6. ตลาดห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ - ตอนที่ 4

ตลาดห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์

แนวคิดเกี่ยวกับคุณภาพความสัมพันธ์ (Relationship Quality) เป็นแนวคิดในการวัดความสำเร็จขององค์กร [เช่น ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์] ดังนั้นกลยุทธ์การตลาด (Marketing strategy) สัมพันธภาพจึงเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้สำหรับการแข่งขัน เพื่อความสำเร็จของธุรกิจการบริการ และนำมาสู่การทำให้เกิดคุณภาพความสัมพันธ์กับลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งหมดนี้ ส่งผลต่อความจงรักภักดีของลูกค้า (Customer loyalty) ในด้านความพึงพอใจของลูกค้า, การแนะนำบอกต่อ (Words of mouth), การใช้บริการซ้ำ (Repeat), และทัศนคติเชิงบวก การวัดผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินธุรกิจโดยใช้เกณฑ์ประเมินผล รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award: TQA) โดยวัดมิติด้านลูกค้าและมิติด้านการตลาด

การวัดมิติด้านลูกค้านั้นจะวัดที่คุณค่ายี่ห้อ (Brand equity), ภาพลักษณ์ของยี่ห้อ, (Brand image) และภาพลักษณ์องค์กร ซึ่งมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งในด้านนี้ ที่มุ่งศึกษาแบบจำลอง (Model) กลยุทธ์การตลาดสัมพันธภาพ (Relationship marketing) ของธุรกิจห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ (Medical Laboratory) ในประเทศไทย ที่ให้บริการแก่โรงพยาบาลภาครัฐและภาคเอกชน

งานวิจัยดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาปัจจัยที่สำคัญ ซึ่งส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจให้ประสบผลสำเร็จ โดยมีดัชนีชี้วัดจากผลสัมฤทธิ์ของธุรกิจ และนำไปประกอบการพิจารณาสร้างกลยุทธ์การตลาดสัมพันธภาพ ที่เหมาะสมกับธุรกิจ เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน (Competitive advantage) ในตลาดธุรกิจบริการห้องปฏิบัติการทางการแพทย์

อันจะนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพที่เป็นเลิศของเอเชีย (Center of Excellent Health-care of Asia) ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทยในการผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง

ขอบเขตของงาน (Scope of work) วิจัยชิ้นนั้น ประกอบด้วย

  • ขอบเขตด้านเนื้อหา (Content) ซึ่งประกอบด้วยปัจจัยการตลาดสัมพันธภาพ, การหยั่งรู้ (Perceived) คุณภาพการบริการ, คุณภาพความสัมพันธ์, ความจงรักภักดีของลูกค้า, และผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินธุรกิจห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ในประเทศไทย
  • ขอบเขตด้านบุคลากรระดับผู้บังคับบัญชา อันได้แก่ผู้บริหารโรงพยาบาล (เช่น ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหรือรองผู้อำนวยการโรงพยาบาล, ผู้อำนวยการฝ่ายแพทย์, หัวหน้าห้องปฏิบัติการทางการแพทย์, และหัวหน้าพยาบาล) โดยแบ่ง ออกเป็น 2 กลุ่ม อันได้แก่
  • ผู้บริหารของโรงพยาบาลภาครัฐ จำนวน 818 แห่ง และ
  • ผู้บริหารของโรงพยาบาลภาคเอกชน จำนวน 321 แห่ง ที่ใช้บริการห้องปฏิบัติทางการแพทย์ภายนอก (Out-source or “out-lab”) เนื่องจากไม่มีทรัพยากรเพียงพอสำหรับการตรวจวิเคราะห์ ในกรณีที่ต้องมีการทดสอบซับซ้อน (Complex testing) [อนึ่ง ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ในโรงเรียนแพทย์ มักรับงาน “Out-lab” ดังกล่าวด้วย เพราะความพร้อมทางด้านทรัพยากรและเพื่อผลงานการวิจัย]

แหล่งข้อมูล

  1. DBD DataWarehouse+ [2023, April 21].
  2. https://sotci-thaijo.org/index.php/swurd/article/view/54697/45407 [2023, April 21].