7. ตลาดศูนย์บริการทางรังสี - ตอนที่ 4

PACS เป็นระบบคอมพิวเตอร์ที่อาศัยเทคโนโลยีขั้นก้าวหน้าในการจัดเก็บ (Capture), คงไว้ในคลัง (Store), กระจาย (Distribute), และแสดง (Display) ภาพฉายทางการแพทย์ และข้อมูลผู้ป่วยที่เกี่ยวข้อง (Relevant) โดยขจัดฟิล์มออกจากกระบวนการเอ็กซ์เรย์ แต่ใช้ภาพฉายและรายงานอิเล็กทรอนิกส์แทน ทำให้ปราศจากความจำเป็นในการทำงานด้วยมือ (Manual) ตั้งแต่การเก็บเข้าแฟ้ม (Filing), การเรียกใช้งาน (Retrieving), หรือการขนส่ง (Transporting) ฟิล์ม โดย PACS ประกอบด้วยส่วนสำคัญ ดังนี้

  • รูปแบบการฉายภาพ (Modality) เช่น เอ็กซ์เรย์, ซีทีสแกน (CT = Computerized tomography), อุลตร้าซาวด์ (US = Ultrasound), และเอ็มอาร์ไอ (MRI = Magnetic resonance imaging)
  • เครือข่ายที่มั่นคง (Secured net-work) สำหรับการส่งผ่านข้อมูลของผู้ป่วย เช่นสถานีงาน (Work-station) สำหรับแปลผล (Interpreting) และทบทวน (Review) ภาพฉาย
  • คลังเก็บทั้งในระยะสั้นและระยะยาว พร้อมการเรียกใช้งานและทำรายงาน
  • การเข้าถึงภาพฉาย, การส่งภาพฉาย, การแปลผลภาพฉายและข้อมูลที่สัมพันธ์กัน อย่างรวดเร็วและทรงประสิทธิภาพ เมื่อใช้ร่วมกับเทคโนโลยีเว็บที่มีอยู่ (Available)

PACS จึงช่วยประหยัดเวลามาก เมื่อเปรียบเทียบกับระบบฟิล์มแบบดั้งเดิม เพราะแพทย์ไม่จำเป็นต้องรอคอยภาพฉายจากการล้างฟิล์ม ส่วนข้อมูลก็สามารถเรียกใช้งานได้อย่างรวดเร็วจากระบบ เนื่องจากเส้นทาง (Route) ส่งภาพฉายไปยังสถานีงานดำเนินไปอย่างทันควัน, เวลาใช้ในการได้มาซึ่งรายงาน (Turn-around time) ก็ลดลง, และแพทย์ก็ตัดสินใจได้ทันท่วงที ดังนั้น คุณภาพการดูแลผู้ป่วยก็เพิ่มพูนขึ้น สภาพการทำงานของบุคลากรก็ปลอดภัยขึ้น เพราะไม่ต้องมีความเสี่ยงจากสารเคมีในการล้างฟิล์มอีกต่อไป

นอกจาก PACS แล้ว ศูนย์ตรวจทางรังสีวิทยาสี ยังมีระบบสารสนเทศทางรังสีวิทยา (Radiology information system: RIS) ซึ่งเป็นระบบสารสนเทศเพื่อการลงทะเบียนผู้รับบริการ แล้วส่งข้อมูลเข้าสู่ PACS และเพื่อให้รังสีแพทย์รายงานผล หากมองอย่างผิวเผิน RIS อาจดูเหมือนเป็นภาระงาน (Function) ที่แยกจากระบบสารสนเทศโรงพยาบาล (Hospital information system: HIS) แต่ในทางปฏิบัติ มีความจำเป็นในการบูรณาการ (Integration) 2 ระบบนี้เข้าด้วยกัน ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

  • ผู้ใช้งานในแต่ละคลินิก จำเป็นต้องเข้าถึงข้อมูลทางการแพทย์ของผู้ป่วย ไม่ว่าข้อมูลจะได้รับการจากเก็บจากระบบใด ข้อมูลจากศูนย์ตรวจทางรังสีวิทยา ต้องเข้าถึงได้จาก HIS หรือ RIS
  • รังสีแพทย์อาจสนใจที่จะได้ข้อมูลทางการแพทย์ของผู้ป่วยเพิ่มเติม ซึ่งข้อมูลดังกล่าว ควรเรียกใช้ได้จาก HIS ผ่านสถานีงาน (Terminal) ของ RIS
  • แม้ข้อมูลการค้นหาฟิล์ม (Film tracking) เป็นความสนใจของศูนย์ตรวจทางรังสีวิทยาสี ณ สถานี RIS แต่ผู้ป่วยมักต้องนัดหมาย (Appointment) มากกว่าเพียงการตรวจ ณ จุดเดียว ผู้ป่วยจึงต้องการการประสานงาน (Coordination) ของการนัดหมายทั้งสองกรณี มิใช่แยกการนัดหมายเป็นคนละตาราง

แหล่งข้อมูล

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Picture_archiving_and_communication_system [2023, April 21].
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Radiological_information_system [2023, April 21].