3. ตลาดยา - ตอนที่ 4

ตลาดยา

กลุ่มยารักษาโรคความดันโลหิต (Blood pressure) สูง, เบาหวาน (Diabetes), และยาลดไขมันในหลอดเลือด (Lipid-lowering drug: LLD) ก็มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น จากคำสั่งซื้อจากโรงพยาบาล ที่เปลี่ยนจำนวนการจ่ายยาให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังสูงกว่าปรกติ 2 ถึง 3 เท่า หรือจ่ายยาให้ผู้ป่วยล่วงหน้า 3 ถึง 6 เดือน ตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distance)

โดยมูลค่าการจำหน่ายยาเม็ดเพิ่มขึ้น 14.6% (Year-to-year growth: Y-o-Y) รองลงมา ได้แก่ ยาแคปซูล, ยาฉีด, และยาน้ำ ซึ่งสอดคล้องกับมูลค่าการนำเข้ายาที่เพิ่มขึ้น 0.7% คิดเป็นมูลค่า 1.3 หมื่นล้านบาท ส่วนมากเป็นการนำเข้ายาและส่วนประกอบตัวยาสำคัญจากจีนและอินเดีย

ในทางตรงข้าม การส่งออกหดตัวทั้งด้านปริมาณลดลง -4.4% (YoY) และมูลค่าลดง -11.3% (YoY) เนื่องจากในช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีความรุนแรง ทุกประเทศซึ่งรวมทั้งไทยชะลอการส่งออก และหันมาเน้นการตอบสนองความต้องการใช้ในประเทศก่อน

แม้โควิด-19 จะทำให้มีความต้องการใช้ยา (Consumption demand) มากขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการแพร่ระบาดที่รุนแรงได้ส่งผลให้คนไทยและชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ลดการใช้บริการที่โรงพยาบาล (ซึ่งเป็นตลาดหลักของการใช้ยา) ลง ส่งผลต่อตลาดยาในประเทศในภาพรวมลดลง

ศูนย์วิจัยของธนาคารกรุงศรีอยุธยา รายงานว่าปี พ.ศ. 2563 มูลค่าจำหน่ายยาในประเทศเติบโตต่ำที่เพียง 2.0 ถึง 3.0% เท่านั้น ซึ่งกระทบโดยตรง (Direct impact) ต่อรายได้ของผู้ผลิตยา [แต่ก็เป็นผลกระทบที่ไม่รุนแรงนัก เมื่อเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ซึ่งมีธุรกิจจำนวนไม่น้อยที่ต้องปิดกิจการไป]

นอกจากนี้ ผู้ผลิตยาเองก็ยังต้องเผชิญกับแรงกดดัน (Pressure) อย่างรอบด้าน ทั้งการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ต้นทุนผู้ผลิตในประเทศก็สูงขึ้นจากการปรับปรุงโรงงานให้ได้มาตรฐานสากล และราคาวัตถุดิบยานำเข้าที่สูงขึ้น รวมถึงการควบคุมราคา (Price control) ยาของภาครัฐ ที่จำหน่ายในโรงพยาบาลเอกชน

ความเห็นจากศูนย์วิจัยธนาคารออมสินก็คือ ในปี พ.ศ. 2564 การระบาดในระลอกที่ 3 ของโควิด-19 ค่อนข้างรุนแรงและหนักหน่วงกว่าครั้งก่อนๆ จึงกลายเป็นความท้าทาย (Challenge) ครั้งใหญ่ที่อุตสาหกรรมยาในประเทศต้องเผชิญ (Confront) แต่ไม่ใช่เพียงอุตสาหกรรมยาเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ โควิด-19 ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับแทบทุกอุตสาหกรรม รวมถึงเศรษฐกิจไทยในองค์รวมด้วย

หากมองไปในอนาคต ความหวังคงอยู่ที่การแก้ไขปัญหาสถานการณ์โควิด-19 ของรัฐบาล ซึ่งปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้แล้ว โดยลดการแพร่ระบาดลงมาอยู่ในระดับท้องถิ่น (Epidemic) แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากราคาน้ำมันในตลาดโลก ยังเป็นอุปสรรค (Obstacle) ต่อตลาดยาที่น่ากังวลไม่น้อย

แหล่งข้อมูล

  1. https://workpointtoday.com/medicine-industry/ [2023, April 21].
  2. https://www.gsbresearch.or.th/gsb/published-works/7672/ [2023, April 21].