4. ตลาดเครื่องมือแพทย์ - ตอนที่ 15
- โดย ดร. วิทยา มานะวาณิชเจริญ
- 11 กันยายน 2566
- Tweet
ท่ามกลางความก้าวหน้า (Advancement) ของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ไม่เว้นแม้แต่ในแวดวงการแพทย์และสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันสามารถรักษาโรคต่างๆ ที่มีความซับซ้อน (Complex) ได้มากขึ้นจนส่งผลให้ผู้คนมีอายุยืนยาว (Longevity) ในขณะเดียวกัน นโยบายการวางแผนครอบครัว (Family planning) เพื่อควบคุมการมีบุตร (Fertility) ก็สร้างผลกระทบไม่น้อย
ปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้หลายประเทศทั่วโลก (รวมทั้งประเทศไทย) กำลังเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ (Fully-aged society) เมื่อผู้คนอายุมากขึ้น แน่นอนว่าโอกาสเจ็บป่วย (Sickness) ก็มีแนวโน้ม (Trend) เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทำให้ธุรกิจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ (Health-care) อย่างเครื่องมือแพทย์ (Medical device) กลายเป็นอุตสาหกรรมที่น่าจับตามอง
ความต้องการ (Demand) เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ (Medical equipment) ที่มีมาตรฐานและทันสมัย เพื่อใช้ในการป้องกัน เฝ้าระวัง (Surveillance) ไปจนถึงการรักษาโรค (Treatment) จึงถือเป็นกลุ่มสินค้าจำเป็นต่อสุขภาพ, ชีวิตความเป็นอยู่, และเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพ (Potential) ในการเติบโต แม้ในสภาวะเศรษฐกิจที่อาจจะไม่สดใสนัก
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายของรัฐ (Government policy) ที่ต้องการขับเคลื่อน (Drive) ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ (Medical and Health Industry Hub) แห่งอาเซียน (ASEAN = Association of South-East Asia Nations) ทำให้ธุรกิจดังกล่าวมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง (Continuous growth)
โดยเฉพาะเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ด้านระบบหายใจ (Respiratory) และช่วยชีวิต (Life-saving) ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา เช่น เครื่องช่วยปั๊มหัวใจระบบอัตโนมัติ (Automatic pump) และ เครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้า (Electric defibrillator)
ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า ในปี พ.ศ. 2564 ถึง พ.ศ. 2565 มูลค่าการจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ในประเทศเติบโตเฉลี่ยปีละ +6.5% ขณะที่มูลค่าการส่งออกเติบโตเฉลี่ยที่ปีละ +5.0% จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยและผู้สูงอายุ (Geriatric patient), ความนิยม (Popularity) ของชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาใช้บริการด้านสุขภาพในประเทศไทย
นอกจากนี้ การขยายการลงทุน (Investment expansion) ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน รวมถึงการให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพซึ่งเป็นแนวโน้มที่โดดเด่นขึ้นอย่างชัดเจน (Obvious trend) ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ผ่านมา
ในบรรดาผู้เล่นสำคัญ (Key player) ในตลาดเครื่องมือแพทย์ ในระดับโลก ได้แก่ (ตามลำดับขนาดของรายได้) Medtronic, Depuy Synthes (Johnson & Johnson), Themo Fisder Scientific, Philips Healthcare, GE Healthcare, Fresenius Medical Care, Abott Laboratories, Cardinal Health, Siemens Healthineers, และ Stryker
ผู้เล่นเหล่านี้นำเครื่องมือแพทย์เข้ามาจำหน่าย (Distribution) ในประเทศไทย ผ่านบริษัทของตนเองในประเทศไทย สามารถแบ่งตามรายได้ (Revenue) เป็นขนาดใหญ่ 46%, ขนาดกลาง 13%, และขนาดเล็ก 41% แต่ผู้แทนจำหน่ายที่เป็นบริษัทท้องถิ่น (Local distributor) แบ่งตามจำเนวน (Number) เป็นขนาดใหญ่ 0.5%, ขนาดกลาง 1.2%, และขนาดเล็ก 98.3%
แหล่งข้อมูล –
- https://www.krungsri.com/th/research/industry/industry-outlook/Other-Industries/Medical-Devices/IO/medical-devices [2023, September 10].
- https://asean.org/ [2023, September 10].