ตืดวัว พยาธิตืดวัว (Beef Tapeworm infection)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

พยาธิตืดวัว (Beef tapeworm) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ‘Taenia saginata’ ซึ่งเป็นพยาธิที่จัดอยู่ในการจัดประเภทของสัตว์คือ

  • อยู่ใน ไฟลัม (Phylum) ชื่อ Plathyhelminthes
  • ในชั้น (Class) ชื่อ Cestoda
  • อยู่ใน อันดับ (Order) ชื่อ Cyclophyllidea
  • อยู่ใน วงศ์ (Family) ชื่อ Taeniidae
  • อยู่ใน สกุล (Genus) ชื่อ Taenia
  • และจัดอยู่ใน ชนิด (Species) ชื่อ Saginata

พยาธิตืดวัวมีลักษณะเป็นอย่างไร?

พยาธิตืดวัว

พยาธิตืดวัว แบ่งเป็น ช่วงตัวแก่ และช่วงตัวอ่อน ซึ่งแต่ละช่วงมีรูปร่างลักษณะดังนี้

ก. ตัวแก่:

พยาธิตืดวัว เป็นพยาธิตัวแบน (Cestode) ตัวแก่จะมีลักษณะเป็นปล้องแบนๆ (Proglot tids) ต่อกันเป็นสายยาวมาก อาจจะยาวได้ตั้งแต่ 4 - 10 เมตรหรือมากกว่านั้น ถือเป็นพยาธิในสกุล ‘Taenia’ ที่มีขนาดใหญ่และยาวมากที่สุด ลำตัวแบ่งออกเป็น 3 ส่วนได้แก่

1 ส่วนหัว (Scolex): มีรูปร่างกลมขนาดประมาณ 2 มิลลิเมตร มีอวัยวะที่ใช้ดูด (Acetabu lar shape sucker) 4 อัน รูปร่างคล้ายถ้วยเรียงอยู่โดยรอบ พยาธิตืดวัวจะไม่มีอวัยวะคล้ายขอเกี่ยว (Rostellum) เหมือนพยาธิตืดหมู ดังนั้นการตรวจส่วนหัวนี้ จะใช้แยกพยาธิตืดหมูและตืดวัวได้ ส่วนหัวนี้เป็นส่วนที่พยาธิใช้เกาะติดกับผนังลำไส้เล็กของคน

2 ส่วนคอ (Neck): เป็นส่วนที่ต่อมาจากหัว ลักษณะเล็กและยาว มีความยาวประมาณ 7 -12 มิลลิเมตร ส่วนคอนี้จะมีปล้องที่ยังไม่แก่ ขนาดเล็ก (Immature proglottids)

3 ส่วนปล้อง (Segment): ลักษณะเป็นปล้องแบนๆบางๆ ส่วนต้นจะมีขนาดเล็กกว่าและค่อยๆมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จำนวนของปล้องอาจจะมีมากถึง 3,000 ปล้อง ยึดต่อกันด้วยกล้าม เนื้อ ท่อขับถ่าย และเส้นประสาท ปล้องของพยาธิตืดวัวแบ่งออกเป็น 3 ชนิดตามขั้นตอนการเจริญเติบโตของระบบสืบพันธุ์ได้แก่

  • ปล้องอ่อน (Immature proglottids) เป็นปล้องที่อยู่ต่อจากส่วนคอ รูปร่างของปล้องมีความกว้างมากกว่าความยาว ภายในปล้องจะมีระบบสืบพันธุ์ที่ยังไม่เจริญเต็มที่
  • ปล้องแก่ (Mature proglottids) เป็นปล้องที่อยู่ส่วนกลางของลำตัว มีความกว้างประ มาณ 5 - 7 มิลลิเมตร ความยาวประมาณ 16 - 20 มิลลิเมตร ระบบสืบพันธุ์มีทั้ง 2 เพศเจริญเต็มที่อยู่ภายในปล้องเดียวกัน มีรูเปิดร่วมกันของอวัยวะเพศทั้งสองเพศอยู่ทางด้านข้าง ด้านใดด้านหนึ่งของปล้อง ภายในปล้องมีรังไข่แบ่งออกเป็น 2 พู (Two lobe ovaries) ปล้องชนิดนี้ใช้แยกชนิดของพยาธิตัวตืดได้ว่าเป็นพยาธิตืดหมูหรือตืดวัว เพราะพยาธิตืดหมูจะมีรังไข่ 3 พู
  • ปล้องสุกหรือปล้องแก่จัด (Gravid proglottids) เป็นปล้องที่อยู่ส่วนปลายของลำตัวพยาธิ และจะหลุดออกจากลำตัวครั้งละ 5 - 6 ปล้องต่อวัน ภายในมีมดลูกอยู่ตรงกลางปล้อง และแตกแขนงย่อยๆออกเป็นสองข้าง ข้างละประมาณ 15 - 20 แขนง (พยาธิตืดหมูมีน้อยกว่า 13 แขนง) จะเกิดการผสมพันธุ์กันเองระหว่างอวัยวะเพศผู้และอวัยวะเพศเมียจนเกิดไข่อยู่ภาย ในปล้องจำนวนมาก แต่ละปล้องอาจจะมีปริมาณไข่มากถึง 100,000 ฟอง ปล้องที่หลุดออกมานี้จะปนออกมากับอุจจาระเห็นเป็นลักษณะสี่เหลี่ยมแบนๆสีขาวมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าและเคลื่อนไหวได้ บางครั้งปล้องจะแตกก่อน โดยแตกที่บริเวณลำไส้ใหญ่ของมนุษย์ และจะมีไข่พยาธิปนออกมากับอุจจาระ ซึ่งสามารถตรวจพบได้โดยใช้กล้องจุลทรรศน์ตรวจอุจจาระของผู้ ป่วย ซึ่งใช้เป็นวิธีการวินิจฉัยโรคนี้ได้ โดยไข่พยาธิตืดวัว จะมีรูปร่างเป็นทรงกลม ขนาดเส้นผ่า ศูนย์กลาง 31 - 43 ไมครอน ซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกับไข่พยาธิตืดหมู ดังนั้นจึงไม่สามารถแยกชนิดพยาธิตืดหมูและตืดวัวได้โดยการตรวจไข่พยาธิอย่างเดียว ไข่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เปลือกนอกบางใส เปลือกในสีน้ำตาล หนา และมีรอยขีดเป็นเส้นรัศมีอยู่โดยรอบ ตัวอ่อนที่อยู่ในไข่เรียกว่า Oncospheres

ข.ตัวอ่อน:

ตัวอ่อน ที่เรียกว่า ลาร์วา/Larval stage (Cysticercus bovis) ที่ฝังในกล้ามเนื้อของวัวซึ่งเป็นโฮสต์กลาง (Intermediate host: โฮสต์ที่อยู่ช่วงกลางของวงจรชีวิตพยาธินี้) จะอยู่ในถุงน้ำ (Cyst) ซึ่งจะมีขนาดกว้างประมาณ 4 - 6 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 7 - 10 มิลลิเมตร เมื่อฝังตัวในกล้ามเนื้อจะมีสีขาวคล้ายไข่มุกฝังในเนื้อวัว

คนติดเชื้อพยาธิตือวัวได้อย่างไร?

พยาธิตืดวัว ทำให้เกิดโรคในคนเรียกว่า ‘Taeniasis saginata หรือ Beef tapeworm’ เป็นโรคในมนุษย์ที่มีบันทึกไว้นานนับพันปี ได้แก่ โรคที่มีพยาธิตัวแก่เข้าไปอยู่ในลำไส้ของมนุษย์โดยการรับประทานเนื้อวัวดิบ หรือเนื้อวัวที่ปรุงไม่สุกที่มีตัวอ่อน (Cysticercus bovis) ฝังอยู่ในเนื้อวัว ต่อมาพยาธิตัวอ่อนในเนื้อวัวดิบที่คนกินเข้าไป จะเจริญกลายเป็นพยาธิตัวแก่ในลำ ไส้เล็กของมนุษย์ พยาธิตัวแก่นี้จะมีลักษณะเป็นปล้องแบนๆต่อกันเป็นสายยาวมาก อาจจะยาวได้ถึง 4 - 10 เมตร พยาธิตัวแก่นี้จะไม่มีการไชออกนอกลำไส้ไปอยู่ในอวัยวะอื่นแต่อย่างใด จะคอยแย่งอาหารจากผู้ป่วยที่มีพยาธิชนิดนี้เท่านั้น พยาธิตืดวัวจะไม่ทำให้เกิดโรค Cysticercosis (ก้อน Cyst ของพยาธิที่กระจายเข้าไปอยู่ในอวัยวะต่างๆ และก่อให้เกิดโรคกับอวัยวะนั้นๆ เช่น โรคลมชักเมื่อ Cyst นี้ไปอยู่ที่สมอง เป็นต้น) ในมนุษย์ ซึ่งแตกต่างจากพยาธิตืดหมู ที่เป็นเช่น นี้เพราะพยาธิตืดวัวไม่สามารถใช้มนุษย์เป็นโฮสต์กลาง (Intermediate host) ได้ มนุษย์สามารถ เป็นเพียงโฮสท์เฉพาะหรือ Definitive host ของพยาธิตืดวัวเท่านั้น การได้รับไข่พยาธิตืดวัวเข้าไปทางปาก ยังไม่เคยมีรายงานว่าทำให้เกิดโรคได้ มีข้อสันนิษฐานว่าไข่พยาธิตืดวัว จะถูกย่อยทำลายโดยน้ำย่อยภายในกระเพาะอาหารของมนุษย์และตัวอ่อนก็จะตายไปด้วย

วงจรชีวิตของพยาธิตืดวัวเป็นอย่างไร?

มนุษย์เป็นโฮสต์เฉพาะ (Definitive host: โอสต์ที่มีการสืบพันธุ์ของพยาธิ) ของพยาธิตืดวัว โดยมีวัวเป็นโฮสท์กลาง (Intermediate host) เราจะไม่พบพยาธิตัวแก่ในลำไส้ของวัวเพราะวัวไม่ใช่โฮสต์เฉพาะ (Definitive host) ของพยาธิตัวนี้

ตัวแก่ของพยาธิตัวนี้จะอยู่ในลำไส้เล็กส่วนต้นและส่วนกลางของมนุษย์ โดยส่วนหัว (Scolex) ของพยาธิจะเกาะติดกับผนังลำไส้เล็กด้วยอวัยวะส่วนหัวที่เรียกว่า Sucker มนุษย์ได้ รับพยาธิเข้าไปในร่างกายโดยการกินเนื้อวัวดิบหรือสุกๆดิบๆที่มีตัวอ่อน (Cysticercus bovis) ฝังต้วอยู่ เมื่อเข้าไปในลำไส้เล็กแล้ว ส่วนหัวของตัวอ่อนที่หดซ่อนอยู่ จะยื่นออกมาภายนอกหลังจากสัมผ้สกับน้ำดีและน้ำย่อยของลำไส้เล็ก พยาธิจะเอาส่วนหัวเกาะกับผนังลำไส้เล็ก พยาธิ ตืดวัวสามารถได้รับสารอาหารจากอาหารที่อยู่ในลำไส้เล็กของมนุษย์โดยการดูดซึมเข้าทางพื้น ผิวของพยาธิโดยตรง หลังจากนั้นจะเจริญเป็นตัวแก่โดยการสร้างปล้องเพิ่มจำนวนและความยาวออกไปเรื่อยๆ ตัวแก่เต็มที่อาจจะมีความยาวได้ถึง 4 -10 เมตรหรือยาวกว่านั้น การเปลี่ยนจากตัวอ่อนเป็นตัวแก่เต็มที่ใช้เวลาประมาณ 10 - 12 สัปดาห์ ตัวแก่จะมีอายุอยู่ในลำไส้เล็กของมนุษย์ได้นานมากประมาณ 25 ปี ผู้ป่วยบางรายมีพยาธิตืดวัวมากกว่า 1 ตัวในลำไส้ พยาธิตืดวัวไม่มีการแบ่งเป็นตัวผู้และตัวเมีย เพราะมีอวัยวะสืบพันธุ์ทั้งสองเพศอยู่ในปล้องเดียวกัน หรือที่เรียกว่า Hermaphrodite มีการผสมพันธุ์เกิดขึ้นภายในปล้องเรียกว่า Self fertilization โดยอสุจิจากอวัยวะเพศผู้ (Spermatozoan) จะผสมกับไข่ของอวัยวะเพศเมีย (Ovum) ในอวัยวะที่เรียกว่า Fertilization duct หลังจากผสมแล้วจะกลายเป็นไข่ (Zygote) ซึ่งจะเจริญเป็นตัวอ่อน (Embryo ) ที่มีขอเกี่ยว (Hook) ที่หัวจำนวน 6 อันเรียกว่า Six-hooked embryo หรืออีกชื่อหนึ่งเรียกว่า Oncosphere หรือ Hexacanth larva อยู่ภายในไข่ ภายในปล้องเดียวอาจมีปริมาณไข่ซึ่งมีดัวอ่อนอยู่ภายในจำนวนมากถึง 100,000 ฟอง ปล้องสุกที่มีไข่อยู่ภายใน (Gravid segment หรือ Gravid proglottids) ที่อยู่ส่วนปลายสุดของตัวพยาธิ จะหลุดออกจากลำตัวทีละ 5 - 6 ปล้องต่อวัน ออกมาในอุจจาระของมนุษย์ ซึ่งผู้ป่วยอาจสังเกตเห็นด้วยตาเปล่าเป็นแผ่นแบนๆสีขาวเคลื่อน ไหวได้ บางครั้ง Gravid segments จะแตกในลำไส้ใหญ่ของมนุษย์ ทำให้มีไข่พยาธิจำนวนมากออกมาปนอยู่ในอุจจาระได้ เมื่อมนุษย์ถ่ายอุจจาระลงพื้นดิน ไข่เหล่านี้จะมาปะปนอยู่ในดินและสามารถมีชีวิตอยู่ในดินและในสิ่งแวดล้อมภายนอกได้นานถึงประมาณ 6 เดือนเพราะไข่พยาธิมีเปลือกหนาหุ้มอยู่ภายนอก

ลักษณะของไข่พยาธิตืดวัว มีรูปร่างกลมหรือรีเล็กน้อย ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 31 ถึง 43 ไมครอน ผนังด้านนอกเรียบ มีเปลือกหนาสีน้ำตาล มีรอยขีดสั้นๆเป็นรัศมีอยู่โดยรอบ ภายในไข่จะมีต้วอ่อน (Oncosphere) ที่หัวมีอวัยวะคล้ายตะขอ 6 อัน ไข่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ตรวจอุจจาระของผู้ป่วยจึงจะมองเห็น

โฮสท์กลางของพยาธินี้ คือวัว (Intermediate host) โดยไข่พยาธิตืดวัวจะออกมากับอุจจาระของมนุษย์และปะปนอยู่ในดิน เมื่อวัวกินอาหารที่มีไข่พยาธิปะปนอยู่เข้าไป เปลือกไข่และเยื่อหุ้มตัวอ่อนจะถูกย่อยโดยน้ำย่อยในกระเพาะอาหารของวัวที่มีชื่อว่า Pepsin จากนั้นต้วอ่อนที่ออกจากไข่ จะไชผนังกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้นของวัวเข้าไปในเส้นเลือดและ ท่อน้ำเหลืองขนาดเล็ก แล้วกระจายไปตามระบบไหลเวียนโลหิตและน้ำเหลือง ไปยังอวัยวะต่างๆโดยเฉพาะกล้ามเนื้อของวัว อวัยวะอื่นๆที่จะมีตัวอ่อนไปฝ้งตัว เช่น สมอง ตับ เป็นต้น เมื่อตัวอ่อนฝังตัวแล้ว จะเกิดมีถุงน้ำผนังบางๆล้อมรอบเรียกว่า cysticercus bovis ลักษณะมองเห็นด้วยตาเปล่าคล้ายเม็ดไข่มุกสีขาวฝังอยู่ในเนื้อวัว Cysticercus bovis (Cysticerci) จะเกิดขึ้นภายในเวลา ประมาณ 70 วันหลังจากวัวกินไข่พยาธิเข้าไป และสามารถมีอายุอยู่ได้นานประมาณ 6 เดือน เมื่อคนกินเนื้อวัวดิบ ตัวอ่อน (Cysticerci) ในเนื้อวัวที่ยังมีชีวิตอยู่จะเข้าสู่คนและไปเจริญเป็นตัวแก่อา ศัยอยู่ในลำไส้เล็กของมนุษย์ต่อไป เป็นอันครบวงจรชีวิตของพยาธิตืดวัว ซึ่งพยาธิตืดวัวที่โตเต็ม ที่อาจมีชีวิตอยู่ในลำไส้มนุษย์ได้นานถึง 25 ปี

อาการของโรคพยาธิตืดวัวเป็นอย่างไร?

อาการของโรคพยาธิตืดวัว:

  • ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ
  • แต่ผู้ป่วยบางรายที่มีอาการ อาจมีอาการ เช่น
    • เบื่ออาหาร
    • น้ำหนักลด ผอมลง
    • ปวดท้องเรื้อรัง (ปวดได้ทุกส่วนของท้อง ไม่เฉพาะที่)
    • คลื่นไส้ อาเจียน
    • ท้องอืด
    • อุจจาระบ่อย
    • มีปล้องแก่ของพยาธินี้ปนออกมากับอุจจาระ หรือ
    • อาจเกิดอาการลำไส้อุดตันจากการที่ตัวพยาธิม้วนตัวเป็นก้อนใหญ่จนอุดตันลำไส้ได้
    • การที่หัวพยาธิไชทะลุผนังลำไส้จนทำให้ลำไส้ทะลุนั้นเกิดได้น้อยมาก แต่
    • ปล้องแก่ของพยาธิ อาจหลุดเข้าไปอยู่ในไส้ติ่ง ทำให้เกิดไส้ติ่งอักเสบได้ หรือ
    • บางรายอาจมีอาการโรคภูมิแพ้จากพยาธินี้ ส่งผลให้เกิดอาการคันตามผิวหนัง หรือเกิดผื่นลมพิษได้

ควรไปพบแพทย์เมื่อไร?

ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ เมื่อผู้ป่วยมีอาการ

  • อ่อนเพลีย
  • ปวดท้องเรื้อรัง ท้องอืดเรื้อรัง
  • ผอมลงทั้งๆที่รับประทานอาหารได้ปกติ และ/หรือ
  • มีปล้องสุกของพยาธิตัวตืดปนออกมากับอุจจาระ

แพทย์วินิจฉัยโรคพยาธิตืดวัวอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคพยาธิตืดวัว ได้จาก

  • การสอบถามประวัติอาการ (ดังได้กล่าวแล้วในหัว ข้อ อาการฯ) ลักษณะการกินอาหาร
  • การตรวจร่างกาย ร่วมกับ
  • การตรวจสืบค้น เช่น
    • การตรวจอุจจาระ พบปล้องและ/หรือไข่พยาธิตืดวัว ซึ่งเป็นวิธีที่ทำง่ายและเสียค่าใช้ จ่ายน้อยที่สุด
    • ปล้องสุก (Gravid segment) หลุดออกมาปนกับอุจจาระ สามารถนำไปส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพราะจะมีลักษณะอวัยวะภายในโดยเฉพาะจำนวนพู (Lobe) ของรังไข่ที่ทำให้สามารถแยกชนิดของพยาธิตัวตืดได้
    • ถ้ามีหัวของพยาธิ (Scolex) หลุดออกมาด้วย จะทำให้ทราบชนิดของพยาธิตัวตืดได้แน่นอน เพราะรูปร่างลักษณะของหัวของพยาธิตืดวัวและตืดหมู จะแตกต่างกันอย่างชัดเจน
    • การตรวจทางอิมมูโนวิทยา (Immunologic test) เช่น ELISA ที่ตรวจเลือดผู้ป่วยพบสารภูมิต้านทาน (Antibody) ที่จำเพาะต่อพยาธิตืดวัว การตรวจชนิดนี้มีประโยชน์ในช่วง 3 เดือนแรกหลังจากติดเชื้อ เพราะในช่วง 3 เดือนแรกจะยังไม่มีปล้องสุกและไข่ออกมากับอุจจาระให้ตรวจพบได้
    • การตรวจทางเทคนิคพันธุศาสตร์ เช่น Polymerase chain reaction

รักษาโรคพยาธิตืดวัวอย่างไร?

การรักษาโรคพยาธิตืดวัว ได้แก่

1. ใช้ยาถ่ายพยาธิตืดวัว เช่น ยา Niclosamide, Albendazole, Praziquantel, และสมุน ไพรปวกหาดหรือมะหาด

2. การรักษาโดยส่องกล้องเข้าไปถึงลำไส้เล็ก (Endoscope) เมื่อพบหัวพยาธิที่เกาะอยู่ที่ผนังลำไส้เล็ก ก็ฉีดยาฆ่าพยาธิไปที่หัว จนพยาธิหลุดออกจากที่เกาะ เมื่อหัวหลุดแล้วตัวพยาธิทั้งตัวจะหลุดตามออกมาหมด

โรคพยาธิตืดวัวมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

โรคพยาธิตืดวัวมีการพยากรณ์โรคคือ เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้หลังจากรับ ประทานยาถ่ายพยาธิครบ และพยาธิส่วนหัว (Scolex) หลุดออกมาครบทั้งตัว เราสามารถทราบได้ว่ารักษาหายขาดแล้วโดยตรวจอุจจาระไม่พบไข่พยาธินี้อีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม หลังรักษาได้หายแล้ว สามารถกลับมาเป็นโรคพยาธิตืดวัวได้อีกเสมอ ถ้ายังบริโภคเนื้อวัวดิบ หรือที่ปรุงไม่สุกที่มีตัวอ่อน Cysticerci ของพยาธินี้อยู่

โรคพยาธิตืดวัวก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

โรคพยาธิตืดวัวไม่ก่อผลข้างเคียงที่รุนแรงเหมือนในพยาธิตืดหมู ที่พบได้คือ

  • ผอมลง
  • อ่อนเพลีย และ
  • ปวดท้องเรื้อรัง
  • ที่พอพบได้บ้าง เช่น
    • ลำไส้อุดตันจากการขดตัวของพยาธิจนปิดกั้นทางเดินอาหาร
    • การอุดตันไส้ติ่งจนเป็นเหตุให้เกิดไส้ติ่งอักเสบ และ
    • จากโรคภูมิแพ้พยาธินี้

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อป่วยด้วยโรคพยาธิตืดวัว คือ

1. รับประทานยากำจัดพยาธิตามที่แพทย์สั่งจนครบ

2. รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล โดยการไม่รับประทานเนื้อวัวดิบ หรือสุกๆดิบๆ

3. ติดตามผลการรักษาตามแพทย์แนะนำ ด้วยการตรวจอุจจาระซ้ำ หลังการกินยาถ่ายพยาธิครบแล้ว

ป้องกันโรคพยาธิตืดวัวอย่างไร?

การป้องกันพยาธิตืดวัว ได้แก่

1. ถ่ายอุจจาระในส้วมที่ถูกสุขลักษณะเสมอ อย่าถ่ายอุจจาระลงแม่น้ำลำคลอง อย่าถ่ายอุจจาระลงพื้นดินเพราะเป็นการทำให้ไข่พยาธินี้อยู่ในดิน และวัวมากินเข้าไปได้ ให้ถ่ายอุจจาระลงส้วมที่ถูกสุขลักษณะ

2. ไม่กินเนื้อวัวดิบ หรือสุกๆดิบๆ เช่น ลาบเนื้อวัวดิบ ลู่ เวลาซื้อเนื้อวัวต้องคอยสังเกตดูให้ดี ถ้าพบลักษณะมีตุ่มขาวๆในเนื้อวัว ไม่ควรนำมารับประทาน เวลาปรุงอาหารต้องใช้อุณหภูมิสูงกว่า 60 องศาเซลเซียส (Celsius) ขึ้นไป การแช่เนื้อวัวแบบแช่แข็ง (Freeze) ที่อุณหภูมิต่ำกว่า -5 องศาเซลเซียสเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 3 วัน ก็สามารถทำให้ตัวอ่อนในเนื้อวัวตายได้

3. ล้างมือให้สะอาดโดยฟอกสบู่หลังจากถ่ายอุจจาระทุกครั้ง เพื่อกำจัดไข่พยาธิที่อาจติดมือไปแพร่ทางการปนเปื้อนอาหารได้ และล้างมือก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง ใช้ช้อนส้อมตักอาหารเข้าปาก หลีกเลี่ยงการใช้มือจับอาหารเข้าปาก

4. อาหารและหญ้าที่เลี้ยงวัว ต้องระวังอย่าให้ปนเปื้อนอุจจาระมนุษย์

บรรณานุกรม

  1. Cestodes. (2007). In L. S. Garcia, J. A. Jimenez & H. Escalante (Eds.), Manual of Clinical Microbiology (9th ed., pp. 2166). Washington, D.C.: ASM Press.
  2. Cook, G. C., & Zumla, A. I. (Eds.). (2008). Manson's Tropical Diseases (22nd Edition ed.). London: Elsevier Harcourt Brace Publishing Group.
  3. King, C. H., & Fairley, J. K. (2009). Cestodes (Tapeworms). In G. L. Mandell, J. E. Bennett & R. Dolin (Eds.), Mandell, Douglas, and Bennett's Principles and Practices of Infectious Diseases (7th Edition ed., ). New York: Churchill Livingstone.
  4. Krauss, H., Weber, A., Appel, M., Enders, B., Isenberg, H. D., Schiefer, H. G., Slenczka, W., von Graevenitz, A., & Zahner, H. (2003). Parasitic Zoonoses. Zoonoses: Infectious Diseases Transmissible from Animals to Humans. (3rd ed., pp. 261-403). Washington, DC.: ASM press.
  5. Parasitology. (2003). In L. S. Garcia (Ed.), Manual of Clinical Microbiology (8th ed., pp. 1895). Washington, D.C.: ASM Press.
  6. https://www.uptodate.com/contents/intestinal-tapeworms [2019,March23]