14. ตลาดธุรกิจฟิตเน็ส-เว็ลเน็ส - ตอนที่ 7

ตลาดธุรกิจฟิตเน็ส-เว็ลเน็ส

ข้อมูลหนังสือพิมพ์ Thai Business รายงานว่า ตลาดของการออกกำลังกาย (Physical activity) ในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2549 มีมูลค่าทางการตลาด 1,500 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 4 ประเภท ดังนี้

  1. สโมสรกีฬา (Mega club) เป็นศูนย์ออกกำลังกาย ที่ม่ีพื้นที่ขนาดใหญ่ รองรับกีฬาเกือบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นกีฬากลางแจ้งหรือกีฬาในอาคาร มีห้องอาหารและห้องเสริมสวยไว้บริการ ค่าธรรมเนียมแรกเข้าและค่าธรรมเนียมรายเดือนค่อนข้างสูง เช่น ราชกรีฑาสโมสร (Royal Bangkok Sports Club) และสโมสรราชพฤกษ์ (Rajaprueg Sport Club)
  1. ศูนย์กีฬา (Multi-sports center) เป็นศูนย์ออกกำลังกายขนาดปานกลาง โดยมากมักจะอยู่ในโรงแรม หรืออาคารสำนักงานขนาดใหญ่ (Office building) มีทั้งกีฬากลางแจ้ง (Outdoor) และในอาคาร (Indoor) โดยมีค่าธรรมเนียมแรกเข้า (Entry fee) และรายเดือนค่อนข้างสูง เช่น Sports City
  1. ศูนย์ฟิตเน็ส (Fitness center) เป็นศูนย์ออกกำลังกายที่ม่ีขนาดเล็ก เน้นการออกกำลังกายโดยเฉพาะและให้ความสำคัญกับความสะดวกสบาย (Convenience) ในการเดินทาง และมีการคิดค่าบริการที่หลากหลาย ตามประเภทของกีฬาที่เลือกใช้บริการ ตั้งอยู่ในแหล่งชุมชนต่างๆ นิยมตั้งในศูนย์การค้าและอาคารสำนักงาน เช่น แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กซ์พีเรียนซ์ (California Wow Experience) และ ฟิตเน็สเฟิร์สท์ (Fitness First)
  1. ศูนย์บริการเฉพาะ (Niche club) เป็นศูนย์บริการเที่รวมการออกกำลังกายเฉพาะส่วน และการควบคุมน้ำหนัก จะมีกลุ่มลูกค้าที่ เฉพาะเจาะจง เช่น บอดี้เชพ (Body Shape), ฟิลิป เวน (Phillip Wein), มารี ฟร็องซ์ บอดีไลน์ (Marie France Body Line) เป็นต้น ส่วนใหญ่ไม่มีการสมัครสมาชิก จะเป็นลักษณะของการซื้อหลักสูตร (Course) ในการลดน้ำหนักหรือการลดสัดส่วน เฉพาะที่ เช่น ลดต้นแขนและลดต้นขา ศูนย์บริการเฉพาะจะมีลูกค้าในวงจำกัด จึงมีค่อนข้างสูงในการใช้บริการ

ด้วยความตระหนักและสนใจในการออกกำลังกายและดูแลสุขภาพ (Health consciousness) มากขึ้น รวมถึงการได้รับอิทธิพลของอารยธรรมตะวันตก ส่งผลให้คนไทย ต้องการบริการทางด้านสถานที่และอุปกรณ์ (Equipment) ในการออกกำลังกายมากขึ้น จากสถานออกกำลังกายทั้ง 4 ประเภทดังกล่าวแล้ว จะพบว่าศูนย์ฟิตเนส เป็นสถานบริการออกกำลังกายที่เติบโตเร็วที่สุด

การขยายตัวดังกล่าว จะเห็นในรูปแบบการขยายสาขา (Branch), การปรับปรุงสถานที่, การเพิ่มเติมอุปกรณ์, และกิจกรรมการออกกำลังกายให้มีความทันสมัย (Modern) มากขึ้น ตามรายงานประจำปี บริษัทแคลิฟอร์เนียร์ว้าวเอ็กซ์พีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) แสดงว่า จากในปี พ.ศ. 2548 ถึง ปี พ.ศ. 2549 อุตสาหกรรม (Industry) ฟิตเน็สมีอัตราการเจริญเติบโตที่สูงมาก

อัตราการขยายจำนวนสาขาสูงถึง 86% จากปี พ.ศ. 2548 ที่มีเพียง 21 สาขา เพิ่มขึ้นถึง 39 สาขา เมื่อสิ้นปี พ.ศ. 2549 นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการ (Entrepreneur) รายใหม่เข้ามาในตลาดเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ทำให้ตลาดของศูนย์ฟิตเน็สขยายตัวและทวีการแข่งขันรุนแรงยิ่งขึ้น ผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ ในตลาดจะให้บริการด้าน ศูนย์ฟิตเน็สเป็นส่วนใหญ่ โดยมีเครื่องออกกำลังกาย, ผู้ให้คำปรึกษาแนะนำ (Trainer) การออกกำลังกาย, และแข่งขันกันด้วยพื้นที่ให้บริการตั้งอยู่ใจกลางเมือง ตามเส้นทางรถไฟฟ้า เป็นต้น

แหล่งข้อมูล -

  1. http://dspace.spu.ac.th/bitstream/123456789/1475/3/03%20.pdf [2023, May 31].
  2. https://www.dbd.go.th/download/document_file/Statisic/2562/T26/T26_pdf [2023, May 31].