเพียง และ รับประทานอาหารตามที่แพทย์แนะนำ
หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?
กรณีผู้ป่วยลืมหรือไม่สามารถมารับการฉีดยาทราเบคทีดินในครั้งต่อไป ควรต้องติดต่อแพทย์ผู้ที่ทำการรักษา/พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนัดหมายการรับยาครั้งใหม่โดยเร็ว
ทราเบคทีดินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาทราเบคทีดิน เป็นยาที่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อระบบการทำงานของร่างกายได้หลายประการ ผลข้างเคียงบางอย่างอาจเกิดขึ้นทันทีหลังใช้ยาหรืออาจต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์จึงจะเกิดผลข้างเคียงเหล่านั้น
อย่างไรก็ตามอาการ/ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นส่วนมาก สามารถหายได้เองหลังจาก หยุดใช้ยานี้
มีข้อสรุปทางคลินิกเรื่องผลข้างเคียงของยาทราเบคทีดินดังนี้
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสียหรือท้องผูก
- ผลต่อไต: เช่น มีภาวะไตวาย
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะกดไขกระดูกทำให้มีภาวะเม็ดเลือดจาง/เม็ดเลือดชนิดต่างๆต่ำ เช่น เม็ดเลือดแดงต่ำ เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลต่ำ เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
- ผลต่อตับ: เช่น ตับทำงานผิดปกติ/ตับอักเสบ
- ผลต่อระบบกล้ามเนื้อ: เช่น เกิดภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจขัด
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ
มีข้อควรระวังการใช้ทราเบคทีดินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาทราเบคทีดิน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาชนิดนี้/ยานี้
- ห้ามใช้กับผู้ป่วย โรคตับ โรคไต ในระยะรุนแรง
- ห้ามใช้ยานี้กับ เด็ก สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามเก็บยาที่ถูกเตรียมเป็นสารละลายแล้ว ทั้งนี้เพื่อช่วยเรื่องความคงตัวและ ประสิทธิภาพของตัวยาและควรใช้ยาเตรียมภายใน 30 ชั่วโมง
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วย โรคหัวใจวาย โรคกล้ามเนื้อลายสลาย ผู้ที่มีภาวะเม็ดเลือดขาวนิวโทรฟิลต่ำ ผู้ที่มีระดับเกล็ดเลือดต่ำ
- ปฏิบัติตัวตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด และมารับการฉีดยาตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาทราเบคทีดินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่องข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
อาการข้างเคียงลักษณะใดที่ต้องนำผู้ป่วยมาส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว?
อาการข้างเคียง/ผลข้างเคียงจากยาราเบคทีดินที่ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว ได้แก่
- มีไข้สูง 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป หรือมีอาการหนาวสั่น ซึ่งอาจเป็นสัญญาณ บอกว่าร่างกายผู้ป่วยเกิดการติดเชื้อ
- เกิด รอยแดง หรือผิวบวม ผื่นคัน ในบริเวณผิวหนังตรงที่ได้รับการฉีดยา
- เจ็บหน้าอก/ แน่นหน้าอก มีความรู้สึกว่าหัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดปกติ
- หายใจติดขัด หรือหายใจไม่ออก/หายใจลำบาก
ทราเบคทีดินมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาทราเบคทีดินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาทราเบคทีดินร่วมกับกลุ่มยาCYP3A Inhibitor เช่นยา Ketoconazole, Itraconazole, Posaconazole, Voriconazole, Clarithromycin, Telithromycin, Indinavir, Lopinavir, Ritonavir, Boceprevir, Nelfinavir, Saquinavir, Telaprevir, Nefazodone, Conivaptan จะทำให้ระดับยาทราเบคทีดินในกระแสเลือดสูงขึ้นจนอาจส่งผลให้ร่างกายได้รับผลข้างเคียงสูงขึ้นจากยาทราเบคทีดินตามมา ควรใช้ยาทราเบคทีดินหลังจากหยุดใช้ CYP3A inhibor ไปแล้วอย่างน้อย 14 วัน
- การใช้ยาทราเบคทีดินร่วมกับกลุ่มยาCYP3A Inducer เช่นยา Rifampin, Phenobarbital, สมุนไพร St. John’s wort จะทำให้ระดับยาทราเบคทีดินในกระแสเลือดลดต่ำลง จนทำให้ประสิทธิผลของการรักษาของยาทราเบคทีดินด้อยตามกันไป หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาทราเบคทีดินอย่างไร?
ควรเก็บรักษายาทราเบคทีดินดังนี้ เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- ไม่เก็บยาที่หมดอายุแล้ว
- ห้ามทิ้งยาลงในแม่น้ำลำคลองหรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติ
ทราเบคทีดินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาทราเบคทีดิน มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Yondelis (ยอนเดลิส) | Janssen |