ทรอมบิน อินฮิบิเตอร์ (Thrombin inhibitor)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 13 ธันวาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- ทรอมบิน อินฮิบิเตอร์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ทรอมบิน อินฮิบิเตอร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ทรอมบิน อินฮิบิเตอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ทรอมบิน อินฮิบิเตอร์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- ทรอมบิน อินฮิบิเตอร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ทรอมบิน อินฮิบิเตอร์อย่างไร?
- ทรอมบิน อินฮิบิเตอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาทรอมบิน อินฮิบิเตอร์อย่างไร?
- ทรอมบิน อินฮิบิเตอร์มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคหัวใจ: การซ่อมรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบ (Coronary heart disease: Ballooning and bypass)
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Acute myocardial infarction)
- โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease)
- ยาต้านการแข็งตัวของเลือด: ยากันเลือดแข็งตัว (Anticoagulants)
- หัวใจ: กายวิภาคหัวใจ (Heart anatomy) / สรีรวิทยาของหัวใจ (Heart physiology)
บทนำ
ยาทรอมบิน อินฮิบิเตอร์ (Thrombin inhibitor) อีกชื่อคือ Direct Thrombin inhibitor ย่อว่า DTI จัดเป็นกลุ่มยาที่มีฤทธิ์เป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือด ซึ่งมีกลไกและความเชื่อมโยงกับกระบวนการห้ามเลือด(Hemostasis)ของร่างกาย ธรรมชาติของ เลือดที่ไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆนั้น จะมีกลไกยับยั้งการสร้างลิ่มเลือดเพื่อ ไม่ก่อให้เกิดการอุดตันในหลอดเลือดจากลิ่มเลือดจนเป็นอุปสรรคต่อการไหลเวียนของเลือด กรณีที่เกิดมีบาดแผลทำให้หลอดเลือดเสียหาย/ฉีกขาด ร่างกายจะมีกลไกการสร้างลิ่มเลือดเพื่อปิดกั้นมิให้เลือดไหลออกจากเส้นเลือด/หลอดเลือดจนหมด แต่ในทางกลับกันหลอดเลือดจะมีกลไกยับยั้งการสลายลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นควบคู่กันไป ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันมิให้ลิ่มเลือดที่สร้างขึ้นในบริเวณบาดแผลถูกทำลายลง เมื่อบาดแผลหายดีแล้วร่างกายก็จะเริ่มการสลายลิ่มเลือดที่ปิดบาดแผลให้ละลายไปกับน้ำเลือด หากมีปัจจัยบางอย่างทำให้เกิดความผิดปกติและส่งผลให้มีการก่อตัวของลิ่มเลือดในหลอดเลือด การใช้ยาต้านการก่อตัวของลิ่มเลือด ที่เรียกว่า กลุ่มยา/ยา “ทรอมบิน อินฮิบิเตอร์(Thrombin inhibitor)” จะเข้ามามีบทบาทในการต่อต้านภาวะลิ่มเลือดก่อตัวผิดปกติดังกล่าว
กลไกหนึ่งที่ทำให้ลิ่มเลือดมีความแข็งแรง และไม่เกิดการละลายไปกับน้ำเลือด คือ การเปลี่ยนสารประเภทโปรตีนในน้ำเลือดที่มีชื่อว่า “ไฟบริโนเจน(Fibrinogen)” ไปเป็น”ไฟบริน(Fibrin)” ซึ่งไฟบริน จะมีลักษณะคล้ายเส้นใย และจะเข้ารวมตัวกับเกล็ดเลือดที่ปิดบริเวณบาดแผล ทำให้เกิดเป็นลิ่มเลือดที่มีความแข็งแรงและไม่ละลายไปกับน้ำเลือดได้ง่ายจนเกินไป กระบวนการสร้าง ไฟบริน จะเกิดขึ้นได้นั้นต้องอาศัยเอนไซม์ที่มีชื่อว่า ทรอมบิน(Thrombin) เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา การใช้ กลุ่มยาทรอมบิน อินฮิบิเตอร์ จะชะลอและต่อต้านการทำงานของทรอมบิน ส่งผลให้การก่อตัวของลิ่มเลือดหยุดลง
อาจแบ่งยากลุ่มทรอมบิน อินฮิบิเตอร์ ออกเป็นหมวดย่อยตามโครงสร้างของยา ดังนี้
1. Bivalent direct thrombin inhibitor: เป็นกลุ่มยาที่มีโครงสร้างเป็นกรดอะมิโนเรียงต่อกันเป็นโมเลกุลใหญ่ นักวิทยาศาสตร์ค้นพบสารกลุ่มนี้ในสัตว์ประเภทปลิง(Hirudo medicinalis) ยาBivalent direct thrombin inhibitor จะมีการออกฤทธิ์ที่โครงสร้างของทรอมบินถึง 2 ตำแหน่ง เราจึงเรียกยากลุ่มนี้ว่า Bivalent (Bi แปลว่า 2) ตัวยาในกลุ่มนี้ เช่น Hirudin, Bivalirudin, Lepirudin, และ Desirudin
2. Univalent direct thrombin inhibitor: เป็นกลุ่มยาที่มีโครงสร้างโมเลกุลเล็กกว่าพวก Bivalent การออกฤทธิ์ต่อทรอมบินมีเพียงตำแหน่งเดียว จึงเรียกยากลุ่มนี้ว่า Univalent (Uni แปลว่า 1 ) ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น Argatroban, Inogatran, Melagatran, Ximelagatran, และ Dabigatran
3. Allosteric inhibitors: ยาในกลุ่มนี้ยังอยู่ระหว่างงานศึกษาวิจัย และยังไม่พบเห็นการใช้ในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ทางคลินิก จะใช้ยากลุ่มทรอมบิน อินฮิบิเตอร์ มาบำบัดรักษาอาการโรคจากการก่อตัวของลิ่มเลือด เช่น ภาวะ/โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายจากหลอดเลือดหัวใจตีบ หรืออาการหัวใจขาดเลือด ตลอดจนกระทั่งใช้ในกระบวนการทำบอลลูนที่หลอดเลือดหัวใจ(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง หัวใจ: การซ่อมรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบ) ซึ่งการใช้ยาทรอมบินอินฮิบิเตอร์ กับผู้ป่วยแต่ละรายบุคคล มีความแตกต่างกันทั้งขนาดและระยะเวลาของการใช้ยา การจะเลือกใช้ยาตัวใดในการรักษาได้อย่างเหมาะสมนั้น ต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์แต่ผู้เดียว
อนึ่ง หากผู้บริโภคมีข้อซักถามเพิ่มเติมเกียวกับยากลุ่มทรอมบิน อินฮิบิเตอร์ ก็สามารถขอคำปรึกษาข้อมูลการใช้ยาดังกล่าวได้จากแพทย์ผู้ที่ตรวจรักษา หรือจากเภสัชกร ทั่วไปได้
ทรอมบิน อินฮิบิเตอร์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาทรอมบิน อินฮิบิเตอร์ เป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือด รวมถึงชะลอการก่อตัวของลิ่มเลือดที่เกิดความผิดปกติในการทำงาน ทางคลินิกมักจะนำยาในกลุ่มนี้มารักษาอาการป่วยที่มีลิ่มเลือดเป็นต้นเหตุ เช่น บำบัดอาการหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจตายด้วยหลอดเลือดหัวใจตีบ ตลอดจนใช้ในการขยายหลอดเลือดหัวใจเพื่อทำบอลลูน(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง หัวใจ: การซ่อมรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบ)
ทรอมบิน อินฮิบิเตอร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาทรอมบิน อินฮิบิเตอร์ มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ชื่อ ทรอมบินในน้ำเลือด จึงก่อให้เกิดการปิดกั้นการเปลี่ยนแปลงของสารประเภทไกลโคโปรตีน(Glycoprotein)ในน้ำเลือด ที่เรียกกันว่า ไฟบริโนเจน (Fibrinogen) ไปเป็นไฟบริน(Fibrin) เมื่อไม่มี ไฟบริน ไปรวมตัวกับเกล็ดเลือด จะทำให้การสร้างลิ่มเลือดยุติลงและส่งผลให้เลือดไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงอวัยวะสำคัญๆ เช่น หัวใจ ได้ตามปกติ ด้วยกระบวนการดังกล่าว จึงเป็นที่มาของสรรพคุณของยากลุ่มนี้
ทรอมบิน อินฮิบิเตอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาทรอมบิน อินฮิบิเตอร์ มีรูปแบบการจัดจำหน่าย โดยมีทั้งยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำและยารับประทาน ซึ่งจะมีขนาดยาแตกต่างกันในแต่ละตัวยาย่อย
ทรอมบิน อินฮิบิเตอร์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
การใช้ยาทรอมบิน อินฮิบิเตอร์แต่ละตัวยาย่อย มีความแตกต่างกันออกไป แพทย์จะเป็นผู้บริหารยา/ใช้ยากับผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัยที่สุดทั้งในการเลือกชนิดและขนาดของยาเหล่านั้น
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาทรอมบิน อินฮิบิเตอร์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริม อะไรอยู่ เพราะกลุ่มยาทรอมบิน อินฮิบิเตอร์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ และ/หรือกับอาหารเสริม ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
ทรอมบิน อินฮิบิเตอร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
กลุ่มยาทรอมบิน อินฮิบิเตอร์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร เลือดออกที่เหงือก เลือดออกในทางเดินอาหาร
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ เลือดออกในเนื้อสมอง เลือดออกในกะโหลกศีรษะ
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีผื่นคัน ลมพิษ
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ต่ำ มีอาการเจ็บหน้าอก กล้ามเนื้อหัวใจตาย
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดหลัง เจ็บหน้าอก
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เกิดโลหิตจาง มีอาการห้อเลือด
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น มีเลือดกำเดา ไอเป็นเลือด เลือดออกในปอด หายใจขัด/หายใจลำบาก
- ผลต่อตา: เช่น เลือดออกใต้เยื่อตา
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น กระสับกระส่าย
มีข้อควรระวังการใช้ทรอมบิน อินฮิบิเตอร์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาทรอมบิน อินฮิบิเตอร์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มนี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่อยู่ในภาวะตกเลือด หรือมีเลือดออกในอวัยวะต่างๆของร่างกาย
- กรณีเป็นยารับประทาน ห้ามแบ่งยานี้ให้ผู้อื่นรับประทาน และห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ระวังการใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
- ไม่ใช้ยานี้ที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก หรือ สียาเปลี่ยนไป
- เฝ้าระวังสัญญาณชีพและอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดขณะที่ให้ยากลุ่มนี้ ทางหลอดเลือด
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาทรอมบิน อินฮิบิเตอร์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ทรอมบิน อินฮิบิเตอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาทรอมบิน อินฮิบิเตอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ ยาBivalirudin ร่วมกับ ยาUrokinase อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่ายมากขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- หลีกเลี่ยงการใช้ ยาLepirudin ร่วมกับยาTipranavir ด้วยจะเสี่ยงต่อภาวะตกเลือด อย่างรุนแรง
- ห้ามใช้ ยาDabigatran ร่วมกับ ยา Ibuprofen เพราะจะทำให้เกิดภาวะเลือดออกในร่างกายอย่างรุนแรงตามมา
- หลีกเลี่ยงการใช้ ยาArgatroban ร่วมกับ ยา Alteplase ด้วยจะทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่ายมากขึ้นตามมา กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
ควรเก็บรักษาทรอมบิน อินฮิบิเตอร์อย่างไร
ควรเก็บยาทรอมบิน อินฮิบิเตอร์ตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
ทรอมบิน อินฮิบิเตอร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาทรอมบิน อินฮิบิเตอร์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Acova (อะโควา) | Abbott Laboratories |
Angiomax (แอนจิโอแมกซ์) | BenVenue Laboratories |
Refludan (รีฟลูดาน) | ZLB Behring GmbH |
Exanta (เอกแซนตา) | Vetter Pharma |
Pradaxa (พราดักซา) | Boehringer Ingelheim |
บรรณานุกรม
- http://www.si.mahidol.ac.th/department/biochemistry/home/md/lecture/hemostasis.pdf [2017,Nov25]
- http://www.si.mahidol.ac.th/department/biochemistry/home/md/lecture/Hemostasis_lecture_note.pdf [2017,Nov25]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Direct_thrombin_inhibitor [2017,Nov25]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Discovery_and_development_of_direct_thrombin_inhibitors#DTIs_inhibition [2017,Nov25]
- https://www.drugs.com/sfx/bivalirudin-side-effects.html [2017,Nov25]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/lepirudin-index.html?filter=3&generic_only= [2017,Nov25]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/actiprofen-with-dabigatran-1310-15143-3266-0.html [2017,Nov25]
- https://s3-us-west-2.amazonaws.com/drugbank/fda_labels/DB00006.pdf?1265922803 [2017,Nov25]
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2006/020807s011lbl.pdf [2017,Nov25]
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2000/20883lbl.pdf [2017,Nov25]