9. ตลาดการแพทย์ทางไกล – ตอนที่ 22

ผู้ป่วยหรือผู้ดูแลมีความคุ้นชินกับการใช้เทคโนโลยีเป็นอย่างดี โดยจะเป็นการให้บริการผ่านซอฟต์แวร์ประยุกต์ (Application: App.) บนโทรศัพท์อัจฉริยะ (Smart phone) ซึ่งมีทั้งที่โรงพยาบาลลงทุนพัฒนา “เวทีพื้นฐาน” (Platform) ของโรงพยาบาลขึ้นมาเอง หรือร่วมมือกับผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีสุขภาพ (Health tech) ในการจัดทำเพื่อนำมาประยุกต์ใช้

บางแห่งอาจมีการร่วมมือกับบริษัทหรือองค์กรอื่น เพื่อใช้ทรัพยากรร่วมกัน (Shared resource) เช่น การที่บริษัทประกันสุขภาพ (Health insurance) และค่ายบริการ (Service provider) โทรศัพท์มือถือ ร่วมกับโรงพยาบาลเอกชนให้บริการด้านการแพทย์ทางไกล (Tele-medicine) แก่สมาชิก เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ภาครัฐโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) [National Health Security Office: NHSO] ได้พยายามผลักดันให้เกิดการนำการแพทย์ทางไกล มาใช้ในโรงพยาบาลรัฐเพิ่มขึ้น โดยได้กำหนดให้ผู้ป่วยที่ใช้สิทธิบัตรทอง (Gold card) หรือ “30 บาท รักษาทุกโรค” สามารถเข้ารับบริการแบบการแพทย์ทางไกลกับโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการได้

อย่างไรก็ตาม หากมองถึงสัดส่วน (Proportion) การใช้บริการการแพทย์แบบทางไกลของประเทศไทยในปัจจุบัน ยังเรียกว่าเป็นการบริการเฉพาะกลุ่ม (Specific group) ยังไม่ขยายครอบคลุมไปทั้งหมด โดยมีข้อติดขัด (Limitation) อยู่หลายประการทั้งจากโรงพยาบาลหรือผู้ให้บริการเอง เช่น ขาดอุปกรณ์, ขาดเครื่องมือที่จำเป็น, ขาดเจ้าหน้าที่ที่มีความชำนาญในการปฏิบัติงาน เป็นต้น

เช่นเดียวกับผู้รับบริการ (Service recipient) ก็มีปัญหาในการใช้เครื่องมือ, การใช้ App. ของทางโรงพยาบาล, และการสื่อสารแบบไม่ได้พบตัว ทำให้เกิดข้อผิดพลาดขึ้นได้ ไม่นับรวมอุปสรรค (Obstacle) อื่นๆ ซึ่งต้องสำรวจ (Survey) จากผู้ปฏิบัติงานจริงเพิ่มเติม

อันที่จริง บริการแบบการแพทย์ทางไกลในประเทศไทย มีโอกาสเติบโตสูงขึ้นตามแนวโน้ม (Trend) ของโลก โดยมีการพัฒนาทางเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital) เป็นตัวสนับสนุน เช่น 5G (= 5th Generation), อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of things: IoT), ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence: AI), ข้อมูลมหาศาล (Big data), และอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม การก้าวไปได้ไกลแค่ไหนหลังการระบาดไปทั่วโลก (Pandemic) ของไวรัสโควิด-19 ขึ้นกับการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน (Infra-structure) ทางด้านดิจิทัล ทั้งฝั่งผู้ให้บริการ, ระบบโครงข่าย (Net-work) ที่จำเป็น, และฝั่งผู้ที่เข้ารับบริการ

การสนับสนุนอาจทำได้หลายรูปแบบ เช่น ทุนผู้ประกอบการ (Entrepreneur) ปัจจุบัน และทุนสนับสนุนบริษัทเกิดใหม่ (Start- up) เป็นต้น ขึ้นอยู่กับนโยบาย (Policy) หรือทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic direction) และงบประมาณแผ่นดิน (Budget) ระหว่างนี้อาจดำเนินการการแพทย์ทางไกลแบบค่อยเป็นค่อยไป (Gradual)

กล่าวคือ ใช้การแพทย์ทางไกลเป็นบริการเสริม (Supplement) การบริการรักษาพยาบาลแบบเดิม (Conventional) ไปก่อน โดยมุ่งหวังเพื่อช่วยเสริมศักยภาพ (Potential) ในการให้การรักษาพยาบาลแบบเดิมมีประสิทธิภาพ (Efficiency) มากขึ้น และอาจขยายไปสู่การส่งเสริมสุขภาพ (Health promotion) ด้านอื่นๆ ในระยะเวลาถัดไป

แหล่งข้อมูล

  1. https://cimjournal.com/special-articles/health-telemedicine/ [2023, December 22].
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Telehealth [2023, December 22].