12. ตลาดคลินิกเสริมความงาม-ชะลอวัย – ตอนที่ 22

ภายหลังการแพร่ระบาดไปทั่วโลก (Pandemic) ของเชื้อไวรัสโควิด-19 และการเสียชีวิตจากโรคร้ายแบบปัจจุบันทันด่วน ส่งผลให้ผู้คนกลับมาดูแลสุขภาพกันมากขึ้น โดยเฉพาะการดูแลสุขภาพในเชิงป้องกัน (Preventive) ทำให้การแพทย์ด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย (Anti-aging) และฟื้นฟูสุขภาพมีอัตราการเติบโตสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว 

ในขณะเดียวกัน วิทยาการด้านการแพทย์ก็มีความก้าวหน้า (Advancement) มาก โดยสามารถตรวจเลือดหาโลหะหนัก, เซลล์, หรือยีนเพื่อดูความเสี่ยง (Risk) หรือโอกาสของการเกิดโรคร้ายต่างๆ ในอนาคตได้ เพื่อหาวิธีป้องกัน ก่อนที่จะเกิดโรคร้ายตามมา จึงทำให้การดูแลรักษาสุขภาพแบบองค์รวม (Holistic) ได้รับความนิยมไปทั่ว

ทั้งการใช้ยาควบคู่กับการใช้สมุนไพร (Herb), สารอาหาร (Nutrient), อาหารเสริม (Food supplement), วิตามิน, การปรับเติมเสริมฮอร์โมนที่ขาดให้กลับคืนมารวมถึงฟื้นฟู (Rejuvenate) เซลล์ร่างกายให้กลับมาดีขึ้น โดยเฉพาะตลาดอาหารเสริมในปัจจุบัน มีมูลค่าสูงถึง 80,000 ล้านบาทต่อปี

แนวโน้ม (Trend) ในตลาดชะลอวัย คือการก่อตั้งศูนย์ดูแลรักษาสุขภาพแบบบูรณาการ (Integrative medicine) ซึ่งมีมาตั้งแต่ปี 2548 โดยเฉพาะการเข้าสู่สังคมสูงวัย ทำให้คนเรามีอายุยืนยาวขึ้น จึงเกิดการตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลสุขภาพมากขึ้น ส่งผลให้การตรวจสุขภาพ (Physical check-up) ประจำปีมากขึ้น

ในอดีตที่ผ่านมา การตรวจสุขภาพที่เน้นตรวจหาโรคที่เกิดขึ้นแล้ว อาจไม่เพียงพอสำหรับคนที่พอมีกำลังทรัพย์ (Purchasing power) ในการพยายามดูแลสุขภาพในเชิงป้องกัน โดยไม่รอให้ป่วยก่อนแล้วค่อยเข้าไปรักษา เพราะอาจสายเกินไป ส่งผลให้ตลาดอาหารเสริม (Food supplement) และบริการเวชศาสตร์ฟื้นฟู (Rehabilitation medicine) เติบโตมากขึ้นทั่วโลกไม่เฉพาะแค่ในประเทศไทย

ประเทศไทยมีจุดแข็งในการเป็นศูนย์กลางของสุขภาพและสุขภาวะ (Health and wellness) โดยมีบริการทางการแพทย์ (Medical service) ที่มีมาตรฐาน (Standard) สูง, ได้รับการยอมรับระดับนานาชาติ (Internationally-accepted), และมีหมอที่มีความเชี่ยวชาญ (Specialist) จำนวนมาก

นอกจากนี้ ยังมีโรงพยาบาล, ศูนย์การแพทย์ (Medical center), มีเครื่องมือแพทย์ (Medical device) ที่ทันสมัย, มีธุรกิจ สปามาตรฐานระดับโลก (Global) ขณะที่รัฐบาลให้การส่งเสริม (Promote) การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical tourism) และผลักดัน (Drive) ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพและสุขภาวะ

อุตสาหกรรมสุขภาพและสุขภาวะ มีมูลค่าตลาดที่ติดอันดับ 4 ของเอเชีย และติด 1 ใน 10 ของโลก ดังนั้น จึงมีชาวต่างชาติทั่วโลกมาใช้บริการ ข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ปี พ.ศ. 2562 พบว่าบริการสุขภาพและสุขภาวะของไทยมีมูลค่าสูงปีละ 400,000 ล้านบาท ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียน (Economic circulation) ที่มีการจ้างงาน (Employment) มากกว่า 500,000 คน

แหล่งข้อมูล

  1. https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ/2695367 [2023, December 25].
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Anti-aging_movement [2023, December 25].