3.ตลาดยา – ตอนที่ 10

ในตลาดต่างประเทศ มูลค่าส่งออก (Export) ยาของไทยเติบโตเฉลี่ย 5.1% ต่อปี (ระหว่างปี พ.ศ. 2557 ถึง พ.ศ. 2563) คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.2% ของมูลค่าส่งออกสินค้าทั้งหมด เนื่องจากยาที่ส่งออกเป็นยาชื่อสามัญทั่วไปที่มีมูลค่าต่ำ ตลาดส่งออกหลัก คือ ประเทศเพื่อนบ้าน อันได้แก่ เมียนมา, เวียดนาม, กัมพูชา, และ สปป.ลาว มีสัดส่วนรวมเกือบ 60% ของมูลค่าส่งออกยาทั้งหมด

การแพร่ระบาดไปทั่วโลก (Pandemic) ของไวรัส COVID-19 เอื้ออำนวย (Facilitate) ให้ไทยส่งออกยาเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก โดยเฉพาะยาในกลุ่มวัคซีน (Vaccine) โดยใน ปี พ.ศ. 2564 สัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 12.9% ของมูลค่าส่งออกยาทั้งหมด จากเดิมเฉลี่ยเพียง 2.0% ต่อปี

ในขณะที่การนำเข้า (Import) ยา ส่วนมากเป็นตัวยาที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศและมีราคาแพง โดยเป็นสัดส่วน 1.0% ของมูลค่านำเข้าสินค้าทั้งหมด เช่น ยาสร้างเม็ดเลือด (Erythropoietin), ยาปฏิชีวนะ (Anti-biotic), และยาลดไขมันในเลือด (Simvastatin) โดยแหล่งนำเข้าหลัก มาจากเยอรมนี, สหรัฐอเมริกา, และอินเดีย

นอกจากนี้ ไทยนำเข้ายาชื่อสามัญ (Generic) ที่มีราคาถูกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยสัดส่วนเฉลี่ย 8.4% ของมูลค่านำเข้ายาทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 5.9% ในปี พ.ศ. 2556 เนื่องจากอินเดียได้อานิสงส์จากมาตรการสิทธิเหนือสิทธิบัตร (Compulsory licensing) ในการผลิตยาชื่อสามัญจากสิทธิบัตร (Patent) ของยาต้นแบบ (Original) ทำให้ผลิตยาชื่อสามัญได้ด้วยต้นทุนถูกมาก

อุตสาหกรรมยา (Pharmaceutical industry) ของไทย จึงอยู่ในภาวะขาดดุลการค้า (Trade deficit) มาโดยตลอด แต่การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้ไทยมีการนำเข้ายาประเภทวัคซีนเพิ่มขึ้นมากจากจีน, เบลเยียม, เยอรมนี, สหรัฐอเมริกา, และฝรั่งเศส โดยในปี พ.ศ. 2564 ไทยนำเข้าวัคซีนสัดส่วน 32.5% ของมูลค่าการนำเข้ายาทั้งหมด จากเพียง 5.4% ในปี พ.ศ. 2563

ในปัจจุบัน ผู้ผลิตยาภาคเอกชน (Private manufacturer) ในประเทศเผชิญแรงกดดัน จาก

  • การเข้ามาแข่งขัน (Competition) ของยาราคาถูกจากอินเดียและจีน ซึ่งมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทย
  • ผู้ผลิตภาคเอกชนบางกลุ่มยังค่อนข้างเสียเปรียบ (Competitive disadvantage) หน่วยงานภาครัฐทั้งด้านต้นทุนการผลิต (Production cost) และโอกาส (Opportunity) เข้าถึงช่องทางการจำหน่าย (Channel of distribution)
  • กระทรวงสาธารณสุขและกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ได้กำหนดราคากลางของยาเพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย และเพื่อให้โรงพยาบาลของรัฐสามารถจัดซื้อยาในราคาที่เหมาะสม นับเป็นข้อจำกัด (Limitation) ต่อการปรับขึ้นราคา (Up-pricing) ยาบางประเภท
  • การต้องปฏิบัติตามมาตรฐาน GMP-PIC/S เนื่องจากไทยเป็นสมาชิกการตรวจประเมินยาแห่งสหภาพยุโรป (Pharmaceutical Inspection Co-operation Scheme) ทำให้ผู้ผลิตมีต้นทุนเพิ่มขึ้น และ
  • การต้องจัดหาสถานที่เก็บยาและการกระจาย (Distribution) ยาที่เหมาะสมและเพียงพอ ตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยเงื่อนไขการกระจายยาแผนปัจจุบันปี พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565

แหล่งข้อมูล

  1. https://workpointtoday.com/medicine-industry/ [2023, July 1].
  2. https://www.krungsri.com/th/research/industry/industry-outlook/chemicals/phamaceuticals/io/io-pharmaceuticals-2023-2025 [2023, July 1].