10. ตลาดประกันสุขภาพ – ตอนที่ 13

ในการพิจารณากรมธรรม์ที่ตอบโจทย์ลูกค้า (Consumer-centric) บริษัทประกันชีวิตจะต้องเน้นความต้องการของลูกค้าให้มาก (Customer want) และต้องออกแบบกรมธรรม์ที่ให้ลูกค้าหยั่งเห็นคุณค่า (Perceived value) สูงขึ้น เช่น ความคุ้มค่ากับราคาที่จ่าย หรือการบรรเทาความกังวลหรือความกลัวต่อภัยรอบตัว

ปัจจุบัน ลูกค้าเต็มใจที่จะแบ่งปัน (Share) ข้อมูลของตนมากขึ้นเพื่อแลกกับการปรับเปลี่ยนกรมธรรม์ในแบบของแต่ละคน (Personalization) ผู้บริโภค 6 ใน 10 ราย สบายใจที่จะให้รายละเอียดส่วนตัวกับบริษัทประกันเกี่ยวกับวิถีการใช้ชีวิต (Life style), ที่อยู่อาศัย, และข้อมูล อื่นๆ เพื่อแลกกับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น ส่วนลดเบี้ยประกัน (Premium) หรือการดำเนินการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน (Compensation)

เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้ต้องรักษาระยะห่าง (Physical distancing) หรือทำงานจากที่บ้าน (Work from home) บริษัทประกันชีวิต (ซึ่งรวมประกันสุขภาพด้วย) ส่วนมากได้นำเทคโนโลยีการประกัน (Insurance technology: InsurTech) มาใช้กับผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพและโรคร้ายแรงมากขึ้น

ตัวอย่างเช่น บริการโทรเวชกรรม (Tele-medicine) ผ่านซอฟต์แวร์ประยุกต์ (Application: App) ที่อำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า หรือแม้กระทั่งพัฒนาโครงสร้าง (Structure) การรับประกันภัยให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล (Digital) โดยสมบูรณ์แบบ

การแข่งขันที่ทวีความรุนแรง บริษัทประกันจึงพยายามสร้างความแตกต่างให้ตนเองมากขึ้น (Differentiate) ผ่านบริการที่เพิ่มมูลค่า (Value-added) และผลประโยชน์ที่มิใช่ตัวเงิน (Non-monetary benefit) เนื่องจากความคุ้มครองชีวิตและสุขภาพมีความใกล้เคียงกันมาก

ตัวอย่างของบริการที่เพิ่มมูลค่า เช่น การให้บริการทางการแพทย์สำหรับลูกค้าที่กังวลกับค่าครองชีพในช่วงเกษียณอายุ บริษัทประกันชีวิตอาจแทนที่การจ่ายเงินบำนาญด้วยการรับประกันการจัดการด้านสุขภาพ หรือการร่วมมือกับโรงพยาบาล เพื่อความสะดวกแก่ลูกค้า

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสภาวะที่ต่ำลงของอัตราดอกเบี้ยนั้น ทำให้ธุรกิจประกันชีวิตจำเป็นต้องมีการปรับตัว โดยผลกระทบที่เกิด ขึ้นกับค่าใช้จ่าย (Expense) ของบริษัท เนื่องจากผลตอบแทนจากการลงทุนที่ถดถอยลง ทำให้บริษัทจำเป็นต้องมีการปรับลดโครงสร้างค่าใช้จ่ายบางส่วนลง ซึ่งอาจมีผลกระทบถึงค่านายหน้า (Commission) ด้วย

สืบเนื่องจากผลตอบแทนจากการลงทุน (Investment) ในพันธบัตรรัฐบาล (Bond) ที่ลดต่ำลง ทำให้บริษัทจำเป็นต้องมีการปรับสัดส่วนของการลงทุนให้หลากหลายมากขึ้น เช่น การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ และการลงทุนในกองทุนรวม (Mutual fund) ซึ่งผลของการลงทุนนี้อาจทำให้บริษัทได้รับผลตอบที่สูงขึ้นหรือลดลง ขึ้นอยู่กับความสามารถในการลงทุนของบริษัท

ตัวอย่างเช่น อาจลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล 95% และในหุ้นดัชนี (Index) 5% หรือ อาจลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเพียง 50% แล้วจัดสรรเงินที่เหลือระหว่างหุ้นดัชนี 25% และกองทุนรวมอีก 25% เป็นต้น

แหล่งข้อมูล -

  1. https://www.tfpa.or.th/9e6417ebffecef071/upload/151120219344.pdf [2023, August 19].
  2. https://www.investopedia.com/terms/l/lapse.asp [2023, August 19].