ถุงยางอนามัยชายก็ดีหญิงก็ได้ (ตอนที่ 4)

ถุงยางอนามัยชายก็ดีหญิงก็ได้-4

      

วิธีการใส่เข้าและถอดถุงยางอนามัยชาย

o ฉีกซองบรรจุภัณฑ์ด้วยความระมัดระวังเพื่อป้องกันการฉีกขาด และนำถุงยางอนามัยออกจากซอง

o สวมถุงยางอนามัยในขณะที่อวัยวะเพศชายแข็งตัวเต็มที่ โดยวางถุงยางอนามัยไว้ที่ปลายองคชาติ กรณีที่ไม่ได้มีการขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชายออก (Uncircumcised) ให้ดึงหนังหุ้มปลายองคชาติก่อน

o รีดลมออกจากปลายกะเปาะถุงยางอนามัยเพื่อไล่อากาศด้านในออก ซึ่งจะช่วยป้องกันถุงยางอนามัยหลุดระหว่างการใช้งาน

o ค่อยๆ รูดม้วนถุงยางอนามัยจนถึงโคนอวัยวะเพศ

o หากพบว่าใส่ถุงยางอนามัยไม่ถูกต้อง ให้เปลี่ยนอันใหม่เลยเพราะอาจมีน้ำอสุจิตกค้างอยู่ที่ถุงยางอนามัยเก่า ซึ่งอาจทำให้มีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์ได้

o หลังการมีเพศสัมพันธ์ให้รีบถอดถุงยางอนามัยในขณะที่อวัยวะเพศชายยังแข็งตัวอยู่ โดยจับส่วนฐานของถุงยางอนามัยและค่อยๆ นำอวัยวะเพศออกจากร่างกายของอีกฝ่ายอย่างระมัดระวัง เพราะน้ำอสุจิอาจหกหรือไหลออกมาได้

o ใช้กระดาษทิชชู่ห่อถุงยางอนามัยแล้วนำไปทิ้งถังขยะ อย่าทิ้งในชักโครกเพราะจะทำให้ท่ออุดตัน

กรณีที่ใช้สารหล่อลื่น ให้ทาด้านนอกถุงยางอนามัยหรือที่ช่องคลอด อย่าทาที่อวัยวะเพศชายหรือด้านในถุงยางอนามัยเพราะอาจทำให้ถุงยางอนามัยลื่นหลุดได้

ถุงยางอนามัยสตรี (Female condom / internal condom) เป็นสิ่งที่ใช้กันอสุจิไม่ให้เข้าไปในมดลูก ป้องกันไม่ให้เกิดการตั้งครรภ์และการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มีลักษณะเป็นกระเป๋าหลวม (Loosefitting pouch) ทำจากยางสังเคราะห์ (Synthetic latex) เพื่อป้องกันผู้ใช้ที่แพ้ยางธรรมชาติ จึงทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องความชื้นหรืออุณหภูมิในการเก็บรักษามากเท่าถุงยางอนามัยชาย

มีการหล่อลื่นด้วยสารหล่อลื่นชนิดซิลิโคน (Silicone-based lubricant) โดยมีวงแหวน 2 ด้าน ด้านหนึ่งเป็นปลายเปิดและอีกด้านหนึ่งเป็นปลายปิด วงแหวนปลายปิดจะถูกสอดเข้าไปในอวัยวะเพศหญิง และปลายเปิดของถุงยางจะอยู่ที่บริเวณปากอวัยวะเพศ เพื่อให้ถุงยางอนามัยอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมและง่ายต่อการถอดทิ้งหลังใช้งาน

ผู้หญิงสามารถใส่ถุงยางอนามัยสตรีได้ล่วงหน้า 8 ชั่วโมงก่อนการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งต่างจากถุงยางอนามัยชายที่ต้องรออวัยวะเพศแข็งตัว อย่างไรก็ดี ถุงยางอนามัยสตรีอาจก่อให้เกิดความไม่สบายระหว่างการสอดใส่ มีอาการแสบร้อน คัน หรือเป็นผื่นแดงได้

จากสถิติพบว่า ถุงยางอนามัยสตรีใช้ป้องกันได้ผลร้อยละ 79 ซึ่งมีประสิทธิภาพน้อยกว่าถุงยางอนามัยชาย ทั้งนี้อาจมีสาเหตุจากการที่

• ถุงยางอนามัยฉีกขาด

• ถุงยางอนามัยลื่นไหลออกจากช่องคลอด

• อวัยวะเพศชายไม่อยู่ตรงกลางของถุงยางอนามัยสตรี

• วงแหวนรอบนอกของถุงยางอนามัยถูกดันเข้าไปในช่องคลอดระหว่างการมีเพศสัมพันธ์

แหล่งข้อมูล:

  1. CONDOMS - HOW TO USE A MALE CONDOM. https://www.avert.org/sex-stis/safer-sex-hiv/condoms [2020, March 16].
  2. Female condom. https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/female-condom/about/pac-20394129 [2020, March 16].
  3. Condom Effectiveness. https://www.cdc.gov/condomeffectiveness/index.html [2020, March 16].