ต่อมน้ำเหลืองเซนทิเนล (Sentinel lymph node)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 6 มีนาคม 2563
- Tweet
- ระบบน้ำเหลือง (Lymph system)
- มะเร็ง (Cancer)
- มะเร็งเต้านม (Breast cancer)
- โรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา มะเร็งไฝ (Cutaneous melanoma)
- มะเร็งอวัยวะเพศหญิง (Vulvar cancer)
ต่อมน้ำเหลืองเซนทิเนล(Sentinel lymph node) คือ ต่อมน้ำเหลืองกลุ่มแรกที่รับน้ำเหลืองจากเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่เกี่ยวข้อง บางคนเรียกว่าเป็นยามด่านแรก ซึ่งเมื่อต่อมน้ำเหลืองเซนทิเนลรับน้ำเหลืองแล้ว จึงจะส่งต่อไปยังต่อมน้ำเหลืองอื่นๆ ทั้งนี้ต่อมน้ำเหลืองเซนทิเนลมีอยู่ในทุกเนื้อเยื่อ/อวัยวะ เช่น เต้านม จะมีต่อมน้ำเหลืองเซนทิเนลอยู่ในรักแร้ด้านเดียวกับรอยโรค, ต่อมน้ำเหลืองอวัยวะเพศหญิงจะมีต่อมน้ำเหลืองเซนทิเนลอยู่ที่ขาหนีบทั้ง 2 ข้าง, แผลที่เท้าและขา จะมีต่อมน้ำเหลืองเซนทิเนลที่ขาหนีบด้านเดียวกับรอยโรค, แต่ทั้งนี้ เนื้อเยื่อ/อวัยวะบางชนิด อาจมีต่อมน้ำเหลืองเซนทิเนลได้หลายตำแหน่ง เช่น ปากมดลูก และอัณฑะ เป็นต้น
อนึ่ง คำว่า ‘เซนทิเนล(Sentinel)’ หลายท่านเชื่อว่า นามีรากศัพท์มาจากภาษาลาติน หรือ ภาษาอิตาลี ที่หมายความถึง แมวมอง หรือ ผู้มีมีความไวในการตอบรับสิ่งต่างๆรวมถึงโรคต่างๆและเชื้อโรค
*ประโยชน์ของต่อมเซนทิเนลในโรคมะเร็งอยู่ที่แพทย์ใช้ช่วยในการรักษาโรคมะเร็ง กล่าวคือ ถ้าตรวจพบว่า ยังไม่มีเซลล์มะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองเซนทิเนล ‘แพทย์สามารถให้การรักษาโดยผ่าตัดเฉพาะรอยโรคแต่เพียงอย่างเดียว ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองออกทั้งหมด’ เพราะการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองออกทั้งหมด ผลข้างเคียงสำคัญ คือ อาการบวมของเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่เกี่ยวข้องกับต่อมน้ำเหลืองส่วนที่ผ่าตัดออก จากมีการคั่งของน้ำเหลืองเพราะไม่มีตัวรองรับน้ำเหลืองกลับเข้าสู่หลอดเลือดดำ
ในทางปฏิบัติ ที่ใช้ได้ผลและยอมรับเป็นมาตรฐานแล้วในปัจจุบัน คือ การรักษามะเร็งเต้านมโดยเฉพาะในโรคระยะ1และ2 (ระยะ 3 โรคมักลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองรักแร้ทั่วไปแล้ว การรักษาจึงจำเป็นต้องผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองรักแร้ร่วมด้วย) โดยการตรวจต่อมน้ำเหลืองเซนติเนลรักแร้ด้านเดียวกับรอยโรค ถ้ายังไม่พบมีเซลล์มะเร็งลุกลาม แพทย์ก็จะไม่ผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองรักแร้ด้านนั้น ส่งผลให้ลดโอกาสเกิดแขนบวมหลังผ่าตัดได้สูงโดยยังคงอัตราควบคุมโรคได้เช่นเดียวกับผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองรักแร้ออกทั้งหมด
ปัจจุบัน ในการรักษามะเร็งไฝ(มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา) และ มะเร็งอวัยวะเพศหญิง แพทย์หลายกลุ่มก็เชื่อว่า ถ้าตรวจไม่พบเซลล์มะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองเซนทิเนล ก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองเฉพาะที่ใกล้รอยโรคออกทั้งหมด
ส่วนในโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ การตรวจต่อมน้ำเหลืองเซนทิเนลก่อนการผ่าตัดก้อนมะเร็ง ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาทางการแพทย์ว่า ผู้ป่วยจะได้รับประโยชน์หรือไม่ อย่างไร
บรรณานุกรม:
- https://en.wikipedia.org/wiki/Sentinel_lymph_node[2020,Feb29].
- https://www.vocabulary.com/dictionary/sentinel [2020,Feb29].