9. ตลาดการแพทย์ทางไกล – ตอนที่ 27

การแพทย์ทางไกล (Tele-medicine) เป็นธุรกิจที่พร้อมเติบโตท่ามกลางวิกฤต (Crisis) โควิด-19 ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของมนุษย์ โดยเฉพาะ เทคโนโลยีด้านสารสนเทศ (Information) และการสื่อสาร (Communication) ที่เข้ามาเชื่อมโยง (Link) โลกในด้านการศึกษา, เศรษฐกิจ, การแพทย์, และ สาธารณสุข (Public health) เข้าด้วยกัน

สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจน คือ การแพทย์ทางไกล ซึ่งองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ให้คำจำกัดความ (Definition) ว่าเป็น การให้บริการด้านสาธารณสุข ด้วยผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ (Medical specialist) แก่ประชาชนที่อยู่ห่างไกล (Remote) โดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศ, การสื่อสาร, และการแลกเปลี่ยนข้อมูล (Data exchange)

โดยเฉพาะเพื่อประโยชน์ด้านงานวิจัย (Research), ด้านการรักษา (Treatment), และการป้องกัน (Prevention) โรค ซึ่งตลาดการให้บริการการแพทย์ทางไกล ถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้าง สุขภาพ (สสส.) ได้ประเมินตลาดทั่วโลกในปี พ.ศ. 2563 มีมูลค่าสูงถึงประมาณ 55,900 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1,956.5 ล้านล้านบาท)

นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ (Expect) ว่าในช่วงปี พ.ศ. 2564 ถึง พ.ศ. 2567 ตลาดจะขยายตัว (Expand) อยู่ที่ประมาณ 22.4% โดยเป็นไปตามความต้องการ (Demand) ของผู้บริโภค และการยอมรับ (Acceptance) ที่เพิ่มมากขึ้นของผู้ป่วยต่อการรับบริการผ่านระบบทางไกล (Distant)

นอกจากนี้ข้อมูลจาก Market Data Forecast [บริษัทวิจัยตลาดระดับสากล] ยังได้ทำการสำรวจ ในภูมิภาค (Region) เอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งคาดว่าในปี พ.ศ. 2567 ตลาดการแพทย์ทางไกล ในเอเชีย-แปซิฟิกจะมีมูลค่าสูงถึง 22,450 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 785.75 ล้านล้านบาท) โดยเป็นการสำรวจจากผู้บริโภคและแพทย์จำนวนกว่า 2,050 คน ทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

การแพร่ระบาด (Pandemic) ของเชื้อไวรัส โควิด-19 ในหลายประเทศ ถือเป็นตัวเร่ง (Catalyst) ให้บริการทางการแพทย์ทางไกล ถูกนำมาใช้เพื่อให้บริการเพิ่มมากขึ้น โดยมาตรการ (Measure) ในการควบคุมและป้องกันการแพร่กระจายของโรค เช่น การใส่หน้ากากอนามัย (Sanitary mask) และการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)

มาตรการเหล่านี้ ทำให้เกิดการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารทางไกล (Long-distance communication) เข้ามาจัดสรรและอำนวยความสะดวก (Facilitate) ในการให้บริการทางการแพทย์เพิ่มมากขึ้น ทั้งด้านการให้คำปรึกษาทางการแพทย์ (Clinical consultation), การติดตามผู้ป่วย (Monitor) ระยะไกล, และการผ่าตัดทางไกล (Distant surgery) ด้วย

ในส่วนของการให้คำปรึกษาทางการแพทย์ระยะไกล จะเป็นการสื่อสารกับแพทย์ผ่านทางข้อความ (Text) หรือผ่านระบบประชุมวีดิทัศน์ (Video conference) เพื่อวินิจฉัยโรค (Diagnosis) เสมือนว่าผู้ป่วยได้เข้ามาพบแพทย์ด้วยตัวเอง ซึ่งบริการดังกล่าวมีแนวโน้ม (Trend) ที่จะได้รับความนิยม (Popular) เพิ่มมากขึ้น

โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยเก่า ที่มีประวัติการรักษาโรค (Medical history) กับโรงพยาบาลหรือคลินิก มาระยะหนึ่งแล้ว มีการติดตาม(Follow-up) อาการ หรือมีอาการป่วยที่ไม่หนัก ซึ่งปัจจุบันหลายโรงพยาบาลได้เปิดช่องทางการสื่อสารข้อมูลดังกล่าว ผ่านทางโทรศัพท์ สายด่วน (Hot line) และระบบซอฟต์แวร์ประยุกต์ (Application: App)

แหล่งข้อมูล

  1. https://www.dtn.go.th/th/file/get/file/1.20220401257312f3ccc00194a97ffbf4cf580e5c104518.pdf [2024, March 1].
  2. https://www.marketdataforecast.com/ [2024, March 1].