5. ตลาดอาหารเสริม - ตอนที่ 5

ตลาดอาหารเสริม

ปัจจุบัน เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ (Functional beverage) ในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 5 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้

  1. Sport drink– เป็นเครื่องดื่มเกลือแร่ เพื่อชดเชยเกลือแร่ (Mineral) ที่ร่างกายสูญเสียไป ขณะออกกำลังกาย 
  2. Energy drink – เป็นเครื่องดื่มเสริมสร้างสุขภาพ โดยเติมสารอาหาร เช่นวิตามินและกรดอะมิโน (Amino acid) 
  3. Enriched drink – เป็นเครื่องดื่มที่ช่วยเสริมสุขภาพ เติมสารอาหารที่ประโยชน์ (Beneficial) ต่อร่างกาย
  4. Herbal drink– เป็นเครื่องดื่มสมุนไพร สำหรับช่วยรักษา (Healing) และป้องกัน (Preventing) โรคต่าง ๆ 
  5. Beauty drink– เป็นเครื่องดื่ม เพื่อความสวยความงาม (Aesthetics) โดยเฉพาะ

แม้จะมีเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพหลากหลายประเภท (Variety) แต่เท่าที่ผ่านมา เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพถือเป็นตลาดที่ค่อนข้างเงียบเหงาและยังไม่ได้เติบโตเร็วเท่าปัจจุบัน ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ตลาดนี้กลับมาคึกคักอีกครั้ง (Re-activated) เป็นเพราะสถานการณ์โรคระบาดที่ทำให้คนมาใส่ใจสุขภาพกันมากยิ่งขึ้น

การผลิตน้ำวิตามิน (Vitamin water) จนกลายเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพยอดนิยม ได้เข้ามาตอบสนองความต้องการของคนในท้องตลาดที่โหยหาสินค้าที่มีประโยชน์ โดยจากการเก็บข้อมูลของ Kantar, Worldpanel Division [ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยตลาดรายใหญ่ของโลก] พบว่าผลิตภัณฑ์หลักที่ขับเคลื่อนการเติบโตของเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ คือ เครื่องดื่มวิตามิน เช่น ยี่ห้อ C-Vitt และ Woody C+ Lock

ผลิตภัณฑ์ 2 ตัวนี้ ไม่เพียงแต่สร้างมูลค่ายอดขายมากกว่า 36% ของตลาดเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพทั้งหมด แต่กว่าครึ่งของประชากรในเขตเมือง บริโภคสินค้าเหล่านี้อย่างน้อยวันละหนึ่งครั้ง ในการบริโภคนอกบ้าน (Out-of-home) แม้ในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ขณะเดียวกันก็มีน้ำหลากรสชาติ (Flavored water) เช่น ยี่ห้อ Yanhee และ Vitaday เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนแบ่งตลาด (Market share) ที่สูงไม่น้อย

ผลิตภัณฑ์น้ำหลากรสชาติ มีการเติบโตมากกว่า +140% ในปี พ.ศ. 2019 ส่งผลให้ น้ำหลากรสชาติ กลายเป็นกลุ่มที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในตลาดเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ซึ่งหลายคนเชื่อว่าเป็นตลาดของคนวัยรุ่นสมัยใหม่ที่ใส่ใจในสุขภาพ แต่ที่จริงแล้ว ผู้ซื้อรายใหญ่ของเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ กลับกลายเป็นผู้มีอายุวัยกลางคน

รายงานของ Kantar, Worldpanel Division เปิดเผยให้เห็นว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยและผู้เริ่มทำงานใหม่ๆ (First jobber) อายุระหว่าง 20 ถึง 24 ปี เป็นกลุ่มที่ผู้ขายหวังเจาะตลาด (Market penetration) มากที่สุด โดยมีการส่งเสริมการตลาด (Promotion) ในกลุ่มเป้าหมายนี้มากกว่ากลุ่มผู้ซื้ออื่นๆ

แต่กลุ่มผู้มีอายุระหว่าง 30 ถึง 49 ปี (Older buyer) กลับเป็นผู้จับจ่ายหลักในตลาดนี้ เนื่องจากยิ่งผู้บริโภคมีอายุมากเท่าไร พวกเขาจะยิ่งกังวล (Concern) เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นพวกเขาจึงมองหาประโยชน์เพิ่มเติมจากเครื่องดื่ม ผู้ซื้อที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไปคิดเป็นเกือบ 2 ใน 3 ของการจับจ่ายสินค้าในหมวดหมู่นี้

แหล่งข้อมูล

  1. https://www.adaddictth.com/knowledge/Functional-Drink-2022 [2023, April 28].
  2. https://www.kantar.com/locations/thailand#_= [2023, April 28].