14. ตลาดธุรกิจฟิตเน็ส-เว็ลเน็ส - ตอนที่ 4

ตลาดธุรกิจฟิตเน็ส-เว็ลเน็ส

ผลประกอบการกลุ่มธุรกิจฟิตเน็ส ระหว่าง ปี พ.ศ. 2558 ถึง พ.ศ. 2560 มีมูลค่าตามสัญชาติ ไทย 7,155.70 ล้านบาท คิดเป็น 85.7% ของทั้งตลาด, มูลค่าตามสัญชาติอังกฤษ 602.43 ล้านบาท คิดเป็น 7.2% ของทั้งตลาด, มูลค่าตามสัญชาติเนเธอร์แลนด์ 250 ล้านบาท คิดเป็น 3.0% ของทั้งตลาด, มูลค่าตามสัญชาติสิงคโปร์ 48.83 ล้านบาท คิดเป็น 0.6% ของทั้งตลาด, และมูลค่าตามสัญชาติอื่นๆ 293.70 ล้านบาท คิดเป็น 3.5% ของทั้งตลาด รวมมูลค่าทั้งสิ้น 8,350.66 ล้านบาท คิดเป็น 100% ของทั้งตลาด

การลงทุนของต่างชาติ (Foreign) ในนิติบุคคลไทย ในปี พ.ศ. 2562 เพิ่มขึ้น +27.9% จากปี พ.ศ. 2561 รายได้รวมของกลุ่มธุรกิจฟิตเน็สในปี พ.ศ. 2558 ถึง พ.ศ. 2560 เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราเติบโตเฉลี่ยถึง +12.4% ต่อปี โดยที่ธุรกิจฟิตเน็ส ขนาดเล็ก มีรายได้รวมเพิ่มขึ้นในอัตราที่ก้าวกระโดด ถึง +37.9% และ +38.8% ในปี พ.ศ. 2559 และ พ.ศ. 2560 ตามลำดับ

สถิติดังกล่าว สอดคล้องกับแนวโน้ม (Trend) ของธุรกิจฟิตเน็สที่มีรายย่อยเปิดตัวมากขึ้นและกระจายตัวในย่านชุมชน เพื่อจับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการออกกำลังกายใกล้บ้าน ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง ในขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่ก็ยังคงมีรายได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง คิดเป็น 30.5% ของรายได้ทั้งตลาด ในปี พ.ศ. 2558 แม้อัตราการเติบโตชะลอตัวลง เหลือ +5.6% ในปี พ.ศ. 2560

ในภาพรวม (Overall) กลุ่มธุรกิจมีผลกำไรเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่เป็นสัดส่วนสำคัญที่ทำให้ผลประกอบการของทั้งกลุ่มธุรกิจเป็นบวก โดยกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ช่วยถ่วงน้ำหนักด้วยกำไรที่มีอัตราเติบโตเฉลี่ย 3 ปี ถึง +56.5% ต่อปี

ในขณะที่ธุรกิจขนาดกลาง (Medium-sized) เริ่มมีผลการดำเนินการที่กลับมาเป็นบวก (Turn-around) ในปี พ.ศ. 2560 แต่ธุรกิจขนาดเล็ก ยังคงมีผลการดำเนินงานขาดทุน (Loss) อันเป็นผลมาจากจำนวนฐานสมาชิก (Membership base) ที่มีอยู่ ยังไม่สามารถสร้างรายได้ที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายและเงินลงทุนในเครื่องออกกำลังกาย

ทั้งนี้ ธุรกิจฟิตเน็สเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ต้องการเงินหมุนเวียน (Cash flow) สูง เพราะมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา (Maintenance) อุปกรณ์เครื่องเล่นและค่าเสื่อมราคา (Depreciation) ที่ค่อนข้างสูงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้ประกอบการต้องมีแผนการบริหารค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพ (Efficiency) แต่จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นตลอดและแนวโน้มการรักษาสุขภาพ แสดงให้เห็นถึงความต้องการในตลาด (Market demand) ที่ยังมีช่องว่างให้ผู้ประกอบการสามารถขยายฐานลูกค้าเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่กิจการได้

ในมิติอัตราส่วนทางการเงิน (Financial ratio) ของกลุ่มธุรกิจในภาพรวม ธุรกิจมีอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (Return on assets: ROA) ที่ดี ขึ้น หลังจากที่ประสบผลขาดทุนในปี พ.ศ. 2558 โดยมีอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ในปี พ.ศ. 2559 ณ 1.0 % และปี พ.ศ. 2560 ณ 1.9% ซึ่งเมื่อพิจารณาอัตรากำไรสุทธิร่วมด้วย พบว่า อัตรากำไรสุทธิเพิ่มสูงขึ้นทุกปี แสดงถึงประสิทธิภาพในการทำกำไรที่ดีขึ้นของธุรกิจ โดยอัตรากำไรสุทธิในปี พ.ศ. 2559 อยู่ที่ 1.7% และปี พ.ศ. 2560 อยู่ที่ 3.4%

ส่วนอัตราหมุนเวียนของสินทรัพย์ ซึ่งเป็นการวัดการสร้างรายได้ต่อสินทรัพย์ของธุรกิจพบว่า ธุรกิจมีอัตราหมุนเวียนของสินทรัพย์ในแต่ละปีที่ใกล้เคียงกัน โดยอยู่ระหว่าง 0.52 ถึง 0.57 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจต้องพึ่งพาการลงทุนในสินทรัพย์ (Investment in assets) อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้าง (Generate) การเติบโตของรายได้

แหล่งข้อมูล

  1. http://dspace.spu.ac.th/bitstream/123456789/1475/3/03%20.pdf [2023, April 14].
  2. https://www.dbd.go.th/download/document_file/Statisic/2562/T26/T26_pdf [2023, April 14].