7. ตลาดศูนย์บริการทางรังสี – ตอนที่ 6

ตลาดศูนย์บริการทางรังสี ได้วิวัฒนาไปตามการศึกษาของรังสีแพทย์ ซึ่งหลังจากจบการศึกษาแพทย์ประจำบ้านแล้วสามารถต่อยอดอนุสาขา (Fellowship) ได้อีก 4 อนุสาขาในปัจจุบันคือ

  1. อนุสาขาภาพวินิจฉัยชั้นสูง (Advanced diagnostic body imaging)
  2. อนุสาขาภาพวินิจฉัยระบบประสาท (Diagnostic neuro-imaging)
  3. อนุสาขารังสีร่วมรักษาของลำตัว (Body interventional radiology)
  4. อนุสาขารังสีร่วมรักษาระบบประสาท (Interventional neuro-radiology)

นอกจากบริการรังสีวินิจฉัย (Diagnostic radiology) แล้ว ศูนย์บริการทางรังสีเริ่มขยายตัวไปครอบคลุมถึงรังสีร่วมรักษา (Interventional radiology) ซึ่งเป็นการทำหัตถการโดยรังสีแพทย์ (Radiologist) เป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีแพทย์บางสาขาที่พยายาม เรียนรู้และนำไปปฏิบัติ

โดยทั่วไป มักใช้เครื่องรังสีเอ็กซ์, ฟลูออโรสโคป (Fluoroscopy), เครื่องซีที สแกน (CT Scan), หรือเครื่องอุลตร้าซาวด์ (Ultrasound) เป็นเครื่องชี้นำทางในการสอดใส่เครื่องมือต่างๆ เช่น ลวดนำสายสวน (Catheter) หรือเข็มเป็นต้น หัตถการในยุคแรกๆ คือการสอดสายสวนเพื่อตรวจดูพยาธิสภาพของเส้นเลือด (Angiography)

ต่อมาได้พัฒนาให้มีการใส่สารอุดหลอดเลือดที่มีพยาธิสภาพ (Embolization), มีการขยายหลอดเลือด (Angioplasty) โดยใช้สายสวนที่มีลูกโป่งตรงปลาย (Balloon catheter), การใส่ลวดถ่างขยายหลอดเลือดที่ตีบ (Stent), การตัดชิ้นเนื้อเพื่อนำไปตรวจหาพยาธิสภาพ (Percutaneous biopsy), และ การใส่สายระบายเพื่อนำของเสียออกจากส่วนต่างๆของร่างกาย (Percutaneous abscess drainage) เป็นต้น

รังสีแพทย์ที่ทำหัตถการเหล่านี้คือรังสีแพทย์ร่วมรักษา (Interventional radiologist) เนื่องจากวิชารังสีวิทยามีสาขาที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานรังสีชนิดต่างๆ รวมทั้งการใช้กัมมันตภาพรังสีในการรักษาโรค โดยเฉพาะโรคมะเร็ง เรียกว่า รังสีรักษาโรคมะเร็ง (Radiation oncology)

รังสีแพทย์กลุ่มนี้ (Radiotherapist หรือ Radiation oncologist) เป็นผู้ที่จะนำวิทยาการในด้านการฉายแสง มาใช้ผ่านเครื่องที่ถูกสร้างขึ้นมาเป็นพิเศษ เช่นเครื่อง LINAC (= Linear Accelerator) หรือเครื่อง Cobalt 60

นอกจากนี้ ยังมีวิทยาการในการใช้การสารกัมมันตภาพรังสีสอดใส่เข้าไปในโพรงหรืออวัยวะภายในร่างกาย หรือการให้สารเคมีบำบัด (Chemotherapy) เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งให้หมดไปจากร่างกายของผู้ป่วย

ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์เหล่านี้ นำมาซึ่งการขยายตัวของตลาดบริการทางรังสี ซึ่งส่วนใหญ่มักเริ่มต้นด้วยการเป็นแผนกหนึ่งในโรงพยาบาล แล้วแยกตัวออกมาเป็นศูนย์เอกเทศ (Free-standing) โดยยังคงเป็นส่วนหนึ่งของโรงพยาบาล แต่ก็มีการลงทุนของเอกชนมากขึ้นในตลาดนี้ ซึ่งโตวันโตคืนอย่างไม่หยุดยั้ง

แหล่งข้อมูล –

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Radiology [2023, May 11].
  2. https://www.radiologyinfo.org/en/info/linac [2023, May 11].