4. ตลาดเครื่องมือแพทย์ - ตอนที่ 5

ผู้ผลิตและผู้นำเข้ามีช่องทางการจำหน่าย (Distribution) เครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ ดังนี้

  • การจำหน่ายโดยตรงกับโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล การจำหน่ายแก่โรงพยาบาลรัฐจะเป็นไปตามนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ซึ่งใช้วิธีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic bidding: e-bidding) จากเดิมที่ใช้วิธีตกลงราคา (สำหรับการจัดซื้อไม่เกิน 1 แสนบาท), วิธีสอบราคา (จัดซื้อเกิน 1 แสนบาท แต่ไม่เกิน 2 ล้านบาท), และวิธีประกวดราคา (จัดซื้อเกิน 2 ล้านบาท) ส่วนโรงพยาบาลเอกชนอาจใช้วิธีประมูลหรือเจรจาตกลงราคา โดยนำส่งใบสั่งซื้อ (Purchase order) ตามระเบียบของโรงพยาบาลนั้นๆ
  • การจำหน่ายต่อให้กับบริษัทตัวแทนจัดจำหน่ายทั้งที่เป็นบริษัทในเครือของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าและร้านค้าทั่วไป เพื่อกระจายสินค้า ต่อไปยังกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในประเทศ (Domestic market) ผู้ประกอบการในธุรกิจนี้มักเป็นผู้ที่มีความรู้หรืออยู่ในวงการรักษาสุขภาพ (Health-care circle) มายาวนาน ทำให้มีช่องทางการจำหน่ายอย่างกว้างขวาง
  • การจำหน่ายในตลาดต่างประเทศส่วนมากเป็นเครื่องมือแพทย์ประเภทวัสดุสิ้นเปลือง (Medical supplies) ที่สำคัญคือ ถุงมือยางที่ใช้ทางการแพทย์ (Medical glove) โดยมีตลาดส่งออก (Export market) หลักไปยังประเทศ สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, และเยอรมนี

ตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ในประเทศไทย มีทั้งประเภทขายส่งและขายปลีก จำนวนรวมกันมากกว่า 8,000 ราย เกือบทั้งหมด (99.5%) เป็นผู้ประกอบการ SME (= Small and medium-sized enterprises) ซึ่งมีรายได้รวมกันมากกว่า 50% ของรายได้ทั้งหมด การแข่งขันในกลุ่มตัวแทนจำหน่ายค่อนข้างรุนแรง เนื่องจากการจดทะเบียนเป็นสถานประกอบการจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ในประเทศทำได้ไม่ยากนัก (Low barrier to entry)

นอกจากนี้ สินค้าที่จำหน่ายส่วนมากมีลักษณะใกล้เคียงกัน (Similar) ทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกใช้ผลิตภัณฑ์จากผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายรายอื่นทดแทน (Substitute) ได้ง่าย สำหรับผู้ประกอบการรายสำคัญ เช่น บจก. จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (ไทย), บจก. ซิลลิค ฟาร์มา, บจก. ฟาร์มาฮอฟ, บจก. บี.บราวน์ (ประเทศไทย), บจก. ไบโอจีนีเทค, บจก. ไบโอเนท–เอเชีย และ บจก. เทคโน เมดิคัล เป็นต้น

ความสามารถในการทำกำไรของผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ในประเทศและผู้นำเข้าอยู่ในระดับไม่สูงนัก เนื่องจาก

  • ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ที่เน้นจำหน่ายผ่านการประมูลในโรงพยาบาล มักเผชิญแรงกดดันจากการแข่งขันด้านราคา
  • การจำหน่ายอุปกรณ์กลุ่มครุภัณฑ์ทางการแพทย์ (Medical equipment) ที่นำเข้า ส่วนมากจะมีอายุการใช้งานนาน ทำให้ความถี่ในการเปลี่ยนเครื่องมือและอุปกรณ์ใหม่มีไม่มากนัก และ
  • ผู้ผลิตและผู้ประกอบการนำเข้าวัตถุดิบ, ชิ้นส่วน, และอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ มักต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากต้นทุนสินค้านำเข้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมถึงต้นทุนจากการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนของค่าเงิน (Currency risk)

แหล่งข้อมูล

  1. https://www.krungsri.com/th/research/industry/industry-outlook/Other-Industries/Medical-Devices/IO/medical-devices [2023, April 28].
  2. https://www.fda.moph.go.th/sites/FDA_EN/SitePages/Medical.aspx?IDitem=Introduction [2023, April 28].