ทรานิลซัยโปรมีน (Tranylcypromine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 24 สิงหาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- ทรานิลซัยโปรมีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ทรานิลซัยโปรมีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ทรานิลซัยโปรมีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ทรานิลซัยโปรมีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ทรานิลซัยโปรมีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ทรานิลซัยโปรมีนอย่างไร?
- ทรานิลซัยโปรมีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาทรานิลซัยโปรมีนอย่างไร?
- ทรานิลซัยโปรมีนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- แอมเฟตามีน (Amphetamine)
- เอมเอโอไอ (Monoamine oxidase inhibitor: MAOI)
- ยาต้านเศร้า(Antidepressants)
- ยารักษาทางจิตเวช ยาจิตเวช (Psychotropics drugs)
- โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder หรือ MDD)
- ความเครียด ภาวะซึมเศร้า และโรคซึมเศร้า (Stress, Depression and Depressive disorder)
- กลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin syndrome)
บทนำ
ยาทรานิลซัยโปรมีน (Tranylcypromine หรือ Tranylcypromine sulfate) เป็นสารเคมีสังเคราะห์ที่มีโครงสร้างเคมีเลียนแบบยาAmphetamine และจัดอยู่ในกลุ่มยาMAOIs ทางคลินิกนำมาใช้รักษา โรคซึมเศร้า และอาการวิตกกังวล รูปแบบยาแผนปัจจุบันเป็นยาชนิดรับประทาน ตัวยานี้จะถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้เพียงประมาณ 50% ตับจะใช้เอนไซม์ CYP 2A6 (Cytochrome P450 2A6), CYP2C19 (Cytochrome P450 2C19), และ CYP2D6 (Cytochrome P450 2D6) เปลี่ยนแปลงโครงสร้างของยาทรานิลซัยโปรมีนก่อนที่จะถูกขับออกจากร่างกายโดยผ่านไปกับปัสสาวะและอุจจาระ
เงื่อนไขที่แพทย์ใช้เป็นเหตุผลประกอบว่าผู้ป่วยเหมาะสมที่จะใช้ยาทรานิลซัยโปรมีน หรือไม่ คือ
- ผู้ป่วยต้องไม่เคยแพ้ยานี้
- ผู้ป่วยต้องไม่มีโรคประจำตัวดังต่อไปนี้ อาทิเช่น โรคพอร์ไฟเรีย(Porphyria) โรคหลอดเลือดหัวใจ(Cardiovascular disease) โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง (Cerebrovascular disease) โรคฟีโอโครโมไซโตมา(Pheochromocytoma), โรคตับหรือมีภาวะตับทำงานผิดปกติ
- ต้องไม่ใช่ผู้ป่วยที่กำลังจะเข้ารับการผ่าตัด
- ต้องไม่ใช่ผู้ที่ชอบรับประทานอาหารประเภทมีส่วนประกอบของสาร Tyramine(สารที่พบได้ในอาหารแปรรูป หรือหมักดอง เช่น เนยแข็ง/Cheese เบียร์ เนื้อสัตว์แปรรูป)สูง หรือดื่มกาแฟ/สารกาเฟอีนทุกวัน ติดสุรา เพราะสารอาหารและเครื่องดื่มดังกล่าวล้วนแล้วส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยานี้ทั้งสิ้น โดยจะทำให้ผลข้างเคียงจากยานี้สูงขึ้น
- ห้ามใช้ยาทรานิลซัยโปรมีน ร่วมกับยาต่อไปนี้ เช่น Sibutramine, Phentermine, Loratadine, Apraclonidine, Bupropion , Buspirone, A catechol-O-methyltransferase(COMT)inhibitor ,Hydrochlorothiazide, Levodopa, Meperidine, Codeine, Nefazodone, Atomoxetine, Selective serotonin reuptake inhibitor(SSRI), Serotonin-norepinephrine reuptake inhibitor(SNRI), Sympathomimetic , TCAs, Tramadol, Trazodone, TriptanหรือTryptophan
- ต้องไม่ใช่ผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับยา Carbamazepine, Cyclobenzaprine, Furazolidone, Linezolid, Maprotiline, และยากลุ่มMAOI เมื่อ 7 วันที่ผ่านมา
สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการสั่งจ่ายยานี้ ยังต้องมีข้อระวังเพิ่มเติมอีกหลายประการเพราะยาที่ใช้รักษาอาการซึมเศร้าอย่างยาทรานิลซัยโปรมีนสามารถกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกอยากทำร้ายตนเองเมื่อนำมาใช้กับเด็กหรือผู้ป่วยที่เพิ่งมีอายุย่างเข้าวัยผู้ใหญ่ ดังนั้นญาติผู้ป่วยจะต้องคอยดูแลพฤติกรรมของผู้ป่วยระหว่างที่ใช้ยานี้ด้วย
นอกจากนี้ ยาทรานิลซัยโปรมีน อาจกระตุ้นให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงอย่างรุนแรง กรณีนี้ต้องหยุดการใช้ยานี้ทันที หรือการออกไปอยู่ในที่โล่งแจ้งอาจทำให้ผิวหนังที่สัมผัสแสงแดดโดยตรงเกิดรอยไหม้ได้ง่ายกว่าปกติ กรณีเกิดอาการต่างๆดังกล่าว ต้อรีบมาโรงพยาบาลโดยด่วน โดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
*การรับประทานยาทรานิลซัยโปรมีนเกินขนาด จะทำให้เกิด อาการตัวสั่น รู้สึกวิตกกังวล สับสน วิงเวียน ง่วงนอน อาจรู้สึกตื่นเต้น อาจเกิดอาการเป็นลม หัวใจเต้นเร็ว มีไข้ ใบหน้าแดง ปวดศีรษะ กล้ามเนื้อกระตุก นอนไม่หลับ เกิดอาการชัก เหงื่อออกมาก การช่วยเหลือ คือต้องรีบนำผู้ป่วยส่งสถานพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน
อนึ่ง หากมีข้อสงสัยการใช้ยานี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากแพทย์ที่ทำการรักษาผู้ป่วย หรือจากเภสัชกรตามสถานพยาบาลหรือตามร้านขายยาได้ทั่วไป
ทรานิลซัยโปรมีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร
ยาทรานิลซัยโปรมีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ รักษาโรคซึมเศร้า
ทรานิลซัยโปรมีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาทรานิลซัยโปรมีน มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่มีชื่อว่า Monoamine oxidase ทำให้ระดับสาร Monoamine ในบริเวณระบบประสาทมีปริมาณมากขึ้น สาร Monoamine จะทำให้ความรู้สึกซึมเศร้าลดน้อยและหายไป ด้วยกลไกนี้จึงเป็นที่มาของสรรพคุณ
ทรานิลซัยโปรมีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาทรานิลซัยโปรมีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Tranylcypromine ขนาด 10 มิลลิกรัม/เม็ด
ทรานิลซัยโปรมีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาทรานิลซัยโปรมีนมีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานครั้งละ 10 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า–เย็น หากจำเป็นหลังจากเริ่มใช้ยาไปแล้ว 1 สัปดาห์ แพทย์อาจปรับเพิ่มขนาดรับประทานในมื้อเย็นเป็น 20 มิลลิกรัม กรณีที่อาการยังไม่เป็นที่น่าพอใจ แพทย์อาจปรับ เพิ่มขนาดรับประทานอีก 10 มิลลิกรัมในช่วงกลางวัน ยานี้สามารถรับประทานก่อน หรือพร้อมอาหารก้ได้
- เด็ก: การใช้ยานี้จะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาทรานิลซัยโปรมีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคหัวใจ โรคตับ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาทรานิลซัยโปรมีน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาทรานิลซัยโปรมีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาขนาดปกติ
แต่อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาทรานิลซัยโปรมีนตรงเวลาในทุกๆวัน
ทรานิลซัยโปรมีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาทรานิลซัยโปรมีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น เกิดภาวะความดันโลหิตสูงอย่างรุนแรงหรือความดันโลหิตต่ำ ใบหน้าแดง หัวใจเต้นเร็ว ชีพจรเต้นผิดปกติ
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ง่วงนอน วิงเวียน ปวดศีรษะ อาการชาตามร่างกาย ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน ความจำแย่ลง
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ประสาทหลอน มีความรู้สึกว่าติดยาชนิดนี้ อยากทำร้ายตนเอง
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปากแห้ง คลื่นไส้ ท้องเสียหรือท้องผูก ปวดท้อง อาเจียน
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะขัด
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น โลหิตจาง มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ มีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ ไขกระดูกลดการสร้างเม็ดเลือด
- ผลต่อตับ: เช่น ตับอักเสบ ดีซ่าน
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น กล้ามเนื้อหดเกร็ง/ตะคริว
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน ผมร่วง
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เบื่ออาหาร
- อื่นๆ: เช่น สมรรถนะทางเพศถดถอย
มีข้อควรระวังการใช้ทรานิลซัยโปรมีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาทรานิลซัยโปรมีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามปรับขนาดรับประทานหรือหยุดยานี้ด้วยตนเอง
- การใช้ยานี้กับ เด็ก สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น
- ระหว่างการใช้ยานี้ ต้องคอยตรวจสอบความผิดปกติของความดันโลหิตร่วมด้วยตามคำแนะนำของ แพทย์/ พยาบาล/ เภสัชกร
- หากพบอาการหัวใจเต้นผิดปกติ ปวดศีรษะบ่อยมาก ซึ่งเป็นสัญญาณของความดันโลหิตสูง ให้หยุดใช้ยานี้ แล้วรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยด่วน โดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- ระหว่างการใช้ยานี้ ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทโปรตีนสูง เช่น โปรตีนสกัด ตับ ผลไม้ตากแห้ง ชีส(Cheese) โยเกิร์ต เบียร์ เป็นต้น
- หากพบอาการแพ้ยานี้ เช่น มีผื่นขึ้นเต็มตัว แน่นหน้าอก/อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ให้หยุดการใช้ยานี้ทันที พร้อมกับรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาทรานิลซัยโปรมีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ทรานิลซัยโปรมีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาทรานิลซัยโปรมีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาทรานิลซัยโปรมีนร่วมกับยา Hydrocodone เพราะอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงของยาทรานิลซัยโปรมีนติดตามมา เช่น หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ความดันโลหิตต่ำ เป็นลม มีภาวะโคม่า
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาทรานิลซัยโปรมีนร่วมกับยา Amlodipine ด้วยจะทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำมาก มีอาการปวดศีรษะ และวิงเวียนมากตามมา
- การใช้ยาทรานิลซัยโปรมีนร่วมกับยา Chlorpheniramine จะทำให้เกิดอาการข้างเคียงของยาทรานิลซัยโปรมีนเพิ่มมากขึ้น เช่น วิงเวียน ง่วงนอน ตาพร่า ปากแห้ง ท้องผูก ใบหน้าแดง เหงื่อออกน้อย เป็นต้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- ห้ามใช้ยาทรานิลซัยโปรมีนร่วมกับยา Ergotamine ด้วยจะทำให้เกิดภาวะ Serotonin syndrome ซึ่งมักพบเห็น อาการประสาทหลอน เกิดลมชัก รู้สึกสับสน ความดันโลหิตผิดปกติ(อาจต่ำหรือสูงก็ได้) จังหวะการเต้นของหัวใจเปลี่ยนแปลง/หัวใจเต้นผิดจังหวะ มีไข้ ตาพร่า คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น
ควรเก็บรักษาทรานิลซัยโปรมีนอย่างไร?
ควรเก็บยาทรานิลซัยโปรมีนที่อุณหภูมิระหว่าง 15-30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ทรานิลซัยโปรมีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาทรานิลซัยโปรมีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
PARNATE (พาร์เนท) | GlaxoSmithKline |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Tranylcypromine [2017,Aug5]
- https://www.drugs.com/cdi/tranylcypromine.html[2017,Aug5]
- https://www.drugs.com/pro/tranylcypromine.html[2017,Aug5]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/tranylcypromine-index.html?filter=3&generic_only= [2017,Aug5]
- https://www.drugbank.ca/drugs/DB00752[2017,Aug5]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/tranylcypromine/?type=brief&mtype=generic[2017,Aug5]
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2010/012342s063lbl.pdf[2017,Aug5]