ตืดปลา โรคพยาธิตืดปลา (Fish tapeworm infection)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคพยาธิตืดปลา หรือ โรคติดเชื้อพยาธิตืดปลา (Fish tapeworm infection หรือ Diphyllobothriasis) เป็นโรคพยาธิในระบบทางเดินอาหารที่เกิดจากคนกินตัวอ่อนพยาธิตืดปลา(ชื่อวิทยาศาสตร์ของพยาธิตืดปลา คือ Diphyllobothrium)ที่อยู่ในปลาน้ำจืด โดยกินสดๆ/ปลาดิบ หรือปรุงสุกๆดิบๆ จึงส่งผลให้คนติดพยาธินี้ ซึ่งพยาธินี้ สามารถเจริญอยู่ในลำไส้เล็กของคนได้นานเป็นหลายๆปี มีรายงานว่า พยาธิตัวแก่/ตัวเต็มวัย(Adult, พยาธิที่เจริญจนสามารถสืบพันธ์ และ/หรือออกไข่ได้) มีชีวิตในลำไส้คนนานเป็นสิบๆปี

พยาธิตืดปลา มี’คน’เป็นโฮสต์สำคัญ ที่เรียกว่า “โฮสต์จำเพาะ (Definitive host)” คือ โฮสต์ที่พยาธิสามารถอยู่อาศัยและสามารถเจริญเติบโตจนเป็นตัวแก่และสืบพันธ์ ออกไข่ได้ อย่างไรก็ตาม นอกจากคนแล้ว ยังพบว่า สุนัข และแมว เป็นโฮสต์จำเพาะของพยาธินี้ได้ แต่พบได้น้อย

โรคพยาธิตืดปลา พบทั่วโลก ทุกทวีป โดยไม่ขึ้นกับเชื้อชาติ แต่มักพบในกลุ่มคนที่อาศัยอยู่รอบทะเลสาบหรือแหล่งน้ำจืดที่มีอุณหภูมิน้ำค่อนข้างเย็น พบสูงในประเทศแถบทางเหนือของยุโรป และสแกนดิเนเวีย นอกจากนั้น ยังพบสูงในแหล่งชุมชนที่การสาธารณสุขยังไม่เจริญ มีปัญหาในเรื่องของส้วมและการกำจัดอุจจาระ

โรคพยาธิตืดปลา พบในคนทุกเพศ ทุกวัย ที่กินปลาน้ำจืดดิบ หรือสุกๆดิบๆ ทั้งนี้พบในผู้หญิงและผู้ชายไม่แตกต่างกัน

วงจรชีวิตของพยาธิตืดปลาเป็นอย่างไร? ติดต่อสู่คนได้อย่างไร?

ตืดปลา

วงจรชีวิตของพยาธิตืดปลา เริ่มจากตัวแก่พยาธิที่อาศัยในคน โดยตัวแก่ มีขนาดยาวประมาณได้เป็นเมตร ถึง 10 เมตร กว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตร สีออกขาว ที่มีทั้ง2 เพศในตัวเดียวกันที่บางคนเรียกว่า ‘เป็นกะเทย’ และมีลำตัวเป็นปล้องๆ ในปล้องแก่จะมีไข่จำนวนมหาศาล ซึ่งไข่ และปล้องจะปนในอุจาระของคน สู่ดิน และสู่แหล่งน้ำจืด โดยไข่พยาธินี้มีรูปร่าง กลมรี สีน้ำตาลอ่อน และมีขนาดเล็กที่เห็นได้จากกล้องจุลทรรศน์

ไข่ ใช้ระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ในแหล่งน้ำจืด ฟักเป็นตัวที่เรียกว่า ‘เอมบริโอ(Embryo)’ ซึ่งเอมบริโอจะถูกกินโดยสัตว์น้ำขนาดเล็กมีขาเป็นปล้อง ที่เรียกว่า Copepod, และ Crustacean ที่เป็น”โฮสต์ตัวกลาง/Intermediate host (โฮสต์ที่ให้ตัวอ่อนอาศัย แต่เจริญเติบโตเป็นตัวแก่ หรือผสมพันธ์ หรือ ออกไข่ไม่ได้) ที่1” ซึ่งในสัตว์

เมื่อปลากินสัตว์น้ำขนาดเล็กนี้เข้าไป ตัวอ่อนระยะที่ 1 จะไชจากทางเดินอาหารของปลาเข้าไปอาศัยอยู่ในเนื้อปลาและในอวัยวะต่างๆของปลา (ปลาจัดเป็น “โฮสต์ตัวกลางที่ 2”) เจริญเป็น “ตัวอ่อนระยะที่ 2 หรือ Plerocercoid หรือตัวอ่อนระยะติดต่อ (Infective stage larva)” ซึ่งจะมีชีวิตอยู่ได้นานเท่ากับชีวิตของปลา

เมื่อคนที่เป็นโฮสต์จำเพาะ กินเนื้อปลาดิบๆ หรือสุกๆดิบๆ ตัวอ่อนระยะที่ 2/ระยะติดต่อในเนื้อปลาจะผ่านการถูกย่อยจากกระเพาะอาหารเข้ามาอาศัยในลำไส้เล็ก และเจริญเติบโตเป็นตัวแก่ จนออกไข่ ไข่ปนออกมาในอุจจาระ เป็นอันครบวงจรชีวิตของพยาธิตืดปลา

ซึ่งระยะเวลาจากที่’พยาธิตัวอ่อนระยะติด’ต่อเข้าสู่ร่างกายคน จนถึงเป็นตัวเต็มวัยที่ออกไข่ และสามารถตรวจพบไข่ในอุจจาระได้ ใช้เวลาประมาณ 3-6 สัปดาห์ แต่มีรายงานพบไข่ในอุจจาระได้ ในช่วงตั้งแต่ 2สัปดาห์ ไปจนถึง 2 ปี

ดังนั้น การติดต่อสู่คนของพยาธิตืดปลา คือ จากการกินปลาที่มีพยาธิตืดปลา โดยเป็นปลาดิบ หรือที่ปรุงสุกๆดิบๆ

ใครมีปัจจัยเสี่ยงติดพยาธิตืดปลา?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงติดพยาธิตืดปลา คือ

  • คนที่อาศัยใกล้แหล่งน้ำจืดที่มีอุณหภูมิค่อนข้างเย็น และ/หรือนักท่องเที่ยว และกินปลาน้ำจืดจากแหล่งเหล่านี้ โดยกินดิบๆ หรือปรุงสุกๆดิบ

โรคพยาธิตืดปลา มีอาการอย่างไร?

โดยทั่วไป โรคพยาธิตืดปลาไม่ก่ออาการ คนที่มีพยาธินี้ มักไม่ทราบว่าตนมีพยาธินี้

อย่างไรก็ตาม ในคนที่มีอาการ (มักเป็นคนที่มีพยาธินี้ในปริมาณมากๆ) อาการที่พบบ่อย เช่น

  • ปวดท้องไม่มากแต่ปวดเรื้อรัง และ
  • อาจพบปล้องพยาธิปนมาในอุจจาระ
  • นอกจากนั้น อาการอื่นๆที่พบได้น้อยกว่า เช่น
    • อ่อนเพลีย
    • ท้องเสีย
    • คันก้น
  • บางคน(พบได้น้อยมาก) อาจมีอาการปวดท้องรุนแรง และต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด จากพยาธิตัวแก่อุดตันทางเดินอาหารจนเกิดภาวะลำไส้อุดตัน
  • อีกประการในบางคน ส่วนน้อย พยาธินี้ อาจทำให้เกิดภาวะขาดวิตามิน บี12 จนส่งผลให้เกิดภาวะโลหิตจางจากขาดวิตามิน บี 12 ได้

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เมื่อ

  • มีอาการดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ โดยเฉพาะเกิดหลังกินปลาน้ำจืดดิบ หรือปรุงสุกๆดิบๆ เพื่อได้รับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุและได้รับการรักษาที่เหมาะสม
  • เมื่ออยู่ในแหล่งที่มีพยาธิตืดปลาเป็นโรคประจำถิ่น ก็ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อขอให้แพทย์ตรวจอุจจาระดูไข่/ปล้องของพยาธิตืดปลา

แพทย์วินิจฉัยโรคพยาธิตืดปลาได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคพยาธิตีดปลา ได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น อาการ ประวัติสัมผัสโรค(เช่น การกินอาหาร การท่องเที่ยว การพักอาศัยในถิ่นมีโรคนี้เป็นโรคประจำถิ่น)
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจอุจจาระดูไข่/ปล้องพยาธิ
  • นอกจากนี้ อาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น
    • การตรวจเลือด ซีบีซี/CBC ดูภาวะซีด และดูปริมาณเม็ดเลือดขาวชนิด Eosinophilที่มักขึ้นสูงเมื่อมีพยาธิในร่างกาย
    • การตรวจเลือดดูค่า วิตามิน บี 12
    • บางครั้งอาจมีการตรวจภาพช่องท้องด้วย เอกซเรย์, เอกซเรย์กลืนแป้ง(Upper gastrointestinal and small bowel series), หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ ตรวจลำไส้เล็กด้วยการกลืนกล้องขนาดเล็กที่เรียกว่า Capsule endoscopy ทั้งนี้ขึ้นกับอาการผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์

รักษาโรคพยาธิตืดปลาอย่างไร?

การรักษาโรคพยาธิตืดปลา คือ การกินยาฆ่าตัวพยาธิ/ยาถ่ายพยาธิ(ปัจจุบันยังไม่มียาฆ่าไข่พยาธิ), การรักษาประคับประคองตามอาการ, และการผ่าตัด

ก. ยาฆ่าพยาธิ/ยาถ่ายพยาธิ : ยากินที่มีประสิทธิภาพ คือ ยา Paraziquqntel และ ยา Niclosamide โดยการเลือกใช้ชนิดยา แพทย์จะประเมินจาก อาการ ความรุนแรงของอาการ ผลข้างเคียงของยาที่อาจเกิดกับผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์

ข. การรักษาประคับประคองตามอาการ: คือ ผู้ป่วยมีอาการอย่างไรก็รักษาตามนั้น เช่น

  • ยาแก้ปวดท้องเมื่อปวดท้อง
  • การรักษาภาวะโลหิตจางจากภาวะขาดวิตามินบี12 ด้วยการกินหรือฉีดวิตามินนี้

ค. การผ่าตัด: ใช้วิธีนี้น้อยมาก เฉพาะกรณีมีภาวะลำไส้อุดตันจากตัวพยาธินี้เท่านั้น

โรคพยาธิตืดปลาก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

ดังกล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ว่า พยาธิตืดปลาไม่ค่อยก่ออาการ ดังนั้นจึงไม่ค่อยพบการก่อผลข้างเคียงของพยาธินี้ แต่เมื่อมีอาการ ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ คือ

  • ภาวะโลหิตจางจากขาดวิตามิน บี12 และ/หรือ
  • ภาวะลำไส้อุดตัน(พบได้น้อยมาก)

โรคพยาธิตืดปลา มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

โรคพยาธิตืดปลา เป็นโรคมีการพยากรณ์โรคที่ดี ไม่ค่อยก่ออาการ และไม่ทำให้เสียชีวิต การรักษาเพียงการกินยาถ่ายพยาธิที่ไม่ยุ่งยาก แต่อย่างไรก็ตาม โรคนี้ติดเชื้อซ้ำได้เสมอ ตลอดเวลาที่ยังบริโภคปลาน้ำจืด ดิบๆ หรือปรุงสุกๆดิบๆ

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อตรวจพบมีพยาธิตืดปลา คือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาก่อน
  • เลิกกินปลาดิบ หรือที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ

*****อนึ่ง: สามารถฆ่าพยาธิตืดปลาและตัวอ่อนได้ด้วย

  • การปรุงปลาสุกอย่างทั่วถึงทั้งด้านนอกและด้านใน ด้วยอุณหภูมิอย่างน้อย 60 องศาเซลเซียส(Celsius, ๐C) นานอย่างน้อย 5 นาที
  • หรือ แช่แข็งภายใต้อุณหภูมิอย่างต่ำ -20 (ลบ20) องศาเซลเซียส แช่เป็นเวลานานอย่างน้อย 7 วัน
  • ทั้งนี้ การหมักดอง รมควัน และ/หรือการตากแดด ไม่สามารถฆ่าพยาธินี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ

  • มีอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น ปวดท้องรุนแรง
  • อาการต่างๆเลวลง เช่น ท้องเสียเรื้อรัง คันก้น/คันทวารหนักเรื้อรัง
  • มีผลข้างเคียงจากยาต่างๆที่แพทย์สั่งจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น คลื่นไส้มาก
  • กังวลในอาการ

ป้องกันโรคพยาธิตืดปลาอย่างไร?

โรคพยาธิตืดปลา มีวิธีที่ป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ

  • กินแต่ปลาที่ปรุงสุกอย่างทั่วถึงทั้งด้านนอกและด้านใน ด้วยอุณภูมิตั้งแต่ 60 องศาเซลเซียสขึ้นไป นานอย่างน้อย 5 นาที, หรือแช่แข็งที่อุณหภูมิอย่างต่ำ -20 องศาเซลเซียส นานอย่างน้อย 7 วัน
  • ล้างมือให้สะอาดเสมอ โดยเฉพาะก่อนกินอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ
  • ถ่ายอุจจาระในส้วม และกำจัดอุจจาระอย่างถูกต้องตามหลักสาธารณสุข
  • ดูแล พัฒนาให้ที่อยู่อาศัย และชุมชน ให้มีสุขอนามัยที่ดี โดยเฉพาะเรื่อง ส้วม และการกำจัดอุจจาระ

บรรณานุกรม

  1. Craug, N. (2012). Canadian Family Physician.58,654-658
  2. Scholz,T. et al. (2009). Clinical Biology Reviews. 22, 146-160
  3. Ching,H. (1984). Can Med Assoc J. 130,1125-1127
  4. https://www.cdc.gov/parasites/diphyllobothrium/faqs.htm[2019,May11]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Diphyllobothrium[2019,May11]
  6. http://emedicine.medscape.com/article/216089-overview#showall[2019,May11]