ถุงเก็บอสุจิอักเสบ (Epididymitis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ถุงเก็บอสุจิอักเสบ (Epididymitis) คือ การอักเสบติดเชื้อของถุง/ท่อเก็บอสุจิที่ส่วนใหญ่มักเกิดจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่ส่งผลให้ถุงเก็บอสุจิ อักเสบ เจ็บ บวม แดง และอุ่น/ร้อนกว่าปกติ โดยอาจมีอาการทางปัสสาวะ และอาจร่วมกับมีน้ำอสุจิเป็นเลือดได้

ถุง/ท่อเก็บอสุจิ(Epididymis) เป็นอวัยวะสืบพันธ์ชาย มีลักษณะเป็นท่อขดขนาดยาวที่อยู่ติดต่อกับอัณฑะ โดยเป็นส่วนที่ใช้เก็บตัวอสุจิก่อนที่จะปล่อยเข้าสู่ท่อ/หลอดนำอสุจิที่จะปล่อยอสุจิออกจากอัณฑะเข้าสู่ท่อปัสสาวะต่อไป(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง กายวิภาคและสรีรวิทยาอวัยวะสืบพันธ์ชาย)

การอักเสบของถุงเก็บอสุจิ/ถุงหรือท่อเก็บอสุจิอักเสบ(Epididymitis) มักมีสาเหตุจากติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งที่พบบ่อยคือจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะ โรคหนองใน และโรคหนองในเทียมที่มีผลให้เกิดท่อปัสสาวะอักเสบ ซึ่งการอักเสบนี้พบเกิดได้ทั้งกับถุงเก็บอสุจิเพียงข้างเดียว หรือทั้ง2 ข้างพร้อมกัน

อนึ่ง การอักเสบของถุงเก็บอสุจิ

  • เมื่อถุงเก็บอสุจิอักเสบ โดยมีอาการไม่เกิน 6 สัปดาห์เรียกว่า “ถุงเก็บอสุจิอักเสบเฉียบพลัน” ที่มักเกิดจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • แต่ถ้ามีอาการเรื้อรังนาน 6 สัปดาห์ขึ้นไป เรียกว่า “ถุงเก็บอสุจิอักเสบเรื้อรัง” ที่มักเกิดจากการติดเชื้อวัณโรค
  • และถ้าการอักเสบนี้เกิดร่วมกับอัณฑะอักเสบ ซึ่งพบเกิดร่วมกันได้บ่อย จะเรียกว่า “Epididymo-orchitis”

ถุงเก็บอสุจิอักเสบพบเกิดได้ทั้งใน เด็ก ในผู้ใหญ่ไปจนถึงในผู้สูงอายุ โดยทั่วไปมักพบเป็นการอักเสบเฉียบพลัน ที่ประมาณ 40%พบในช่วงวัย 20-39 ปีซึ่งมักเป็นการติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, แต่การอักเสบที่พบในเด็กและในวัยอื่นๆ มักเป็นการติดเชื้อจากโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งรวมถึงต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อที่มักเกิดในวัยกลางคนขึ้นไป ทั้งนี้ในสหรัฐอเมริกามีรายงานพบโรคนี้ในแต่ละปีได้ 1 ในผู้ชาย 1,000 ราย ประมาณ 0.69% ของผู้ชายวัย 18-50ปี

ถุงเก็บอสุจิอักเสบมีสาเหตุจากอะไร?

ถุงเก็บอสุจิอักเสบ

ถุง/ท่อเก็บอสุจิอักเสบ มักมีสาเหตุจากถุงนี้ติดเชื้อแบคทีเรีย ที่พบบ่อยคือ การติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โดยเฉพาะ โรคหนองใน และ โรคหนองในเทียม

อาจพบจากการติดเชื้อที่ต่อเนื่องจากโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ ที่รวมถึง โรคต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อ แบคทีเรีย เช่นเชื้อ E.coli (Escherichia coli), Pseudomonas, Proteus, Enterobacter, Klebsiella, Staphylococcus หรือเชื้อที่ก่อให้เกิดถุงเก็บอสุจิติดเชื้อแบคทีเรียเรื้อรัง เช่น วัณโรค

นอกจากนั้น อาจพบถุงเก็บอสุจิอักเสบโดย’ไม่ติดเชื้อได้’ สาเหตุนี้พบน้อยมาก โดยมักเกิดจากผลข้างเคียงของยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยา Amiodarone ที่รักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดถุงเก็บอสุจิอักเสบอักเสบ?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดถุง/ท่อเก็บอสุจิอักเสบ ได้แก่

  • มีเพศสัมพันธ์ส่ำส่อน
  • มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก
  • มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยชาย
  • มีเพศสัมพันธ์กับผู้เพิ่งติดเชื้อ หรือเคยติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • มีประวัติเคยติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • ใส่คาสายสวนปัสสาวะ เช่น ในผู้ป่วยอัมพาต
  • ผู้เคยมีประวัติผ่าตัดรักษาโรคที่เกี่ยวกับอวันวะเพศชาย เช่น ผ่าตัดต่อม ลูกหมาก
  • มีโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ ซ้ำๆ บ่อยๆ เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อ
  • มีความพิการแต่กำเนิดของอวัยวะระบบทางเดินปัสสาวะ
  • ผู้ป่วยวัณโรคปอด
  • ผู้ป่วยใช้ยารักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่นยา Amiodarone

ถุงเก็บอสุจิอักเสบอักเสบมีอาการอย่างไร?

อาการของถุง/ท่อเก็บอสุจิอักเสบที่พบบ่อย ได้แก่

  • ปวด/เจ็บ และปวดหน่วง อัณฑะ/ถุงอัณฑะ อาจปวดน้อยหรือปวดมากก็ได้ โดยปวดในด้านที่มีอัณฑะอักเสบ
  • อาจมีอาการปวดท้องน้อยร่วมด้วย
  • อัณฑะ/ถุงอัณฑะ บวม โดยบวมในด้านที่มีอัณฑะอักเสบ อาจมีอาการ บวม แดง ร้อน ของถุงอัณฑะ บางครั้งอาจคลำได้ก้อนในถุงอัณฑะ/ที่อัณฑะ โดยก้อนนี้จะเจ็บเมื่อมีการคลำ
  • ปัสสาวะเป็นเลือด
  • ปวด เจ็บ เมื่อปัสสาวะ และ/หรือเมื่อมีเพศสัมพันธ์ และ/หรือเมื่อมีการหลั่งน้ำอสุจิ
  • ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะขัด
  • มีหนอง หรือสารคัดหลั่งจากปากท่อปัสสาวะ
  • อาจมีน้ำอสุจิเป็นเลือด
  • ต่อมน้ำเหลืองขาหนีบโต คลำได้ อาจโตข้างเดียวหรือ 2 ข้าง มักมีอาการเจ็บร่วมด้วย
  • อาการทั่วไปที่เช่นเดียวกับการอักเสบของอวัยวะอื่นๆ เช่น มีไข้ที่มักเป็นไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาจอาเจียน

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

เมื่อมีอาการดังกล่าวใน’หัวข้ออาการฯ’ และอาการไม่ดีขึ้นหลังดูแลตนเองภายใน 1-2 วัน ควรต้องรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ แต่เมื่อมีอาการมากโดยเฉพาะอาการปวดอัณฑะมาก อาจร่วมกับบวม/เป็นก้อน ต้องรีบมาโรงพยาบาลทันที เพราะอาจเป็นอาการของอัณฑะบิดตัว /อัณฑะบิดขั้ว(Testicular torsion)ที่ต้องได้รับการรักษารีบด่วนด้วยการผ่าตัด

แพทย์วินิจฉัยถุงเก็บอสุจิอักเสบอักเสบได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยถุง/ท่อเก็บอสุจิอักเสบ ได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ การเป็นผู้มีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวในหัวข้อ” ปัจจัยเสี่ยงฯ” ประวัติการสัมผัสโรค เช่น ประวัติเพศสัมพันธ์ ประวัติโรคประจำตัว ประวัติการใช้ยาต่างๆ
  • การตรวจร่างกาย การตรวจคลำอัณฑะ/ถุงอัณฑะและอวัยวะเพศ
  • การตรวจทางทวารหนักกรณีสงสัยสาเหตุจากโรคของต่อมลูกหมาก
  • การตรวจเลือด ดูCBC, ดูสารภูมิต้านทาน, และ/หรือสารก่อภูมิต้านทานของโรคที่แพทย์สงสัยว่าอาจเป็นสาเหตุ
  • การตรวจปัสสาวะ
  • การตรวจเชื้อ/การเพาะเชื้อจากปัสสาวะและจากสารคัดหลั่ง
  • และอาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม ตามอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจภาพอัณฑะด้วยอัลตราซาวด์

รักษาถุงเก็บอสุจิอักเสบอักเสบอย่างไร?

แนวทางการรักษาถุง/ท่อเก็บอสุจิอักเสบ คือ การรักษาสาเหตุ และการรักษาประคับประคองตามอาการ

ก. การรักษาสาเหตุ: จะเป็นการรักษาที่ต่างกันในผู้ป่วยแต่ละรายตามแต่สาเหตุที่ต่างกัน เช่น

  • การให้ยาปฏิชีวนะกรณีเกิดจากอัณฑะอักเสบจากติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น จากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือจากโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ หรือจากต่อมลูกหมากอัเสบติดเชื้อ
  • การหยุดยานั้นๆเมื่อการอักเสบเกิดจากผลข้างเคียงของยานั้นๆ
  • กรณีอัณฑะอักเสบมากจนเกิดเป็นหนอง การรักษาอาจต้องเป็นการผ่าตัดเพื่อระบายหนองออก
  • การผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติแต่กำเนิดของอวัยวะระบบทางเดินปัสสาวะกรณีสาเหตุเกิดจากความผิดปกติของอวัยวะในระบบทางเดินปัสสาวะแต่กำเนิด

ข. การรักษาประคับประคองตามอาการ: ซึ่งเป็นการรักษาเหมือนกันในผู้ป่วยทุกราย เช่น

  • การให้ยาแก้ปวด/ ยาลดไข้ Paracetamol หรือยาในกลุ่ม NSAIDs
  • ยาแก้คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น

ถุงเก็บอสุจิอักเสบอักเสบมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

โดยทั่วไป ถุง/ท่อเก็บอสุจิอักเสบ มีการพยากรณ์โรคที่ดี สามารถรักษาหายได้ แต่โรคสามารถย้อนกลับเป็นซ้ำได้เสมอ ถ้ากลับไปสัมผัสโรคอีก นอกจากนั้น ยังไม่มีรายงานของโรคนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งอัณฑะ

มีผลข้างเคียงจากถุงเก็บอสุจิอักเสบอักเสบอย่างไร?

โดยทั่วไปไม่มีผลข้างเคียงจากถุง/ท่ออัณฑะอักเสบ แต่มีรายงานในผู้ป่วยที่มีอัณฑะอักเสบร่วมด้วย อาจพบภาวะมีบุตรยากจากการเกิดอัณฑะฝ่อตามมาได้

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อมีอัณฑะอักเสบหลังพบแพทย์แล้ว คือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วนถูกต้อง ไม่หยุดยาเอง
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้สุขภาพแข็งแรง ร่างกายฟื้นตัวจากโรคได้รวดเร็ว
  • งดเพศสัมพันธ์จนกว่าจะหายดี
  • ประคบเย็นเป็นระยะๆที่อัณฑะ/ถุงอัณฑะเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดอัณฑะ
  • สวมใส่ชุดช่วยพยุงอัณฑะ(เหมือนในโรคไส้เลื่อน)เพื่อช่วยประคองถุงอัณฑะ ลดอาการปวด/เจ็บ/ปวดหน่วงอัณฑะ
  • ไม่สำส่อนทางเพศ
  • มีเพศสัมพันธ์โดยใช้ถุงยางอนามัยชายทุกครั้งเพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • ไม่ใช้ยาพร่ำเพื่อ หรือซื้อยาต่างๆใช้เองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ และ/หรือเภสัชกรประจำร้านขายยา เพื่อลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากยาต่างๆ
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ

  • อาการต่างๆแย่ลง เช่น ปวด/เจ็บอัณฑะมากขึ้น
  • กลับมามีอาการที่รักษาหายแล้ว เช่น มีไข้ มีสารคัดหลั่งจากปากท่อปัสสาวะ ปัสาวะป็นเลือด
  • มีอาการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น คลำได้ก้อนเนื้อในถุงอัณฑะหรือที่อัณฑะ
  • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นผื่น ท้องเสียมาก
  • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันถุงเก็บอสุจิอักเสบอักเสบได้อย่างไร?

ป้องกันถุงเก็บอสุจิอักเสบอักเสบได้โดย

  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้สุขภาพกาย สุขภาพจิต แข็งแรง
  • พักผ่อนให้มากๆ ให้เพียงพอ
  • ไม่สำส่อนทางเพศ
  • ใช้ถุงยางอนามัยชายทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์เพื่อป้องกันโรคติดต่อทาง เพศสัมพันธ์
  • ไม่ดื่นสุรา/เครื่องดื่มมีแอลกอฮฮล์ เพราะจะครองสติไม่อยู่ที่จะก่อให้เกิดการมีเพศสัมพันธ์ที่เสี่ยงต่อการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • ไม่ใช้ยาพร่ำเพื่อ หรือซื้อยาต่างๆใช้เองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ และ/หรือเภสัชกรประจำร้านขายยา เพื่อลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากยาต่างๆ
  • เมื่อมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะต้องรีบรักษา/พบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
  • รู้จักการดูแลตนเองเมื่อต้องใส่คาสายสวนปัสสาวะ(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “การดูแลผู้ใส่คาสายสวนปัสสาวะเมื่ออยู่บ้าน”

บรรณานุกรม

  1. Teylor,S. Clinical Infectious Diseases.2015;61(Suppl8): s770-s773
  2. Trojian, T. et al. Am Fam Physician. 2009;79(7):583-587
  3. http://emedicine.medscape.com/article/436154-overview#showall [2019, March2]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Epididymitis [2019, March2]
  5. https://www.cdc.gov/std/tg2015/epididymitis.htm [2019, March2]