ติ่งเนื้อโพรงมดลูก (Endometrial polyp)
- โดย รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิริ
- 21 มิถุนายน 2563
- Tweet
- ติ่งเนื้อโพรงมดลูกคืออะไร?
- สาเหตุเกิดติ่งเนื้อโพรงมดลูกคืออะไร?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดติ่งเนื้อโพรงมดลูก?
- ติ่งเนื้อโพรงมดลูกทำให้มีอาการอย่างไร?
- ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
- ติ่งเนื้อโพรงมดลูกทำให้เป็นมะเร็งได้หรือไม่?
- แพทย์วินิจฉัยติ่งเนื้อโพรงมดลูกอย่างไร?
- แพทย์รักษาติ่งเนื้อโพรงมดลูกอย่างไร?
- ติ่งเนื้อโพรงมดลูกก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
- ติ่งเนื้อโพรงมดลูกมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีติ่งเนื้อโพรงมดลูกและหลังตัดติ่งเนื้อ?
- ติ่งเนื้อโพรงมดลูกกลับเป็นซ้ำได้หรือไม่?
- มีวิธีป้องกันติ่งเนื้อโพรงมดลูกหรือไม่?
- บรรณานุกรม
- ติ่งเนื้อปากมดลูก(Cervical polyp)
- เนื้องอก (Tumor)
- มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก(Endometrial cancer)
- มะเร็งกล้ามเนื้อมดลูก(Myoma uteri)
- มะเร็งปากมดลูก(Cervical cancer)
- เลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอด (Irregular bleeding per vagina)
- ตกขาว (Leucorrhea)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาอวัยวะเพศภายในสตรี (Anatomy of female internal genitalia)
ติ่งเนื้อโพรงมดลูกคืออะไร?
ติ่งเนื้อโพรงมดลูก หรือติ่งเนื้อมดลูก หรือติ่งเนื้อเยื่อบุมดลูก หรือติ่งเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial polyp หรือ Uterine polyp) เป็นติ่งเนื้อเมือก (Polyp) ที่เจริญออกมาผิดปกติในโพรงมดลูก (ในเยื่อบุโพรงมดลูก) ลักษณะที่มองเห็นด้วยตาเปล่าจะเป็นติ่งเนื้อสีแดง ชมพู ใสๆ มีทั้งแบบขั้วฐานติ่งที่สั้นและแบบเป็นติ่งที่มีขั้วยาว ส่วนมากขนาดไม่ใหญ่ประมาณ 0.5 - 1 ซม.(เซนติเมตร) แต่บางครั้งมีขนาดใหญ่หลายเซนติเมตรได้ สามารถมีได้ 1 ถึงหลายติ่ง
ติ่งเนื้อโพรงมดลูกพบได้บ่อย อุบัติการณ์พบได้ประมาณ 10% ในสตรีทั่วไปและเพิ่มเป็นประมาณ 25%ในสตรีที่มีปัญหาเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด เป็นโรคพบได้บ่อยในช่วงวัย 40 - 50 ปี พบได้ทั้งในวัยมีประจำเดือนและในวัยหมดประจำเดือน (พบได้สูงกว่าในวัยใกล้หมดประจำเดือนและในวัยหมดประจำเดือน) แต่พบได้น้อยมากๆในวัยที่ต่ำกว่า 20 ปี
ตามปกติไม่สามารถมองเห็นติ่งเนื้อโพรงมดลูกจากภายนอกจากการตรวจภายใน ยกเว้นมีขั้วหรือขนาดติ่งยาวมากจนโผล่แลบมาอยู่ที่ปากมดลูกหรือบางครั้งมาอยู่ที่ปากช่องคลอด ทำให้แพทย์สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเมื่อเวลาแพทย์ตรวจภายใน หรือบางครั้งสตรีสามารถคลำหรือสัมผัสติ่งเนื้อได้เอง
ติ่งเนื้อโพรงมดลูกต้องแยกจากติ่งเนื้อปากมดลูก (Endocervical polyp) ที่ต้นกำเนิดอยู่ที่บริเวณคอมดลูก การดูด้วยตาเปล่าไม่สามารถบอกได้แน่นอนว่าต้นกำเนิดของติ่งเนื้อมาจากที่ใด ต้องตรวจพิสูจน์ติ่งเนื้อด้วยการตรวจทางพยาธิวิทยา
สาเหตุเกิดติ่งเนื้อโพรงมดลูกคืออะไร?
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าติ่งเนื้อโพรงมดลูกเกิดจากอะไร แต่มีข้อสันนิษฐานว่า อาจเกิดจากภาวะฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ที่สูงทำให้มีการเจริญของเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูก เพิ่มมากผิดปกติจนเกิดเป็นติ่งเนื้อโพรงมดลูก
ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดติ่งเนื้อโพรงมดลูก?
ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดติ่งเนื้อโพรงมดลูกได้แก่
1. ผู้ที่ได้รับยาบางอย่างที่กระตุ้นการทำงานของฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) เช่น ยาTamoxifen (ยาต้านฮอร์โมนที่ใช้รักษามะเร็งเต้านม)
2. ภาวะโรคอ้วนซึ่งจะมีผลทำให้มีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงในร่างกาย
3. ผู้ที่มีติ่งเนื้อปากมดลูก
ติ่งเนื้อโพรงมดลูกทำให้มีอาการอย่างไร?
ติ่งเนื้อโพรงมดลูกส่วนมากมักไม่มีอาการ แต่เมื่อมีอาการอาการที่พบบ่อย คือ
1. มีเลือดประจำเดือนกะปริบกะปรอย
2. มีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติแบบกะปริบกะปรอย (เลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอด)
3. เป็นประจำเดือนนานผิดปกติ
4. เป็นประจำเดือนมากผิดปกติ
5. มีเลือดออกทางช่องคลอดในวัยหมดประจำเดือน
6. มีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์
7. มีตกขาวปนเลือด
ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอเมื่อมีอาการดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ โดยเฉพาะการมีเลือดออกทางช่องคลอดและ/หรือประจำเดือนที่ผิดปกติ เพราะอาจเป็นอาการของโรคมะเร็งปากมดลูก หรือ โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้
ติ่งเนื้อโพรงมดลูกทำให้เป็นมะเร็งได้หรือไม่?
ติ่งเนื้อโพรงมดลูกส่วนมากเป็นติ่งเนื้อเมือกที่ไม่ร้ายแรง ไม่ทำให้เกิดมะเร็ง แต่อย่างไรก็ตามมีโอกาสที่จะกลายเป็นมะเร็งได้ แต่น้อยมากๆพบได้ประมาณ 0.5 %
แพทย์วินิจฉัยติ่งเนื้อโพรงมดลูกอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยติ่งเนื้อโพรงมดลูกได้จาก
- ประวัติอาการ:
- โดยทั่วไปผู้ป่วยมักไม่มีอาการ ส่วนมากแพทย์ตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจภายใน (เช่น เพื่อคัดกรองมะเร็งปากมดลูก)
- แต่กลุ่มที่มีอาการมักจะมาพบแพทย์ด้วยเรื่อง
- เลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอด หรือ
- มีประจำเดือนมากหรือมีนานกว่าปกติ
- การตรวจร่างกาย: โดย
- การตรวจภายในส่วนมากไม่พบความผิดปกติ ยกเว้นในรายที่ติ่งเนื้อมีขนาดยาวมากจนยื่นออกมาที่ปากมดลูก ซึ่งจะเห็นติ่งเนื้อสีแดงๆยื่นออกมาจากรูปากมด ลูก ติ่งเนื้อนี้เมื่อถูกเสียดสีหรือถูกอุปกรณ์การตรวจภายในมักมีเลือดออกได้ง่าย
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการ: เป็นการตรวจที่เป็นประโยชน์มากคือ การตรวจอัลตราซาวด์ผ่านทางช่องคลอดที่จะเห็นเยื่อบุโพรงมดลูกหนาผิดปกติ บางครั้งเห็นเป็นก้อนเนื้อชัดเจน ในกรณีที่สงสัยแพทย์จะฉีดน้ำเกลือเข้าไปในโพรงมดลูกขณะทำอัลตราซาวด์ (Saline infusion ultrasonography) เพื่อให้เห็นติ่งเนื้อในโพรงมดลูกได้ชัดเจนขึ้น
- การตรวจทางพยาธิวิทยา: เป็นการตรวจที่จะวินิจฉัยโรคได้แน่นอนโดยการขูดมดลูก หรือการตัดติ่งเนื้อออกและนำมาเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
แพทย์รักษาติ่งเนื้อโพรงมดลูกอย่างไร?
แพทย์รักษาติ่งเนื้อโพรงมดลูก โดย
- ในกรณีที่ไม่มีอาการผิดปกติ แต่ตรวจพบโดยบังเอิญและ/หรือขนาดติ่งเนื้อเล็กกว่า 1 เซนติเมตร แพทย์มักใช้การเฝ้าติดตามอาการอาจโดยการตรวจมดลูกด้วยอัลตราซาวด์เป็นระยะๆ
- หากมีอาการเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ, ติ่งเนื้อขนาดใหญ่กว่า 1 เซนติเมตร, ในสตรีวัยหมดประจำเดือน, และ/หรือในสตรีที่มีบุตรยาก แพทย์จะแนะนำให้ตัดติ่งเนื้อนี้ออกและส่งติ่งเนื้อที่ตัดออกแล้วตรวจทางพยาธิวิทยา โดยแพทย์จะทำการขูดมดลูก (Curettage) เพื่อให้ได้เนื้อเยื่อมาตรวจ หัตถการนี้สามารถให้ยาชาแล้วขูดมดลูกได้เลยที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอก ไม่ต้องนอนพักในโรงพยาบาล แต่มีโอกาสที่จะขูดไม่ถูกบริเวณติ่งเนื้อเช่นกัน วิธีการรักษาที่ได้ผลดีกว่า คือ การใช้กล้องส่องเข้าไปในโพรงมดลูก (Hysteroscopy) โดยตรงทำให้สามารถมองเห็นติ่งเนื้อโพรงมดลูกได้ชัดและทำการตัดติ่งเนื้อโพรงมดลูกได้ถูกต้อง ซึ่งการรักษาวิธีนี้ต้องทำในห้องผ่าตัดเพราะจำเป็นต้องให้ยาสลบ
ติ่งเนื้อโพรงมดลูกก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
ผลข้างเคียงจากติ่งเนื้อโพรงมดลูกคือ
- การมีบุตรยากเพราะติ่งเนื้ออาจเป็นอุปสรรคต่อการ ฝังตัวของไข่ที่เยื่อบุโพรงมดลูก และ
- อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดการแท้งบุตรได้เพราะอาจส่งผลให้ไข่ฝังตัวที่เยื่อบุโพรงมดลูกได้ไม่สมบูรณ์
ติ่งเนื้อโพรงมดลูกมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรคของติ่งเนื้อโพรงมดลูก:
- ติ่งเนื้อโพรงมดลูกมีการพยากรณ์โรคที่ดี เป็นโรคที่ไม่ทำให้ตาย แพทย์รักษาโรคนี้ได้หาย
- แต่โรคนี้มีธรรมชาติของโรคย้อนเกิดเป็นซ้ำได้อีกโดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงซึ่งมีรายงานพบเกิดเป็นซ้ำได้ประมาณ 50% และ
- โรคนี้มีโอกาสเป็นมะเร็งได้ประมาณ 0.5%
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีติ่งเนื้อโพรงมดลูกและหลังตัดติ่งเนื้อ?
การดูแลตนเองในกรณีที่ไม่มีอาการผิดปกติ แพทย์ตรวจพบโรคโดยบังเอิญและ/หรือติ่งเนื้อขนาดเล็กกว่า 1 เซนติเมตร แพทย์มักใช้การติดตามอาการ ดังนั้นการดูแลตนเองคือ ดูแลตามปกติและพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเพื่อตรวจติดตามโรค
แต่หากมีอาการเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ, ในสตรีวัยหมดประจำเดือน และ/หรือ ในสตรีที่มีบุตรยาก แพทย์จะแนะนำให้ตัดติ่งเนื้อออกและส่งตรวจทางพยาธิวิทยา แพทย์จะทำการขูดมดลูก (Curettage) หรือใช้กล้องส่องเข้าไปในโพรงมดลูก (Hysteroscopy) และตัดติ่งเนื้อโพรงมดลูกตามที่กล่าวมาแล้วในหัวข้อ การรักษา ซึ่งหลังตัดติ่งเนื้อจะมีเลือดออกทางช่องคลอดเล็กน้อยประมาณ 1 - 2 วันเลือดก็จะหายไปเอง
แพทย์จะนัดผู้ป่วยมาฟังผลตรวจทางพยาธิวิทยาของติ่งเนื้ออีกประมาณ 2 - 4 สัปดาห์ การดูแลตนเองระหว่างนี้ (หลังตัดติ่งเนื้อ) คือ
- ไม่ควรสวนล้างช่องคลอด
- ควรงดมีเพศสัมพันธ์ประมาณ 1 สัปดาห์
- สังเกตอาการผิดปกติต่างๆที่เมื่อมีอาการผิดปกติควรไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อน นัดเสมอ ซึ่งอาการผิดปกติดังกล่าวเช่น
- มีตกขาวมากผิดปกติ
- ขาวมีกลิ่นเหม็น
- ปวดท้องน้อยมากผิดปกติ
- ไข้
- มีเลือดออกทางช่องคลอดมากผิดปกติ
ติ่งเนื้อโพรงมดลูกกลับเป็นซ้ำได้หรือไม่?
ติ่งเนื้อโพรงมดลูก สามารถเกิดเป็นซ้ำใหม่ได้อีก ระยะเวลาที่โรคจะเกิดซ้ำใหม่ไม่ทราบแน่นอน
มีวิธีป้องกันติ่งเนื้อโพรงมดลูกหรือไม่?
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันการเกิดติ่งเนื้อโพรงมดลูก
บรรณานุกรม
1. http://en.wikipedia.org/wiki/Endometrial_polyp [2020,June13]
2. http://www.uptodate.com/contents/endometrial-polyps [2020,June13]