3. ตลาดยา – ตอนที่ 12
- โดย ดร. วิทยา มานะวาณิชเจริญ
- 30 กรกฎาคม 2566
- Tweet
มาตรการภาครัฐ ที่ทำให้ร้านขายยา (Pharmacy) มีบทบาทมากขึ้น เช่น การเพิ่มสิทธิประโยชน์แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อซื้อสินค้าในร้านขายยาที่เข้าร่วมเป็นร้านธงฟ้า (Blue flag) ประชารัฐ และโครงการ “รับยาที่ร้านยาเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล” สำหรับผู้อยู่ในโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือบัตรทอง (30 บาท รักษาทุกโรค)
นอกจากนี้ ร้านขายยายังเป็นจุดบริการให้กับกลุ่มเสี่ยงสูง (High risk) สำหรับไวรัส COVID-19 และโรคอื่นๆ ทั้งการกระจายยา, ให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ (Tele-consulting), และให้บริการทางโทรศัพท์ (Tele-servicing), รวมถึงการใช้ซอฟต์แวร์ประยุกต์ (Application: App) ต่างๆ ในการสื่อสารกับผู้ป่วย
การผลิตยาในประเทศหดตัว (Shrink) -4.0% จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 4.2 หมื่นตัน เมื่อเปรียบเทียบกับ -6.1% ในปี พ.ศ. 2563 จากมาตรการควบคุม (Control measure) การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เข้มงวด (Strict) ซึ่งรวมถึงการปิดสถานที่เสี่ยง, การงดเดินทางข้ามจังหวัด, และการจำกัดการรวมกลุ่ม (Gathering)
ผนวกกับความต้องการ (Demand) ใช้ยาสำหรับโรคทั่วไปและโรคตามฤดูกาลปรับลดลง (Decline) โดยการผลิตยาน้ำ (Elixir) ซึ่งมีสัดส่วน (Proportion) มากที่สุด (กล่าวคือ สัดส่วน 47.2% ของปริมาณยาที่ผลิตทั้งหมด) ได้หดตัวลง -2.9% ส่วนยาเม็ด (Tablet) ซึ่งมีสัดส่วน 31.5%, ยาฉีด (Injection) ซึ่งมีสัดส่วน 4.2%, และยาแคปซูล (Capsule) ซึ่งมีสัดส่วน 3.4% ได้หดตัว -6.8%, -22.9%, และ -2.5% ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ยาที่มีการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยาผง (Powder) ซึ่งมีสัดส่วน 8.2% เพิ่ม +1.2% และยาครีม (Cream) ซึ่งมีสัดส่วน 5.0% เพิ่ม +1.0% ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิต (Production capacity) ของอุตสาหกรรมยาโดยรวมลดลงอยู่ที่ 54.5% จาก 56.9% ปี พ.ศ. 2563 แต่ปริมาณการผลิตยาในช่วงไตรมาสสุดท้ายกลับมาเพิ่มขึ้นมากโดยแตะระดับสูงสุดในรอบ 24 ไตรมาส
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น หลังจากองค์การเภสัชกรรม (Government Pharmaceutical Organization: GPO) ขอความร่วมมือให้ผู้ผลิตยาภาคเอกชนที่มีทะเบียนตำรับยารักษากลุ่มโรคไม่ติดต่อ (Non-communicable disease: NCD) เรื้อรัง ผลิตยาเพิ่มขึ้นแทน GPO ซึ่งปรับแผนไปผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) เพื่อรักษาไวรัส COVID-19 ซึ่งเริ่มกระจายเข้าระบบช่วงต้นเดือนสิงหาคม ของ พ.ศ. 2564
มูลค่าส่งออก (Export) ยาเพิ่มขึ้น +12.0% อยู่ที่ 1.6 หมื่นล้านบาท จากความต้องการใช้ยาและวัคซีน (Vaccine) เพื่อรักษาและป้องกันไวรัส COVID-19 ที่แพร่ระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน โดย CLMV [= Cambodia, Laos, Myanmar, and Vietnam] (ซึ่งมีสัดส่วนรวมกัน 56.2% ของมูลค่าส่งออกยาทั้งหมด) เพิ่มขึ้น +8.0%, มาเลเซีย (ซึ่งมีสัดส่วน 5.2%) เพิ่มขึ้น +41.6%, ฟิลิปปินส์ (ซึ่งมีสัดส่วน 5.0%) เพิ่มขึ้น +8.6%, และอินโดนีเซีย (ซึ่งสัดส่วน 4.4%) เพิ่มขึ้น +156.3%
ทั้งนี้ มูลค่าส่งออกยาในกลุ่มวัคซีนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญถึง +590% จากปี พ.ศ. 2563 มาอยู่ที่ 2.0 พันล้านบาท เร่งขึ้นมากจากอัตราการเติบโตเฉลี่ย +21.3% ต่อปีในช่วง 5 ปี ระะหว่างปี พ.ศ. 2559 ถึง พ.ศ. 2563
แหล่งข้อมูล –