3. ตลาดยา – ตอนที่ 36

เมื่อปี พ.ศ. 2564 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (Food and Drug Administration: FDA ) ระบุว่าไทยมีโรงงานผลิตยาแผนปัจจุบัน (Modern medicine) ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิต (Good Manufacturing Practice: GMP) จำนวน 151 แห่ง

ผู้ประกอบการ (Entrepreneur) ในอุตสาหกรรมยา (Pharmaceutical industry) แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มโดยที่กลุ่มที่ 1 หน่วยงานภาครัฐ (Public) ได้แก่ องค์การเภสัชกรรม และโรงงานเภสัชกรรมทหาร และกลุ่มที่ 2 บริษัทยาภาคเอกชน (Private) ได้แก่ บริษัทยาของผู้ประกอบการไทย ที่คนไทยถือหุ้นใหญ่ ส่วนใหญ่ผลิตยาชื่อสามัญทั่วไป (Generic) และมีราคาไม่สูง

ตัวอย่างบริษัทเอกชน ได้แก่บริษัทเบอร์ลินฟาร์มาซูติคอลอินดัสตรี, บริษัทไทยนครพัฒนา, บริษัทสยามฟาร์มาซูติคอล บริษัทไบโอฟาร์มเคมิคอล, และบริษัทสยามเภสัช เป็นต้น ขณะที่บางรายอาจรับจ้างผลิตร่วมด้วย เช่น บริษัทไบโอแลป บริษัทเมก้าไลฟ์ไซแอ็นซ์ และบริษัทโอลิค (OLIC)

อีกส่วนของกลุ่ม 2 คือ บริษัทยาข้ามชาติ ถือหุ้นส่วนใหญ่โดยชาวต่างชาติ บางรายเป็นตัวแทนนำเข้า (Import distributor) ยาต้นตำรับ (Original) หรือยาจดสิทธิบัตร (Patent) มีการจำหน่ายในราคาค่อนข้างสูง และบางรายเข้ามาตั้งโรงงานผลิตยาสำเร็จรูปในไทย เช่น บริษัท Pfizer, บริษัท Novartis, บริษัท GlaxoSmithKline, บริษัท Sanofi-Aventis, และบริษัท Roche รายได้ที่เฟื่องฟู สำหรับบริษัท AstraZeneca เมื่อปี พ.ศ 2564 คือ การผลิตและนำเข้าวัคซีน (Vaccine) ป้องกันไวรัส COVID-19 

อย่างไรก็ดี พระราชบัญญัติฉบับใหม่ องค์การเภสัชกรรม ถูกจัดให้อยู่ในฐานะผู้ประกอบการ เช่นเดียวกับภาคเอกชน ทำให้เกิดการแข่งขันในตลาด (Market competition) มากขึ้น ซึ่งรวมถึงต่างชาติที่ผลิตยาราคาถูกออกมาจำหน่าย เช่น อินเดียและจีนด้วย 

ยาที่ผลิตได้ประมาณ 90% ใช้บริโภคในประเทศ (Domestic consumption) และอีก 10% เป็นการผลิตเพื่อส่งออก ขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านยา (Drug expenditure) ของประเทศคิดเป็นสัดส่วน 29.0% ของค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลทั้งหมด

แต่ที่น่าเสียดาย คือ ไม่มีใครรับรู้ว่า ปัจจุบันผู้ผลิตยาภาคเอกชนในประเทศเผชิญแรงกดดัน (Pressure) มากน้อยแค่ไหน ตั้งแต่ 

  1. การเข้ามาแข่งขันของยาราคาถูกจากอินเดียและจีนที่มีต้นทุนการผลิต (Manufacturing cost) ต่ำกว่าไทย
  2. ผู้ผลิตเสียเปรียบ (Competitive disadvantage) ทั้งการเข้า (Access) ถึงต้นทุนการผลิตที่ถูกและโอกาสเข้าถึงช่องทางการจำหน่ายให้รัฐ(Public distribution channel)
  3. มาตรฐาน GMP-PIC/S (= Pharmaceutical Inspection Co-operation Scheme หรือคณะกรรมการตรวจประเมินยา) ที่คุมเข้มตามเกณฑ์ แห่งสหภาพยุโรป (European Union: EU) เช่น การลงทุนในโรงงานและ เครื่องจักร ที่ต้องใช้เงินลงทุน บางแห่งสูงถึง 500 ล้านบาท ทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ก็มาพร้อมกับคุณภาพเทียบเท่าสากล (International standard)
  4. การต้องจัดหาสถานที่เก็บยา (Storage) และการกระจาย (Distribution) ยาที่เหมาะสม (Appropriate) และ เพียงพอ (Adequate) ตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข (Public Health Ministry’s criteria)

แหล่งข้อมูล

  1. https://www.thairath.co.th/money/economics/analysis/2705883 [2024, July 15].
  2. https://www.thailandmedicalhub.net/ [2024, July 15].