ถุงยางอนามัยชายก็ดีหญิงก็ได้ (ตอนที่ 2)
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 15 มีนาคม 2563
- Tweet
สำหรับการใช้ถุงยางอนามัย ควรใช้ให้ถูกต้องและปลอดภัยด้วย 4 ขั้นตอนง่ายๆ คือ “เลือก เก็บ ใช้ ทิ้ง”
1. เลือก ให้ถูกไซส์ หากเลือกผิดอาจจะทำให้ถุงยางอนามัยฉีกขาดหรือหลุดได้ง่าย ตรวจดูวันผลิตหรือวันหมดอายุก่อนทุกครั้ง และมีเครื่องหมายมาตรฐาน อย.
2. เก็บ ให้ถูกวิธี ไม่ควรเก็บถุงยางอนามัยในที่มีความชื้นสูง อากาศร้อน เพราะอาจเสื่อมคุณภาพ ไม่ควรไว้ในกระเป๋าสตางค์หรือกระเป๋ากางเกงด้านหลัง เพราะอาจฉีกขาดได้ง่าย ควรเก็บในจุดที่สามารถหยิบใช้งานได้ง่ายและสะดวก
3. ใช้ ให้ถูกวิธี เมื่อมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง ทุกคน ทุกช่องทาง โดยระมัดระวังการฉีกซองอย่าให้เล็บสะกิดถุงยางอนามัย เพราะอาจฉีกขาด จากนั้นให้บีบปลายถุงไล่ลมก่อนใส่เสมอ และสวมถุงยางอนามัยขณะที่อวัยวะเพศแข็งตัว บีบปลายถุงขณะสวมแล้วรูดให้สุดโคน และ
4. ทิ้ง ให้ปลอดภัย ซึ่งสำคัญที่สุด เมื่อเสร็จกิจให้รีบถอดถุงยางอนามัยออก โดยใช้นิ้วสอดเข้าในขอบถุงหรือใช้กระดาษทิชชู่ห่อแล้วรูดออก จากนั้นทิ้งลงถังขยะให้มิดชิด ไม่ควรทิ้งลงชักโครกหรือในแม่น้ำ ลำคลอง เด็ดขาด
นายแพทย์อัษฎางค์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การป้องกันเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ให้มีประสิทธิภาพที่สุด คือการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ นับเป็นวิธีที่ทำได้ง่ายและมีความรับผิดชอบต่อคู่รักและตัวเราเองได้ง่ายที่สุดและปลอดภัยจากโรคต่างๆ อีกด้วย สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
ถุงยางอนามัย (Condoms) สามารถช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ และช่วยลดความเสี่ยงในการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually transmitted diseases = STDs) ซึ่งรวมถึงการติดเชื้อเฮชไอวี (Human immunodeficiency virus = HIV) และ ไวรัสตับอักเสบ (Viral hepatitis) และโรคอื่นๆ ที่ติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ได้ เช่น ไวรัสซิก้า (Zika) และ อีโบล่า (Ebola) เป็นต้น
ถุงยางอนามัยมักทำจากน้ำยางธรรมชาติ (Latex) แต่ก็มีบางชนิดที่ทำจากโพลียูรีเทน (Polyurethane) หรือหนังลูกแกะ (Lambskin) โดยถุงยางอนามัยที่ทำจากน้ำยางธรรมชาติและโพลียูรีเทนจะใช้ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ดีกว่า
ถุงยางอนามัยจะไม่มีผลข้างเคียงมากเหมือนที่พบในรูปแบบอื่นของการคุมกำเนิด เช่น การกินยาคุม การฉีดยาคุม การใส่ห่วงคุมกำเนิด (Intrauterine device = IUD) อย่างไรก็ดี ถุงยางอนามัยที่ทำจากยางอาจทำให้เกิดปฏิกิริยาในผู้ที่แพ้ยางได้ เช่น เป็นผื่นแดง ลมพิษ คัดจมูกน้ำมูกไหล หรือหายใจไม่ออก ซึ่งในกรณีเช่นนี้ก็สามารถใช้ถุงยางอนามัยที่ทำจากโพลียูรีเทนหรือหนังลูกแกะแทน
ปัจจุบันถุงยางอนามัยมีทั้งแบบผู้ชายและแบบผู้หญิง โดยถุงยางอนามัยชาย (Male condom) ใช้สวมอวัยวะเพศชาย (Penis) ในขณะที่ถุงยางอนามัยสตรี (Female condom) ใช้ใส่เข้าไปในช่องคลอด (Vagina)
แหล่งข้อมูล:
- กรมควบคุมโรค เผยการป้องกันเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ดีที่สุด คือการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์. https://ddc.moph.go.th/brc/news.php?news=11367&deptcode=brc&news_views=750[2020, March 14].
- Male condom. https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/condoms/about/pac-20385063 [2020, March 14].
- Condoms-Your contraception guide. https://www.nhs.uk/conditions/contraception/male-condoms/ [2020, March 14].