1. ตลาดโรงพยาบาล – ตอนที่ 23
- โดย ดร. วิทยา มานะวาณิชเจริญ
- 29 ธันวาคม 2566
- Tweet
สำหรับคลินิกเอกชน ยังมีผลประกอบการพอไปได้ แต่อาจมีข้อจำกัดในการขยายฐานลูกค้าเนื่องจาก . . .
(1) โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal coverage: UC) ของภาครัฐ ทำให้ผู้ป่วยหันไปใช้บริการโรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ มากขึ้น
(2) ผู้ประกอบการธุรกิจโรงพยาบาล มีการปรับรูปแบบสู่ธุรกิจสุขภาพนอกโรงพยาบาลเพื่อขยายฐานลูกค้าสู่กลุ่มรากหญ้า เช่น คลินิกชุมชน, คลินิกเฉพาะทางแบบเอกเทศ (Stand-alone), คลินิกขนาดเล็กตามพื้นที่ต่างจังหวัด, หัวเมืองสำคัญ, และแนวชายแดน ทำให้คลินิกเอกชนเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้น และ
(3) มีบริการทดแทนอื่นๆ ที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้ารายได้น้อยได้ง่าย เช่น การซื้อยาเองทั้งยาแผนปัจจุบัน, แผนโบราณ, และการรักษาทางเลือก
ในภาพรวม โรงพยาบาลรัฐดำเนินการตามนโยบายและยุทธศาสตร์ ของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยที่ เกณฑ์การแบ่งสถานบริการตามระบบภูมิศาสตร์สารสนเทศ (Geographic information system: GIS) เป็น 3 ระดับ ดังนี้
1. ระดับปฐมภูมิ (Primary care) หมายถึง สถานบริการระดับสถานีอนามัย (Health station), ศูนย์เทศบาล (Municipality), ศูนย์สุขภาพชุมชน (Community health center), โรงพยาบาลชุมชน (Community hospital), โรงพยาบาลทั่วไป (General hospital), โรงพยาบาลศูนย์ (Regional hospital), หรือหน่วยบริการสุขภภาพของภาครัฐและเอกชน
2. ระดับทุติยภูมิ (Secondary care) จําแนกเป็น
- ระดับต้น หมายถึง โรงพยาบาลชุมชน, โรงพยาบาลทั่วไป, โรงพยาบาลศูนย์, หรือหน่วยบริการสุขภาพภาครัฐและเอกชนที่มีเตียงรับผู้ป่วยใน รักษาโรคพื้นฐานทั่วไป
- ระดับกลาง หมายถึง สถานพยาบาลที่ให้บริการรักษาโรค โดยแพทย์เฉพาะทางสาขา (Specialty) หลัก และ
- ระดับสูง หมายถึง สถานพยาบาลที่ให้บริการรักษาโรค โดยแพทย์เฉพาะทางสาขารอง
3. ระดับตติยภูมิ (Tertiary care) หมายถึง โรงพยาบาลทั่วไปบางแห่ง, โรงพยาบาลศูนย์, โรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ (Medical school), โรงพยาบาลเฉพาะทาง, หรือหน่วยบริการสุขภาพภาครัฐและเอกชน ที่ให้บริการรักษาโรคโดยแพทย์เฉพาะทางสาขาต่อยอด (Sub-specialty), และศูนย์การรักษาเฉพาะโรคที่ต้องใช้ทรัพยากร (Resource) ระดับสูง เช่น ศูนย์โรคหัวใจ (Heart center)
อนึ่ง ในบรรดาโรคภัยไข้เจ็บ แนวโน้ม (Trend) ที่มาแรง คือโรคไม่ติดต่อ (Non-communicable diseases: NCD) ร้ายแรง ซึ่งหมายถึง โรคที่ไม่ติดเชื้อหรือไม่ถ่ายทอด และอาจหมายถึง โรคเรื้อรัง ซึ่งต้องใช้เวลาในการรักษาและฟื้นตัวช้า ทั้งนี้ โรงพยาบาลกรุงเทพ (Bangkok Hospital) รายงานว่า 73% ของการเสียชีวิตของคนไทย เกิดจากโรคไม่ติดต่อร้ายแรง ไทยเรามีอัตราสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก (ซึ่งอยู่ที่ 63%) และน่าจะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพอย่างมีนัยสำคัญ
แหล่งข้อมูล -
- https://www.krungsri.com/th/research/industry/industry-outlook/Services/Private-Hospitals/IO/io-Private-Hospitals [2023, December 28].
- https://en.wikipedia.org/wiki/Geographic_information_system [2023, December 28].