11. ตลาดคลินิกฟอกไต - ตอนที่ 4

ตลาดคลินิกฟอกไต

พฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อ (Non-communicable disease: NCD) เรื้อรัง เพิ่มมากขึ้น โดยที่โรคไตเป็นหนึ่งในโรคเรื้อรัง (Chronic) ที่เป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุขในประเทศไทย

จากสถิติในงานกิจกรรมวันไตโลก (World’s Kidney Day) ปี พ.ศ. 2564 พบว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคไตประมาณ 8 ล้านคน โดยที่คนไทยมีแนวโน้มป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และค่าเฉลี่ยอายุของผู้ป่วยน้อยลงทุกปี

ผู้นำตลาด (Market leader) ในบริการ (Service) ฟอกไต ได้เปิดตัวศูนย์ฟอกไต เพื่อให้บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemolysis) ซึ่งช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิต (Quality of life) ของผู้ป่วยโรคไต เริ่มตั้งแต่การจัดสรรด้านสถานที่, สภาพแวดล้อมภายในศูนย์, การควบคุมคุณภาพของอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษา, และการพัฒนาระบบจัดเก็บข้อมูลผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพ

ส่วนผู้นำตลาดในสินค้า (Product) เกี่ยวกับการฟอกไต มีชื่อเสียงในด้านความสามารถในการร่วมมือและทำงานร่วมกับแพทย์ทั่วทั้งภูมิภาค ในการดูแลด้านคลินิก, ขั้นตอนความปลอดภัย, และการวิจัยที่ได้มาตรฐาน (Standard research) ทำให้แพทย์สามารถมั่นใจได้ว่าผู้ป่วยของแพทย์เหล่านั้นจะได้รับการดูแลและการเอาใจใส่เป็นอย่างดี

ผู้นำตลาดดังกล่าว มีระบบการบริหารจัดการที่ปรับปรุงผลลัพธ์ (Out-come) ในการรักษาทางการแพทย์ของผู้ป่วย ในขณะที่เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน โดยคำนึงถึงทุกมิติของการดูแลผู้ป่วย แล้วยังสนับสนุนการศึกษาทางวิทยาศาสตร์และการสัมมนาทางวิชาการ (Academic seminar) ของบุคลากรทางการแพทย์

นอกจากนี้ ยังมีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศทางด้านโรคไต โดยประยุกต์ใช้ซอฟต์แวร์กับการบำบัดรักษาที่ศูนย์ฟอกไต, การบำบัดรักษาแบบฉุกเฉิน (Emergency), หรือการบำบัดรักษาที่บ้าน เพื่อช่วยในการดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ด้วยวิธีที่ได้มาตรฐาน, ในราคาที่เหมาะสม, และการช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ (Efficiency)

ปรมาจารย์ทางการตลาด ฟิลิป คอตเล่อร์ (Phillip Kotler) ได้ให้แนวคิดการตลาดสำหรับธุรกิจบริการ (Service business) โดยเรียกว่า ส่วนผสมการตลาด (Marketing mix) อันเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ธุรกิจสามารถนำมาใช้ เพื่อตอบสนองความต้องการและสร้างความพึงพอใจ (Satisfaction) ของกลุ่มผู้รับบริการ

การกระตุ้นให้กลุ่มผู้รับบริการเป้าหมาย เกิดความต้องการบริการ ประกอบไปด้วยปัจจัยด้านบริการที่นำเสนอ (Service offering), ด้านราคา (Price), ด้านช่องทางการเข้าถึง (Channel), ด้านกิจกรรมการส่งเสริมการตลาด (Promotion), ด้านผู้ให้บริการ (Personnel), ด้านกระบวนการให้บริการ (Process), และด้านสภาพแวดล้อมในการให้บริการ (Physical evidence)

กล่าวคือ ก่อนที่จะมีการตัดสินใจเลือกใช้บริการฟอกไตนั้น ผู้ป่วยจำเป็นต้องมีแรงจูงใจที่มากพอ และมีการเปรียบเทียบผลประโยชน์ที่จะได้รับจากบริการ ดังนั้นผู้ให้บริการต้องสร้างความเชื่อมั่น (Confidence) ให้แก่ผู้รับบริการ เพื่อการตัดสินใจใช้บริการที่รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งการศึกษาวิจัยในต่างประเทศ (ยุโรป, อเมริกาใต้, และออสเตรเลีย) พบว่าส่วนผสมการตลาดบริการ มีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อความพึงพอใจของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ที่ใช้บริการคลินิกฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม

แหล่งข้อมูล

  1. https://www.freseniusmedicalcare.co.th/about [2023, April 21].
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Philip_Kotler [2023, April 21].