ถ่านกัมมันต์ (Activated charcoal)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาถ่านกัมมันต์ (Activated charcoal หรือ Activated carbon) คือ รูปแบบหนึ่งของธาตุคาร์บอน ที่นำมาผ่านการสังเคราะห์ทางเคมี (การปลุกฤทธิให้มีฤทธ์เพิ่มขี้น: Activated)ในกระบวนการผลิต แต่มักเรียกกันสั้นๆว่า ‘ถ่าน ’ ซึ่งเป็นคนละอันกับ ‘ถ่านฟืน’ ที่ใช้หุงต้มหรือให้ความร้อน

มนุษย์ได้นำถ่านกัมมันต์มาใช้ประโยชน์หลายอย่าง เช่น ใช้ฟอก/กรองอากาศในเครื่องปรับ อากาศตามบ้านหรือสำนักงาน ใช้ผลิตกาแฟชนิดที่ไม่มีกาเฟอีน ใช้สกัดสินแร่เช่น แร่ทองคำ ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตน้ำดื่ม ใช้กักเก็บแก๊สธรรมชาติในอุตสาหกรรมด้านพลังงาน ใช้เป็นไส้กรองของหน้ากากนิรภัยเพื่อกรองแก๊สพิษ และใช้ในอุตสาหกรรมยา

ลักษณะของถ่านกัมมันต์ จะมีอนุภาคเล็กๆหรือเป็นผงเม็ดเล็ก (Granule/แกรนูล) ที่ในตัวอนุภาคของผงถ่านกัมมันต์จะมีรูพรุน ซึ่งมีขนาดเล็ก-ใหญ่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าวัตถุประสงค์จะนำไปใช้กับอุตสาหกรรมประเภทใด

วงการแพทย์ได้นำถ่านกัมมันต์ มาใช้เพื่อดูดซับสารพิษที่มนุษย์รับประทานเข้าไป หรือ ดูดซับยาที่รับประทานเกินขนาด แต่ความสามารถดูดซับพิษของถ่านกัมมันต์ไม่ได้มีประสิทธิภาพครอบจักรวาล เพราะสารพิษหลายตัวก็ไม่สามารถใช้ถ่านกัมมันต์ดูดซับได้ เช่น กรดแก่ (Strong acid, กรดที่มีฤทธิ์ทำลายสูง) ด่างแก่ (Strong base, ด่างที่มีฤทธิ์ทำลายสูง) สารหนู (Arsenic) แอลกอฮอล์ (เช่น เมทานอล/Methanol, เอทานอล/Ethanol) ตัวทำละลาย (Organic solvent)ในอุตสาหกรรมต่างๆ (เช่น เอทิลีนไกลคอล/Ethylene glycol) หรือโลหะหนัก เช่น ธาตุเหล็กที่ปะปนอยู่ในสิ่งที่รับประทานเข้าไป

นอกจากจะใช้ยาถ่านกัมมันต์ในรูปแบบของยาเดี่ยวแล้ว ทางเภสัชกรรมยังมีการประยุกต์โดยนำถ่านกัมมันต์ไปผสมกับยาต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษา เช่น ผสมในยาลดกรด ยาช่วยย่อย ยาขับลม เป็นต้น

ยาถ่านกัมมันต์ไม่สามารถถูกดูดซึมจากกระเพาะอาหาร-ลำไส้เข้าสู่ร่างกายได้ จึงไม่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาการเผาผลาญในร่างกายแต่อย่างใด

ถ่านกัมมันต์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ถ่านกัมมันต์

ยาถ่านกัมมันต์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • แก้ท้องเสีย โดยดูดซับสารพิษที่รับประทานเข้าไป
  • ใช้เป็นส่วนผสมของ ยาลดกรด ยาช่วยย่อย ยาขับลม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา

ถ่านกัมมันต์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ด้วยยาถ่านกัมมันต์มีขนาดเล็กและมีพื้นที่ผิวสัมผัสมาก จึงมีคุณสมบัติ/กลไกการออกฤทธิ์ดูดซับสารพิษที่เข้าไปในระบบทางเดินอาหาร รวมไปถึงสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารและสำไส้ เช่น สารอะโรมาติก (Aromatic compound) เช่น เบนซีน (Benzene) เป็นต้น

นอกจากนี้ :

  • ยาถ่านกัมมันต์ยังสามารถขัดขวางฤทธิ์ของน้ำตาลซอร์บิทอล (Sorbital) ที่อาจอยู่ในอาหาร หรือผสมอยู่ในตำรับยา ซึ่งเป็นตัวการที่ดูดน้ำกลับเข้าในลำไส้ ที่จะกระตุ้นให้เกิดการขับถ่ายอันเป็นสาเหตุของท้องเสีย (ถ่านกัมมันต์จึงใช้แก้ท้องเสียได้)
  • และ ยาถ่านกัมมันต์ยังรบกวนการดูดกลับของกรดน้ำดีที่จะต้องส่งไปสู่อวัยวะตับ (The Enterohepatic Circulation of Bile Acids) มีผลให้ลดการดูดซึมของคอเลสเตอรอลเข้าสู่ร่างกายได้อีกด้วย

ถ่านกัมมันต์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาถ่านกัมมันต์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

ก. รูปแบบยาเดี่ยว:

  • ชนิดผง ขนาดบรรจุ 5 กรัม
  • ชนิดเม็ด ขนาดบรรจุ 250 มิลลิกรัม
  • ชนิดแค็ปซูล ขนาดบรรจุ 260 มิลลิกรัม

ข. รูปแบบยาผสม:

  • ประเภทแก้ท้องเสีย และยาขับลมชนิดเม็ด ขนาด 65, 100, 130, และ 300 มิลลิกรัม
  • ประเภทยาช่วยย่อยชนิดเม็ด ขนาด 75 และ 90 มิลลิกรัม

ถ่านกัมมันต์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ในบทความนี้จะขอกล่าวถึงขนาดรับประทาน ยาถ่านกัมมันต์เฉพาะในรูปแบบของยาเดี่ยวเท่านั้น ขนาดรับประทานแบบของยาผสม ขอให้ดูคำอธิบายในเอกสารกำกับยาของแต่ละยี่ห้อยา เป็นสำคัญ

ก. สำหรับการกลืนสารพิษที่ต้องใช้เครื่องมือและหัตถการทางการแพทย์เข้าช่วยเหลือ: มีขนาดการใช้ยา เช่น

  • ผู้ใหญ่: เช่น
    • ใช้ผงยา 25 – 100 กรัมผสมน้ำแล้วให้คนไข้ดื่มครั้งเดียว
    • การใช้ยาแบบชนิดต่อเนื่องหรือหลายครั้ง โดยใช้ผงยา 50 – 100 กรัมผสมน้ำให้คนไข้ดื่มในครั้งแรก แล้วตามด้วยการให้ยาไม่ต่ำกว่า 12.5 กรัมทุก 1 ชั่วโมง หรือให้ยา 25 กรัมทุก 2 ชั่วโมง หรือให้ยา 50 กรัมทุก 4 ชั่วโมง
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) : เช่น
    • เด็กอายุ 1 – 12 ปี (อายุ 13 - 14 ปี ใช้ขนาดยาเท่ากับในผู้ใหญ่) ใช้ยา 25 – 50 กรัมผสมน้ำแล้วให้คนไข้ดื่มครั้งเดียว, หรือคำนวณจากน้ำหนักตัวโดยผสมผงยา 0.5 – 1 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แล้วผสมน้ำให้คนไข้ดื่มครั้งเดียว
    • หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาต่อเนื่องหลายครั้ง ครั้งแรกใช้ยา 10 – 25 กรัมผสมน้ำให้คนไข้, มื้อถัดไปให้คำนวณจากน้ำหนักตัว โดยผสมผงยา 1 – 2 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมให้คนไข้ทุก 2 – 4 ชั่วโมง

ข. สำหรับอาการท้องเสีย และช่วยขับลมในกระเพาะลำไส้: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 0.975 – 3.9 กรัม โดยแบ่งรับประทานวันละ 3 ครั้ง
  • ในเด็ก: ควรต้องขึ้นกับคำแนะนำของแพทย์

*อนึ่ง:

  • ในการใช้ยาถ่านกัมมันต์ ขนาดและความถี่ของการใช้ยา ควรต้องอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น โดยเฉพาะในเด็ก

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาถ่านกัมมันต์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาถ่านกัมมันต์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประ เภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาถ่านกัมมันต์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ถ่านกัมมันต์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาถ่านกัมมันต์สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ได้ดังต่อไปนี้ เช่น

  • มีอาการ คลื่นไส้
  • ท้องผูก หรือ ท้องเสีย
  • อุจจาระมีสีดำ(ดำเป็นถ่าน)
  • ท้องอืด
  • ลำไส้อุดตัน
  • เกล็ดเลือดมีการเกาะกลุ่มรวมกัน (เลือดออกง่าย)
  • ตัวเย็น
  • น้ำตาลในเลือดต่ำ (อาการ เช่น หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออกมาก เป็นลม)
  • ปริมาณแคลเซียมในเลือดต่ำ (อาการชัก)
  • ความดันโลหิตต่ำ (หน้ามืด เป็นลม)
  • ฟันและปากมีสีคล้ำ
  • เกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ (อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย กล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อกะตุก) เป็นต้น

มีข้อควรระวังการใช้ถ่านกัมมันต์อย่างไร?

ข้อควรระวังในการใช้ยาถ่านกัมมันต์ เช่น

  • ห้ามใช้ยานี้ในการรักษากับผู้ป่วยที่กลืนสารพิษบางจำพวก เช่น
    • ไซยาไนด์
    • กรดแก่
    • ด่างแก่
    • ตัวทำละลายต่างๆ (Organic Solvent)
    • เกลือแร่/ธาตุเหล็ก
    • แอลกอฮอล์
    • สาร/ยาจำพวก ลิเทียม (Lithium)
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะลำไส้อุดตัน หรือผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร หรือในลำไส้
  • ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับยาถ่าย (ยาแก้ท้องผูก) ที่มีน้ำตาล Sorbitol เป็นส่วนประกอบ
  • ระวังการใช้ยานี้หลังรับประทานอาหารภายในเวลา 1 ชั่วโมง อาจทำให้การบีบตัวของกระ เพาะอาหาร-ลำไส้ลดลง จนทำให้การย่อยอาหารผิดปกติ
  • อาหารบางกลุ่มสามารถลดประสิทธิภาพในการรักษาของถ่านกัมมันต์ได้ เช่น นม ไอศกรีม จึงควรหลีกเลี่ยงไม่บริโภคร่วมกัน
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวม ยาถ่านกัมมันต์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ถ่านกัมมันต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ปฏิกิริยาระหว่างยาของยาถ่านกัมมันต์กับยาอื่นๆ เช่น

  • การใช้ยาถ่านกัมมันต์ร่วมกับการใช้ยารับประทานอื่นๆ ต้องปรับระยะเวลาของการรับประทานอย่างน้อย 1 ชั่วโมง ก่อนหรือหลัง การรับประทานยานั้นๆ ทั้งนี้ด้วยฤทธิ์ของถ่านกัมมันต์ สามารถรบกวนการดูดซึมของยารับประทานอื่นๆได้ ทุกชนิด เช่น
    • กลุ่มยาแก้ปวด ยาลดไข้ เช่นยา Acetaminophen/Paracetamol, Aspirin
    • กลุ่มยาต้านแบคทีเรีย (ยาปฏิชีวนะ) เช่นยา Doxycycline, Tetracycline
    • กลุ่มยารักษาโรคหัวใจ เช่นยา Digoxin
    • กลุ่มยาขยายหลอดลม เช่นยา Theophylline
    • ยารับประทานทุกชนิด

ควรเก็บรักษาถ่านกัมมันต์อย่างไร?

สามารถเก็บยาถ่านกัมมันต์ เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิห้อง
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด ป้องกันไม่ให้ถูกแสง/แสงแดด และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ถ่านกัมมันต์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาถ่านกัมมันต์ มียาชื่อการค้า และชื่อบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Belacid (เบลาซิด) Nakornpatana
Bicobon (ไบโคบอน) P P Lab
Biodan (ไบโอดาน) Biomedis
Carbomint (คาร์โบมินท์) Union Drug
Ca-R-Bon (คา-อาร์-บอน) Greater Pharma
Carbonpectate (คาร์บอนเพ็กเตท) Chew Brothers
Delta Charcoal (เดลต้า ชาร์โคล) Sriprasit Pharma
Deltacabon (เดลต้าคาบอน) Sriprasit Pharma
Greater Ca-R-Bon (เกรทเตอร์ คา-อาร์-บอน) Greater Pharma
Pepsitase (เปปซีเทส) B L Hua
Poly Enzyme-l (โพลี เอ็นไซน์-l ) Chew Brothers
Pro ABS (โพร เอบีเอส) Medicine Products
Ultracarbon X (อุลตร้าคาร์บอน เอ็ก) Merck

บรรณานุกรม

  1. https://www.mims.com/Thailand/drug/AdvancedSearch/ [2020,May23]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Activated_carbon [2020,May23]
  3. https://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fthailand%2fdrug%2finfo%2fcharcoal%2c%2bactivated%3fmtype%3dgeneric [2020,May23]
  4. https://www.nejm.org/doi/pdf/10.1056/NEJM197410032911401 [2020,May23]
  5. https://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fUSA%2fdrug%2finfo%2fcharcoal%2c%2520activated%2f%3ftype%3dfull%26mtype%3dgeneric [2020,May23]
  6. https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/charcoal-activated-oral-route/proper-use/drg-20070087 [2020,May23]
  7. http://mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fmims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fCa-R-Bon%2f%3fq%3dactivated%2520charcoal%26type%3dbrief [2020,May23]