3. ตลาดยา – ตอนที่ 22
- โดย ดร. วิทยา มานะวาณิชเจริญ
- 17 ธันวาคม 2566
- Tweet
การกระจาย (Distribution) ยาของตลาดยาทั่วโลก (Global market) ใน ปี พ.ศ. 2563 ประกอบด้วย ทวีปอเมริกาเหนือ (แคนาดาและสหรัฐอเมริกา) 49.0%, ยุโรป (รวมตุรกี, ยูเครน, และรัสเซีย) 23.9%, อัฟริกา+เอเชีย+ออสเตรเลีย 8.4%, จีน 8.2%, ญี่ปุ่น 7.0%, และทวีปอเมริกาใต้ (Latin America) 3.5%
ขั้นตอนในการผลิตยา (Pharmaceutical manufacture) ได้แก่
- ต้นธาร (Up-stream) ซึ่งประกอบด้วยการทำวิจัย (Research) ประมาณ 3 ถึง 7 ปี เพื่อค้นหา (Discovery) และการทดสอบขั้นต้น (Pre-clinical trial), การพัฒนา (Development) ประมาณ 6 ถึง 7 ปี เพื่อทดสอบทางการแพทย์ (Clinical trial), และการขออนุมัติ (Approval) ประมาณ 1 – 2 ปี จากหน่วยงานกำกับ (Regulator)
- กลางธาร (Intermediate) ซึ่งประกอบด้วยการผลิต จากวัตถุดิบ (Raw material)
- ปลายธาร (Down-stream) ซึ่งประกอบด้วยการผลิตจนเป็นสินค้าสำเร็จรูป (Finished product)
ผู้ผลิตในประเทศไทย ประกอบด้วย
- องค์กรเภสัชกรรม (Government Pharmaceutical Organization: GPO) ซึ่งเป็นผู้ผลิตยาสามัญ (Generic drug) รายใหญ่ของประเทศ
- ผู้ผลิตยาสามัญรายย่อย
- ผู้ผลิตยาระดับสากล และผู้จำหน่าย (Distributor) ที่ทำการตลาดและขายยาต้นตำรับ (Original) รวมทั้งการว่าจ้างผลิต (Third-party manufacture) และว่าจ้างทำตลาด (Contract marketing)
ส่วนแบ่งตลาด (Market share) ในประเทศไทย แยกตามรายได้ของบริษัทยา ในปี พ.ศ. 2564 ได้แก่ Astra Zeneca 21.85, Pfizer 16.8%, Mega Life-science 11.0%, Novartis 10.8%, Better Pharma 8.6%, GlaxoSmithKline 8.1%, Sanofi-Aventis 6.6%, Berlin Pharma 5.9%, Roche 5.2%, และ Takeda 5.1%
แหล่งนำเข้า (Import) ยาในปี พ.ศ. 2564 มาจากจีน 18.8% [รวมวัคซีน ช่วงระบาดหนักของโควิด-19], เยอรมนี 12.5%, สหรัฐอเมริกา 10.6%, เบลเยียม 8.2%, อินเดีย 6.5%, ฝรั่งเศส 4.9%, ญี่ปุ่น 4.8%, สวิตเซอร์แลนด์ 3.8%, อิตาลี 3.3%, และรายย่อยอื่นๆ ที่รวมกัน 26.6%
สำหรับการผลิตยาในประเทศ 90% เพื่อบริโภคในประเทศ ซึ่งมีมูลค่า 193 พันล้านบาท ผ่านโรงพยาบาลรัฐ 60%, โรงพยาบาลเอกชน 20%, และร้านขายยาอีก 20%
ยาที่นำเข้าและผลิตในประเทศขายผ่านโรงพยาบาล (รัฐและเอกชน) โดยมีใบสั่งแพทย์ (Prescription) รวม 156 พันล้านบาท ในสัดส่วน 80% ของการบริโภคยาทั้งหมด แยกเป็นยาสามัญ (Generic) 94 พันล้านบาท (61%) และยาจดสิทธิบัตร (Patented) 62 พันล้านบาท (39%) ส่วนยาที่ขายผ่านร้านขายยา (Over-the-counter: OTC) 37 พันล้านบาท ในสัดส่วน 20% ที่เหลือ
แหล่งข้อมูล –
- https://www.krungsri.com/th/research/industry/industry-outlook/chemicals/phamaceuticals/io/io-pharmaceuticals-2023-2025 [2023, December 16].
- https://www.gpo.or.th/ [2023, December 16].