3. ตลาดยา - ตอนที่ 5

ตลาดยา

ข้อมูลพื้นฐานเพื่อความเข้าใจในอุตสาหกรรมยา ก็คืออุตสาหกรรมนี้ครอบคลุมยาแผนปัจจุบัน และเวชภัณฑ์ที่ใช้ในการวินิจฉัยและรักษาโรคทุกประเภท มิได้ครอบคลุมยาแผนโบราณ โดยที่ยาแผนปัจจุบัน แบ่งเป็น 2 ประเภท อันได้แก่

  1. ยาต้นตำรับ (Original drug) หรือเรียกว่า ยาจดสิทธิบัตร (Patented drug)เป็นยาที่ผ่านการวิจัยและพัฒนา (Research & Development) ซึ่งต้องใช้ระยะเวลานานในการศึกษาค้นคว้า จึงมีค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน (Capital investment) สูง ผู้ผลิตยาต้นตำรับจะได้รับสิทธิบัตรผูกขาด (Monopoly) ในการผลิตยาเป็นเวลา 20 ปี เมื่ออายุสิทธิบัตรยาสิ้นสุดลง ผู้ผลิตรายอื่นๆ จะสามารถผลิตยานั้นออกจำหน่ายได้
  2. ยาชื่อสามัญ (Generic drug)เป็นการผลิตลอกเลียนสูตรยาต้นตำรับ ซึ่งหมดสิทธิบัตรแล้ว หรือเป็นการผลิตขึ้นภายใต้เครื่องหมายการค้า (Trade mark) ที่ไม่ใช่เครื่องหมายการค้าตามสิทธิของผู้ครองสิทธิบัตรยา แต่มีตัวยาสำคัญชนิดเดียวกันกับยาต้นตำรับ จึงมีคุณสมบัติทางการรักษาเช่นเดียวกับยาต้นตำรับ แต่เนื่องจากการผลิต (Manufacturing) มักใช้วัตถุดิบที่มีต้นทุนต่ำกว่าและไม่มีค่าใช้จ่ายในการวิจัยตัวยา ต้นทุนการผลิตยาชื่อสามัญจึงต่ำกว่ายาต้นตำรับมาก

ปี พ.ศ. 2565 มูลค่าจำหน่ายยาในประเทศมีแนวโน้มเติบโต +4.5 ถึง +5.0% จากปี พ.ศ. 2564 ผลจากความต้องการบริโภคยาและเวชภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมที่กลับสู่ระดับใกล้เคียงปกติ หลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ขณะที่กำลังซื้อ (Purchasing power) มีแนวโน้มขยับดีขึ้น ตามทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ และผู้ป่วยทยอยกลับมารับการรักษาในสถานพยาบาล ส่วนการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวก็ทำให้ความต้องการบริโภคยาเพิ่มยิ่งขึ้น

ปี พ.ศ. 2566 ถึง พ.ศ. 2568 คาดว่ามูลค่าจำหน่ายยาจะเติบโตต่อเนื่อง จากแนวโน้มการเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นของโรคไม่ติดต่อ (Non-communicable diseases: NCD) เรื้อรัง, การเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal coverage), จำนวนผู้ป่วยต่างชาติที่มีแนวโน้มกลับมาใช้บริการมากขึ้น, และกระแสการใส่ใจสุขภาพ (Health consciousness) และความต้องการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน (Preventive) ซึ่งสอดคล้องกันทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ประเด็นท้าทาย (Challenges) ของธุรกิจ ได้แก่

  • การที่ไทยยังขาดศักยภาพในการผลิตยา (Manufacturing potential) ที่จำเป็น จึงต้องพึ่งพาการนำเข้าเป็นส่วนมาก
  • การแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น (Highly competitive) จากผู้ประกอบการรายใหม่ทั้งคนไทยและต่างชาติ และ
  • ภาระต้นทุนของผู้ผลิตยาที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากการต้องปรับปรุง (Renovation) โรงงานผลิตยา เพื่อให้ได้ตามมาตรฐาน GMP-PIC/S รวมถึงราคาวัตถุดิบนำเข้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ปัจจัยข้างต้นจะจำกัดการทำกำไรของผู้ประกอบการ

ยาและเวชภัณฑ์เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เงินลงทุนสูงในการวิจัยและพัฒนาวัตถุดิบและตัวยาใหม่อย่างต่อเนื่อง ทำให้ฐานการผลิต (Manufacturing base) ของยาและเวชภัณฑ์หลักของโลก (โดยเฉพาะยาต้นตำรับหรือยาจดสิทธิบัตร) กระจุกตัว (Concentrate) อยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา, ยุโรป, และญี่ปุ่น ซึ่งมีศักยภาพทั้งด้านบุคลากร, องค์ความรู้, และเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาส่วนมาก (รวมทั้งประเทศไทยด้วย) ยังเป็นเพียงผู้นำเข้ายาต้นตำรับซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง 

แหล่งข้อมูล

  1. https://workpointtoday.com/medicine-industry/ [2023, April 28].
  2. https://www.krungsri.com/th/research/industry/industry-outlook/chemicals/phamaceuticals/io/io-pharmaceuticals-2023-2025 [2023, April 28].