ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ (ตอนที่ 1)
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 29 ตุลาคม 2562
- Tweet
แพทย์แนะวิธีดูอาการต่อมน้ำเหลืองอักเสบ อาจมีอาการคล้ายกับปัญหาสุขภาพอื่นๆ และเป็นได้ทุกเพศทุกวัย ระวังไม่ให้ติดเชื้อหรือเกิดบาดแผลเพื่อป้องกัน
นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์ กล่าวว่า ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ คือภาวะที่ต่อมน้ำเหลืองเกิดการอักเสบและบวมขึ้นจนมีขนาดใหญ่กว่าปกติ อาจเกิดบริเวณเดียวหรือหลายบริเวณพร้อมกัน อาจเป็นกับร่างกายซีกเดียวหรือ 2 ซีก มีทั้งแบบเฉียบพลัน กึ่งเฉียบพลัน และเป็นเรื้อรังจนต้องรักษาในระยะยาว
นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อว่า ต่อมน้ำเหลืองอักเสบสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อของเนื้อเยื่อหรืออวัยวะต่างๆ การอักเสบของช่องปากและช่องคอจากเชื้อแบคทีเรีย โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีแผลและการอักเสบของเท้า ขาอวัยวะเพศ หรือต่อมน้ำเหลืองติดเชื้อโดยตรง ทำให้มีการอักเสบโตหลายต่อมพร้อมกัน เช่น วัณโรคต่อมน้ำเหลือง ผลข้างเคียงจากการใช้ยาหรือการแพ้ยาบางชนิด หรืออาจไม่ทราบสาเหตุการเกิด
ด้าน นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการของต่อมน้ำเหลืองอักเสบขึ้นอยู่กับสาเหตุและบริเวณที่เป็น อาการหลักๆ ที่พบคือ ต่อมน้ำเหลืองบวมโต กดแล้วเจ็บ เกิดการแข็งตัวหรือขยายตัวผิดปกติผิวหนังบริเวณที่อักเสบแดงหรือบวม มีหนองในต่อมน้ำเหลืองอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีไข้ คัดจมูก เจ็บ คอ แขน หรือขาบวม มีเหงื่อออกขณะนอนหลับ เป็นสิวหรือมีแผลอักเสบบริเวณใบหน้า ฟันผุหรือเหงือกอักเสบ
ทั้งนี้ อาการที่เกิดร่วมกับต่อมน้ำเหลืองอักเสบจะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยสาเหตุได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อการรักษาเพราะภาวะต่อมน้ำเหลืองโตอาจมีอาการคล้ายกับปัญหาสุขภาพอื่นๆ จึงควรรีบพบแพทย์หากเกิดอาการเหล่านี้
นายแพทย์สมเกียรติ ได้แนะนำถึงวิธีป้องกันต่อมน้ำเหลืองอักเสบว่า ให้รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ดูแลรักษาความสะอาดผิวหนัง เล็บ ช่องปาก และระวังไม่ให้เกิดการติดเชื้อหรือเกิดบาดแผล ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมอย่างถูกวิธี หลีกเลี่ยงการใช้ยาโดยไม่จำเป็นหรือไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ (Lymphadenitis) เป็นภาวะการบวมอักเสบของต่อมน้ำเหลืองที่อาจเกิดขึ้นที่ต่อมเดียวหรือหลายต่อม มักเกิดจากการติดเชื้อจากอวัยวะส่วนอื่นของร่างกายมายังต่อมน้ำเหลือง
ต่อมน้ำเหลืองเป็นต่อมเล็กมีรูปรีคล้ายถั่ว มีขนาดเล็ก ประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร ในร่างกายเราจะมีต่อมน้ำเหลืองอยู่ประมาณ 600 ต่อม มีทั้งที่อยู่ลึกในเนื้อเยื่อและอยู่ผิวๆ ตามจุดต่างๆ เช่น ใต้ขากรรไกร ใต้แขน ขาหนีบ ช่องท้อง เป็นต้น
ปกติต่อมน้ำเหลืองจะมีลักษณะเล็กและแน่น ประกอบด้วยเซลล์เม็ดเลือดขาว (White blood cells - WBCs) ที่คอยช่วยร่างกายต่อสู้กับเชื้อโรค เมื่อต่อมน้ำเหลืองมีการติดเชื้อ จะมีขนาดใหญ่ขึ้นและบวม
การติดเชื้อจากอวัยวะส่วนอื่นของร่างกายมายังต่อมน้ำเหลืองมักเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส หรือเชื้อรา นอกจากนี้ โรคมะเร็งก็สามารถเป็นสาเหตุให้ต่อมน้ำเหลืองอักเสบได้ เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia) และ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma)
แหล่งข้อมูล:
- ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ โรคที่เป็นได้ทุกเพศ ทุกวัย. https://www.thaihealth.or.th/Content/50291-ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ%20โรคที่เป็นได้ทุกเพศ%20ทุกวัย.html [2019, October 29].
- Lymphadenitis. https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/lymphadenitis [2019, October 29].
- Lymph Node Inflammation (Lymphadenitis). https://www.healthline.com/health/lymphadenitis [2019, October 29].
- Swollen Lymph Nodes. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/15219-swollen-lymph-nodes [2019, October 29].