ต่อมน้ำลายอักเสบ (Sialadenitis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

ต่อมน้ำลายอักเสบ (Sialadinitis หรือ Sialoadenitis) คือโรคที่เกิดจากเซลล์ต่อมน้ำลายเกิดการอักเสบ(Inflammation of salivary gland) ซึ่งอาจเกิดจาก

  • การอักเสบชนิดติดเชื้อ เช่น อักเสบติดเชื้อไวรัส หรือ แบคทีเรีย หรือ
  • ส่วนที่พบน้อยกว่า เกิดจากการอักเสบชนิดไม่ติดเชื้อ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากโรคออโตอิมมูน /โรคภูมิต้านตนเอง

อนึ่ง: ต่อมน้ำลายอักเสบแบ่งตามระยะเวลาเกิดได้เป็น2ชนิด คือ

  • เมื่อต่อมน้ำลายอักเสบเกิดอย่างรวดเร็วภายใน 1-2สัปดาห์ และรักษาหายได้ภายในประมาณ1เดือน โดยอาการมักรุนแรง เรียกว่าเป็น ‘ต่อมน้ำลายอักเสบเฉียบพลัน’
  • แต่ถ้าต่อมน้ำลายอักเสบเรื้อรัง มักมีอาการน้อย เป็นระยะเป็นเดือน หรือหลายเดือน หรือเป็นๆหายๆ เรียกว่า ‘ต่อมน้ำลายอักเสบเรื้อรัง’

ต่อมน้ำลายอักเสบ อาจเกิดเพียงต่อมเดียว หรือหลายต่อมพร้อมกันก็ได้ ทั่วไปถ้าเป็นการอักเสบติดเชื้อแบคทีเรียมักเกิดกับต่อมเดียว แต่ถ้าจากสาเหตุอื่นมักพบเกิดหลายต่อม ซึ่งการอักเสบทั้ง2ชนิดของต่อมน้ำลายเกิดได้กับต่อมน้ำลายทุกต่อม ทั้งต่อมน้ำลายขนาดใหญ่ และต่อมน้ำลายจิ๋วที่กระจายอยู่ทั่วช่องปากและลำคอ โดยต่อมน้ำลายขนาดใหญ่มี 3 คู่ ซ้าย-ขวา คือ ต่อมพาโรติด/ต่อมฯที่อยู่หน้าต่อรูหู, ต่อมฯใต้ขากรรไกรล่าง, และต่อมใต้ลิ้น (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากเว็บ haamor.com เรื่อง ‘ต่อมน้ำลาย’)

ทั้งนี้ต่อมน้ำลายที่พบเกิดการอักเสบบ่อยกว่าต่อมน้ำลายอื่นคือ ต่อมพาโรติด รองลงไปคือ ต่อมใต้ขากรรไกรล่าง

ต่อมน้ำลายอักเสบ เป็นโรคพบเรื่อยๆ ไม่บ่อยมาก พบทั่วโลก ไม่ขึ้นกับเชื้อชาติ พบชนิดอักเสบติดเชื้อมากกว่าชนิดอักเสบชนิดไม่ติดเชื้อ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีรายงานสถิติเกิดในภาพรวมของต่อมน้ำลายอักเสบทุกสาเหตุร่วมกัน มักรายงานแยกย่อยไปแต่ละสาเหตุ

ต่อมน้ำลายอักเสบพบทุกอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ แต่พบบ่อยกว่ามากในวัยกลางคนและโดยเฉพาะวัยสูงอายุขึ้นไป เพศหญิงและเพศชายพบใกล้เคียงกัน

ต่อมน้ำลายอักเสบมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?

ต่อมน้ำลายอักเสบ

ต่อมน้ำลายอักเสบมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากหลายสาเหตุ ที่พบบ่อย ได้แก่

ก. ต่อมน้ำลายอักเสบติดเชื้อ: เป็นสาเหตุพบบ่อยของต่อมน้ำลายอักเสบทั้งหมด และมักเป็นการอักเสบเฉียบพลัน ได้แก่

  • ติดเชื้อไวรัส: เป็นการติดเชื้อที่พบบ่อยที่สุด เช่น
    • จากไวรัสโรคคางทูม ซึ่ง เป็นสาเหตุต่อมน้ำลายอักเสบพบบ่อยที่สุด ประมาณ 10% ของผู้ป่วยต่อมน้ำลายอักเสบติดเชื้อ
    • จากการติดเชื้อเอชไอวี/ โรคเอดส์ ซึ่งกลไกการเกิด แพทย์ยังไม่ทราบแน่ชัด ทราบเพียงแต่ว่า ไม่ได้เกิดจากเซลล์ต่อมน้ำลายติดเชื้อเอชไอวีโดยตรง พบเกิดในเด็กบ่อยกว่าในผู้ใหญ่ ประมาณ 20%ของเด็กติดเชื้อเอชไอวี และประมาณ 1-6%ของผู้ติดเชื้อเอชไอวีในผู้ใหญ่
  • ติดเชื้อแบคทีเรีย: มีรายงานจากสหราชอาณาจักร พบได้ 27.5รายต่อประชากร 1ล้านคน พบบ่อยจากเชื้อชนิด Staphylococcus aureus ซึ่งสาเหตุ เช่น
    • นิ่วต่อมน้ำลาย
    • ต่อมน้ำลายได้รับบาดเจ็บโดยตรง เช่น แผลผ่าตัดต่อมน้ำลาย , แผลจากการบาดของมีดโกน, แผลจากการเจาะ/ดูดเซลล์จากต่อมน้ำลายเพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยา

ข. ต่อมน้ำลายอักเสบชนิดไม่ติดเชื้อ: คือ เซลล์ต่อมน้ำลายเกิดอักเสบโดยไม่มีการติดเชื้อ ซึ่งมักเป็นการอักเสบแบบเรื้อรัง สาเหตุพบบ่อย คือจากโรคออโตอิมมูน/ โรคภูมิแพ้ตนเอง เช่น

  • กลุ่มอาการโจเกรน
  • โรคข้อรูมาตอยด์

ค. นิ่วต่อมน้ำลาย หรือท่อน้ำลายตีบหรืออุดตัน: เป็นสาเหตุได้ทั้ง ต่อมน้ำลายอักเสบเฉียบพลันที่เซลล์ต่อมน้ำลายติดเชื้อแบคทีเรีย และต่อมน้ำลายอักเสบเรื้อรัง

ง. ภาวะน้ำลายน้อยผิดปกติ: เป็นได้ทั้งสาเหตุที่ทำให้เกิดต่อมน้ำลายอักเสบ ที่มักอักเสบแบบติดเชื้อแบคทีเรีย และเป็นได้ทั้งผลข้างเคียงของต่อมน้ำลายอักเสบเพราะการอักเสบจะทำลายเซลล์ต่อมน้ำลายจนเกิดเป็นพังผืดขึ้น ส่งผลให้ต่อมน้ำลายสร้างน้ำลายน้อยลง จนเป็นสาเหตุให้เกิดการคั่งค้างของแบคทีเรียในต่อมน้ำลายจนเกิดเป็นต่อมน้ำลายอักเสบในที่สุด ซึ่งสาเหตุของภาวะน้ำลายน้อยผิดปกติพบได้หลากหลาย เช่น

  • จากการอักเสบเรื้อรังของต่อมน้ำลาย
  • จากการรักษาโรคต่อมน้ำลายด้วยการผ่าตัด
  • จากการฉายรังสีรักษาโรคมะเร็งในระบบศีรษะและลำคอ
  • หรือจากผลข้างเคียงจากยาบางกลุ่ม

(แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘ปากแห้งเหตุน้ำลายน้อย’)

จ. ผลข้างเคียงจากยา: ยาบางกลุ่มจะมีผลต่อเซลล์ต่อมน้ำลายโดยตรง หรือต่อระบบประสาทที่ควบคุมการสร้างน้ำลายของต่อมน้ำลาย ส่งผลให้เซลล์ต่อมน้ำลายลดการสร้างน้ำลาย เช่น

  • ยาลดความดันโลหิตสูงกลุ่ม เบต้าบล็อกเกอร์
  • ยาแก้แพ้, ยาลดน้ำมูก, ยาแอนตี้ฮีสตามีน (Antihistamine drug)
  • ยาขับปัสสาวะ
  • ยารักษาทางจิตเวชบางชนิด

ต่อมน้ำลายอักเสบมีอาการอย่างไร?

อาการจากต่อมน้ำลายอักเสบจะคล้ายกัน ซึ่งทั่วไป คือ

  • ต่อมน้ำลายอักเสบเฉียบพลันจากการติดเชื้อ อาการจะรุนแรงกว่า
  • ส่วนอาการจากการอักเสบเรื้อรังอาการจะน้อยกว่ามาก แต่ปัญหาปากคอแห้งจะรุนแรงกว่า
  • นอกจาก ชนิดของการอักเสบ , สาเหตุ ความรุนแรงของอาการต่อมน้ำลายอักเสบยังขึ้นกับว่า เกิดอาการกับต่อมน้ำลายต่อมเดียว(อาการน้อยกว่า), หรือเกิดอาการพร้อมกันกับหลายต่อมน้ำลาย(อาการมากกว่า)

ทั่วไป ต่อมน้ำลายอักเสบมีอาการดังนี้

ก. ต่อมน้ำลายอักเสบเฉียบพลัน: อาการพบบ่อย ได้แก่

  • เกิดได้ทั้งต่อมน้ำลายอักเสบข้างเดียว หรือ 2ข้าง ขึ้นกับสาเหตุ เช่นกรณี ติดเชื้อแบคทีเรีย โรคมักเกิดข้างเดียว แต่ถ้าจากติดเชื้อไวรัส โรคมักเกิดกับต่อมน้ำหลายทั้ง2 ข้าง หรือ เกิดพร้อมกันหลายต่อมฯ
  • ต่อมน้ำลายที่อักเสบ ใหญ่ขึ้น ร่วมกับ บวม แดง ร้อน (เมื่อคลำต่อมฯ)และปวดมาก ภายใน 1-3 วัน
  • บวมใบหน้า และ/หรือรอบตาด้านเกิดอาการปวด
  • มีไข้ มักเป็นไข้ต่ำ แต่ขึ้นกับสาเหตุ เช่น ถ้าเกิดจากไวรัสคางทูมจะมีไข้สูง
  • อ่อนเพลีย
  • การตรวจดูช่องปากเพื่อดู รูเปิดของท่อน้ำลายในช่องปาก ถ้าอักเสบติดเชื้อแบคทีเรียรุนแรง อาจมีหนองไหลออกมาทางรูเปิดนั้น
  • การตรวจเลือดดูค่าที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบพบว่า ผิดปกติ เช่น
    • ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด/ซีบีซี/CBC จะพบมี เม็ดเลือดขาวสูง(กรณีติดเชื้อแบคทีเรีย) หรือเม็ดเลือดขาวปกติ หรือเม็ดเลือดขาวต่ำกรณีติดเชื้อไวรัส
    • ค่าการอักเสบของเนื้อเยื่อต่างๆสูง เช่น ค่าซีอาร์พี/CRP (C-reactive protein), อีเอสอาร์/ ESR(Erythrocyte sedimentation rate)

ข. ต่อมน้ำลายอักเสบเรื้อรัง: อาการพบบ่อย เช่น

  • มักเกิดกับต่อมน้ำลาย 2ข้าง
  • อาการต่างๆอาจเป็นๆหายๆ
  • ต่อมน้ำลายมีขนาดโตขึ้น แต่ไม่มาก และผู้ป่วยมักสังเกตเห็นว่า เป็นก้อนเนื้อบริเวณต่อมน้ำลายที่ไม่โตขึ้น หรือโตช้ามากๆ หรือ โตๆยุบๆ
  • มีอาการบวมของต่อมน้ำลาย แต่บวมไม่มาก อาจร่วมกับอาการปวด แต่ปวดไม่มาก
  • ถ้าสาเหตุจาก นิ่วต่อมน้ำลาย หรือมีท่อน้ำลายตีบ อาการ บวม ปวด มักเกิดหลังการกินอาหารโดยเฉพาะรสเปรี้ยว หรืออาหารที่กระตุ้นให้มีน้ำลายมาก
  • เมื่อคลำ จะพบว่าต่อมน้ำลายค่อนข้างแข็ง

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดต่อมน้ำลายอักเสบ?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดต่อมน้ำลายอักเสบ ได้แก่

  • ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะที่มี
    • สุขภาพช่องปากและฟันไม่ดี
    • มีปากคอแห้ง
    • มีภาวะขาดอาหาร
  • มีนิ่วต่อมน้ำลายโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ
  • มีปากคอแห้ง/ ภาวะปากแห้งเหตุน้ำลายน้อย
  • โรคออโตอมมูน
  • มีต่อมน้ำลายอักเสบเรื้อรัง เพราะมักเป็นสาเหตุให้ท่อน้ำลายอุดตันจนเป็นเหตุให้เกิดการสะสมแบคทีเรียในต่อมฯจนต่อมฯติดเชื้อเรื้อรัง

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

เมื่อมีอาการดังกล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อการหาสาเหตุและการรักษาแต่เนิ่นๆที่จะให้ผลการรักษาควบคุมโรคได้ดีกว่า

แพทย์วินิจฉัยต่อมน้ำลายอักเสบอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยต่อมน้ำลายอักเสบได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น อาการของผู้ป่วยที่รวมถึงการบวมๆยุบๆโดยสัมพันธ์กับอาหาร และ/หรือปวดเรื้อรัง ของต่อมน้ำลาย โรคประจำตัว ที่รวมถึงการตรวจคลำต่อมน้ำลาย และต่อมน้ำเหลืองลำคอ และที่หน้าใบหู ประวัติการใช้ยาต่างๆ
  • การตรวจร่างกาย ที่รวมถึงการตรวจคลำต่อมน้ำลาย และต่อมน้ำเหลืองลำคอ และที่หน้าใบหู
  • การตรวจในช่องปากดูรูเปิดของต่อมน้ำลาย

ซึ่งทั่วไป ทั้ง 3 ข้อดังกล่าว ก็ช่วยให้แพทย์วินิจฉัยต่อมน้ำลายอักเสบและให้การรักษาได้แล้ว แต่ในกรณีที่แพทย์สงสัย แพทย์อาจมีการตรวจเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติม ตามอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ และโดยเฉพาะเพื่อหาสาเหตุ เช่น

  • ตรวจเลือดดูค่าการอักเสบต่างๆดังได้กล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’ เช่น ซีบีซี, CRP, ESR
  • ตรวจเลือดดูค่าสารภูมิต้านทาน และ/หรือสารก่อภูมิต้านทาน กรณีสงสัยสาเหตุจากโรคออโตอิมมูน
  • อาจตรวจภาพต่อมน้ำลายด้วย เอกซเรย์, อัลตราซาวด์, และ/หรือ ซีทีสแกน/เอกซเรย์คอมพิวเตอร์
  • อาจส่องกล้องตรวจท่อน้ำลายและต่อมน้ำลายผ่านทางรูเปิดในช่องปากของท่อน้ำลาย ที่เรียกว่า Sialendoscopy ซึ่งเป็นได้ทั้งเพื่อวินิจฉัยโรค เช่น นิ่วต่อมน้ำลาย หรือ ท่อน้ำลายตีบ หรือในขณะเดียวกันเพื่อเป็นการรักษาเอานิ่วฯออก หรือขยายท่อต่อมฯที่ตีบ นอกจากนั้นเมื่อพบรอยโรค เช่น ก้อนเนื้อ แพทย์ยังสามารถดูดเซลล์เพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยา และอาจนำสารคัดหลั่ง/หนองมาตรวจเชื้อ หรือการตรวจเพาะเชื้อเพื่อหาชนิดของแบคทีเรียต้นเหตุ และตรวจว่าเชื้อนั้นจะตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะชนิดใด
  • ในกรณีที่ต่อมน้ำลายแข็งมาก มีการอักเสบเรื้อรังซ้ำๆหลายๆครั้งใน 1 ปี หรือที่การอักเสบดื้อต่อยาปฏิชีวนะ หรือต่อมน้ำลายไม่สามารถสร้างน้ำลายได้แล้ว แพทย์มักวินิจฉัยโรค/รักษาโรคไปพร้อมกันด้วยการตัดต่อมน้ำลายนั้นออก และตรวจต่อมน้ำลายที่ตัดออกด้วยการตรวจทางพยาธิวิทยา

รักษาต่อมน้ำลายอักเสบอย่างไร?

แนวทางการรักษาต่อมน้ำลายอักเสบ คือ การรักษาสาเหตุ, ร่วมกับการรักษาตามอาการ, และการดูแลตนเองเพื่อป้องกันต่อมน้ำลายอักเสบกลับเป็นซ้ำ

ก. การรักษาสาเหตุ: ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละผู้ป่วยตามแต่ละสาเหตุซึ่งได้กล่าวใน’หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’ เช่น สาเหตุจาก นิ่วต่อมน้ำลาย, โรคติดเชื้อแบคทีเรีย, คางทูม , โรคออโตอิมมูน, ภาวะปากแห้งเหตุน้ำลายน้อย (แนะนำอ่านรายละเอียดโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุที่รวมทั้งการรักษาได้จากเว็บ haamor.com)

ตัวอย่างการรักษาตามสาเหตุ เช่น

  • การให้ยาปฏิชีวนะกรณีต่อมน้ำลายอักเสบติดเชื้อแบคทีเรีย
  • การผ่าตัดเล็กเพื่อระบายหนองกรณีต่อมน้ำลายอักเสบจนเกิดหนอง
  • การส่องกล้องท่อน้ำลายเพื่อ ขยายท่อน้ำลายกรณีท่อน้ำลายตีบ
  • การผ่าตัดเอาต่อมน้ำลายด้านเกิดโรคออกทั้งต่อมฯ กรณีต่อมน้ำลายอักเสบเรื้อรังจนสร้างน้ำลายไม่ได้ หรือการอักเสบไม่ตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะ

ข. การรักษาตามอาการ: คือการรักษาตามแต่ละอาการของผู้ป่วย เช่น

  • ยาลดไข้ กรณีมีไข้
  • ยาแก้ปวด กรณีมีอาการปวด
  • การดูแลตนเองลดอาการปากคอแห้ง

ค. การดูแลตนเองเพื่อป้องกันต่อมน้ำลายอักเสบกลับเป็นซ้ำ: ที่สำคัญ เช่น

  • ดื่มน้ำสะอาดเพิ่มขึ้นในแต่ละวันเพื่อไม่ให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ เพื่อลดภาวะปากคอแห้ง
  • กิน/จิบบ่อยๆ เช่น ผลไม้ เครื่องดื่ม หรือ ลูกอม ที่กระตุ้นการสร้างน้ำลาย เช่น น้ำส้ม, น้ำมะนาว, เคี้ยวหมากฝรั่ง
  • รักษาความสะอาดช่องปากและฟันเสมอ (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘โรคช่องปาก’)

ต่อมน้ำลายอักเสบมีผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากต่อมน้ำลายอักเสบ ได้แก่

  • ภาวะปากคอแห้ง หรือ ภาวะปากแห้งเหตุน้ำลายน้อย
  • ต่อมน้ำลายติดเชื้อแบคทีเรียรุนรงจนเกิดเป็นหนองที่จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเล็กต่อมน้ำลายเพื่อระบายหนองออก, หรือบางกรณีอาจต้องตัดออกทั้งต่อมน้ำลายนั้น
  • ต่อมน้ำลายอักเสบเรื้อรังจากท่อน้ำลายอุดตัน/ตีบจนเป็นสาเหตุให้เกิดการสะสมแบคทีเรียในต่อมฯจนเกิดติดเชื้อที่ส่งผลเป็นต่อมน้ำลายอักเสบเฉียบพลัน
  • มีปัญหาฟันผุง่าย มักสาเหตุจากต่อมน้ำลายอักเสบเรื้อรังที่ส่งผลให้เกิดปากคอแห้ง ซึ่งเป็นสาเหตุให้เศษอาหารตกค้างที่เหงือก/ฟันจนเป็นบ่อเกิดของแบคทีเรีย

ต่อมน้ำลายอักเสบมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

ทั่วไป ต่อมน้ำลายอักเสบ มักมีความรุนแรงโรคต่ำ/ มีการพยากรณ์โรคที่ดี แพทย์มักรักษาควบคุมโรคได้ดี ไม่เป็นเหตุให้เสียชีวิต/ตาย

ดูแลตนเองอย่างไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองเมื่อมีต่อมน้ำลายอักเสบ จะเช่นเดียวกันทั้งกรณี ดูแลตนเองเมื่อต่อมน้ำลายอักเสบ, ดูแลตนเองเพื่อป้องกันไม่ให้ต่อมน้ำลายอักเสบเกิดเป็นซ้ำ, และดูแลตนเองเพื่อป้องกันเกิดต่อมน้ำลายอักเสบ

ก.กรณียังไม่เคยพบแพทย์/ไม่เคยมาโรงพยาบาล: การดูแลตนเองที่สำคัญคือ

  • สังเกตตนเองว่า อาการเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และมีอะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงเพื่อการหลีกเลี่ยง
  • ดื่มน้ำสะอาดเพิ่มขึ้นในแต่ละวันเพื่อไม่ให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ เพื่อลดภาวะปากคอแห้ง
  • จิบน้ำบ่อยๆ
  • รักษาความสะอาดช่องปากและฟันเสมอ (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘โรคช่องปาก’)
  • กินยาแก้ปวดพาราเซตามอลเมื่อมีอาการปวด
  • ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะมากินเอง
  • ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เมื่อ
    • อาการต่างๆแย่ลง โดยเฉพาะมีไข้, ต่อมน้ำลายบวมมาก หรือปวดมากและไม่ดีขึ้นจากยาแก้ปวด
    • อาการคงอยู่หลังดูแลตนเอง
    • อ้าปากดูในช่องปากแล้วพบ หนอง หรือสารคัดหลั่ง ออกจากรูเปิดท่อน้ำลายในช่องปาก

ข.เมื่อเคยพบแพทย์แล้ว:

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ และ ร่วมกับดูแลตนเอง ดังได้กล่าวใน ข้อ ก.
  • กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
  • เมื่อมีต่อมน้ำลายอักเสบ ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
    • อาการต่างๆแย่ลง หรือมีอาการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น ต่อมน้ำลายกลับมาปวดหรือบวมอีก หรือ ไข้ขึ้นสูง หรือมีหนองจากรูเปิดท่อน้ำลายในช่องปาก
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นผื่น, ท้องเสียเรื้อรัง
    • กังวลในอาการ

ป้องกันต่อมน้ำลายอักเสบอย่างไร?

การป้องกันต่อมน้ำลายอักเสบ ที่รวมถึงการป้องกันต่อมน้ำลายเกิดอักเสบซ้ำ ที่สำคัญ คือ

  • รักษาความสะอาดช่องปากและฟันเสมอ (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘โรคช่องปาก’)
  • ดูแลไม่ให้เกิดภาวะปากคอแห้ง(แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘ปากคอแห้ง และเรื่อง ‘ปากแห้งเหตุน้ำลายน้อย’)
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้ร่างกาย และจิตใจแข็งแรง ลดโอกาสติดเชื้อ และความเครียด ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการใช้ยาต่างๆที่อาจมีผลข้างเคียงให้ต่อมน้ำลายสร้างน้ำลายน้อยลง
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกวันเพื่อให้สุขภาพแข็งแรง
  • ใช้ถุงยางอนามัยชายทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โดยเฉพาะโรคติดเชื้อเอชไอวี/ โรคเอดส์

บรรณานุกรม

  1. https://rarediseases.info.nih.gov/diseases/7638/sialadenitis [2019,Nov2]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Sialadenitis [2019,Nov2]
  3. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/15749-sialadenitis-swollen-salivary-gland [2019,Nov2]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/HIV_salivary_gland_disease [2019,Nov2]