“ต้อหิน” ตรวจก่อน เจอก่อน ตาไม่บอด (ตอนที่ 5)
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 8 กุมภาพันธ์ 2556
- Tweet
จักษุแพทย์จะประเมินอาการดูว่าต้อหินทำลายตาไปรุนแรงมากน้อยเท่าไรโดยใช้เครื่องวัดต่อไปนี้
- การตรวจสายตาโดยใช้ออพธัลโมสโคป (Ophthalmoscopy) เพื่อดูโครงสร้างภายในลูกตา เครื่องนี้ใช้ตรวจดู บริเวณประสาทตา ว่าถูกทำลายไปแค่ไหน คนที่ประสาทตาถูกทำลายไปเพราะต้อหินจะสูญเสียการมองเห็นด้านข้างด้วย
- การตรวจดูมุมตาด้วยเลนส์สัมผัสพิเศษ (Gonioscopy) เป็นการตรวจที่นิยมใช้มากในการประเมินขั้นต้นเมื่อสงสัยว่าเป็นต้อหิน
- การตรวจวัดความดันลูกตา (Tonometry) เป็นการใช้เครื่องมือเป่าลมที่กระจกตา เพื่อดูการไหลเวียนของน้ำในลูกตา ความดันลูกตาโดยปกติจะอยู่ระหว่าง 10 - 21 มิลลิเมตรปรอท (mm Hg = millimeters of mercury) คนที่เป็นต้อหินจะมีค่าความดันสูงกว่าระดับนี้
- การตรวจตาด้วย Slit lamp โดยใช้ขยายดูภาพตาทุกส่วน (การตรวจแบบ Gonioscopy และ Tonometry ถือเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจ Slit lamp)
- การวัดสายตา (Vision test) แยกเป็น
- การวัดความคมชัด (Visual acuity) ซึ่งเป็นการวัดความสามารถในการมองเห็นว่าชัดแค่ไหน และ
- การตรวจวัดลานสายตา (Visual field testing / Perimetry testing) ซึ่งเป็นการตรวจว่าตาสูญเสียการมองเห็นด้านข้างและการมองเห็นตรงกลาง
- การวัดความคมชัดใช้ในการประเมินว่าต้อหินได้ทำลายประสาทตาไปแล้วขนาดไหน วิธีนี้เป็นการตรวจที่ดีที่สุดของการประเมินความเสียหายที่เกิดจากต้อหินมุมเปิด ส่วนการตรวจวัดลานสายตา มักใช้เป็นการตรวจเพื่อติดตามผลของต้อหินด้วย เนื่องจากเป็นการตรวจที่มีค่าใช้จ่ายสูงและใช้เวลาในการตรวจนาน จึงไม่ใช้ในกรณีคัดกรองทั่วไปเหมือนการตรวจแบบอื่น
- การวัดความหนาของกระจกตา (Cornea thickness) โดยอัลตร้าซาวด์ เนื่องจากกระจกตาหนามักเกิดควบคู่กับการมีความดันในลูกตา วิธีตรวจนี้จึงใช้ดูความเสี่ยงของการเป็นของต้อหินได้
หลังจากที่มีการวิเคราะห์ว่าเป็นต้อหิน จะมีการตรวจตาเป็นประจำ (รวมถึงการตรวจวัดความดันลูกตาและการตรวจสายตาโดยใช้ออพธัลโมสโคป) เพื่อควบคุมโรค การตรวจลานสายตามักทำปีละครั้งหากพบว่าเป็นต้อหินมุมเปิด
คนที่เป็นต้อหินอาจจะมีความดันลูกตาที่ปกติ ดังนั้นการวัดความดันลูกตา (Tonometry) อาจจะไม่ใช่วิธีเดียวที่ใช้ตรวจหาต้อหิน ควรใช้วิธีอื่นตรวจสอบด้วย
วิทยาลัยจักษุวิทยาของอเมริกัน (American Academy of Ophthalmology : AAO) ได้แนะนำว่าผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ควรได้รับการตรวจสายตาอย่างละเอียดทุก 5 - 10 ปี และควรตรวจเป็นประจำเมื่อมีอายุดังนี้
- อายุ 40 – 54 ปี ตรวจทุก 1 - 3 ปี
- อายุ 55 – 64 ปี ตรวจทุก 1 - 2 ปี
- อายุ 65 ปี ขึ้นไป ตรวจทุก 6 - 12 เดือน
แหล่งข้อมูล
- Glaucoma - Exams and Tests. http://www.webmd.com/eye-health/tc/glaucoma-exams-and-tests [2013, February 7].