4. ตลาดเครื่องมือแพทย์ - ตอนที่ 4

การผลิตเครื่องมือแพทย์ (Medical device) ของไทย ส่วนมากมีความซับซ้อน (Complex) ทางนวัตกรรมและเทคโนโลยีไม่สูงนัก โดยเน้นผลิตเพื่อส่งออก (Export) เป็นหลัก สัดส่วนระหว่างมูลค่าการจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ในประเทศและมูลค่าส่งออก คือ 30:70 โดยส่วนมากเป็นการผลิตเครื่องมือแพทย์ขั้นพื้นฐานซึ่งเน้นการใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก ได้แก่ ยาง (Rubber) และพลาสติก สามารถจำแนกตามประเภท (Categorize) การใช้งานได้ดังนี้

  1. กลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์(Single-use device) มีจำนวนผู้ประกอบการเป็นสัดส่วน 39% ของผู้ประกอบการเครื่องมือแพทย์ทั้งหมด ผลิตภัณฑ์ที่ไทยมีศักยภาพ (Potential) ในการผลิตสูงและแข่งขันได้ดีในตลาดโลกคือ ถุงมือยางทางการแพทย์ (Medical glover) เนื่องจากไทยเป็นผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ของโลก และไม่ต้องใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ซับซ้อน การส่งออกมีสัดส่วนสูงถึง 90% ของปริมาณการจำหน่ายทั้งหมด ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้มีแนวโน้ม (Trend) การขยายตัวต่อเนื่อง ตามการเติบโตของอุตสาหกรรมการแพทย์ (Medical industry) สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพการผลิตรองลงมาคือ หลอดสวน (Catheter) และหลอดฉีดยา (Syringe) ซึ่งใช้พลาสติกเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิต มีลักษณะใช้งานทั่วไป (General use) และมีต้นทุน (Cost) ไม่สูงนัก
  2. กลุ่มครุภัณฑ์ทางการแพทย์ (Durable medical device) มีจำนวนผู้ประกอบการเป็นสัดส่วน 27% ของผู้ประกอบการเครื่องมือแพทย์ทั้งหมด ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตและส่งออกส่วนมากเป็นครุภัณฑ์ในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย (Patient transportation) เช่น รถเข็นผู้ป่วย (Wheel-chair) และเตียงผู้ป่วย (Patient bed) รวมทั้งรถเข็นเตียงผู้ป่วย (Stretcher)
  3. กลุ่มน้ำยาและชุดวินิจฉัยโรค(Reagent and test kit) มีจำนวนผู้ประกอบการเพียง 5% ของผู้ประกอบการเครื่องมือแพทย์ทั้งหมด ส่วนมากเป็นการร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติ (Foreign investor) ผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ น้ำยาตรวจโรคเบาหวาน (Diabetes), โรคไต (Kidney), และโรคตับอักเสบ (Hepatitis) ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2562 ไทยมีการส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำยาและชุดวินิจฉัยโรคเพิ่มขึ้นมากกว่า 10 เท่าจากปี พ.ศ. 2558

ผู้ผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ที่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ มีจำนวนทั้งสิ้น 595 ราย (ข้อมูล ปี พ.ศ. 2563) ในจำนวนนี้ 96.5% เป็นผู้ผลิตขนาดกลาง และขนาดเล็ก ในสัดส่วน 5.9% และ 90.6% ตามลำดับ ส่วนที่เหลืออีก 3.5% เป็นผู้ผลิตขนาดใหญ่ แต่ส่วนแบ่งรายได้ของผู้ผลิตขนาดกลางเป็น 14% และของผู้ผลิตขนาดเล็กเป็น 15% รวม SME (= Small and medium-sized enterprise: SME) ได้ 29% โดยผู้ผลิตขนาดใหญ่ มีส่วนแบ่งรายได้ [ที่เหลือ] ถึง 71% จากข้อมูลล่าสุดในปี พ.ศ. 2561

บางรายเป็นบริษัทข้ามชาติ (Multinational company: MNC) ที่มีสำนักงานในประเทศไทย ส่วนผู้ประกอบการที่จดทะเบียนนำเข้าเครื่องมือแพทย์ (ตามข้อมูลจากกองเครื่องมือแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) มีจำนวนมากกว่า 2,000 ราย 

แหล่งข้อมูล

  1. https://www.krungsri.com/th/research/industry/industry-outlook/Other-Industries/Medical-Devices/IO/medical-devices [2023, April 21].
  2. https://www.fda.moph.go.th/sites/FDA_EN/SitePages/Medical.aspx?IDitem=Introduction [2023, April 21].