ดีไฮโดรอีมีทีน (Dehydroemetine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาดีไฮโดรอีมีทีน(Dehydroemetine หรือ Dehydroemetine hydrochloride หรือ Dehydroemetine dihydrochloride) เป็นยาต้านเชื้อโปรโตซัว(Antiprotozoal agent) สามารถออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อโปรโตซัวอย่าง อะมีบา ได้เป็นอย่างดี ทางคลินิกนำมาใช้รักษาการติดเชื้อดังกล่าวที่เรียกว่า (โรคบิดมีตัว) ที่เกิดที่ลำไส้เล็กตลอดจนถึงลำไส้ใหญ่ ซึ่งมักแสดงอาการท้องเสียร่วมด้วย ยานี้ยังใช้รักษาโรคบิดของอวัยวะอื่นๆที่มีสาเหตุจากการติดเชื้ออะมีบาที่รวมถึงรักษาอาการติดเชื้ออะมีบาที่ตับอีกด้วย

ยาดีไฮโดรอีมีทีน มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาฉีด โดยต้องฉีดเข้ากล้ามเนื้อเท่านั้น การฉีดยานี้เข้าหลอดเลือดดำจะก่อให้เกิดอันตรายกับผู้ป่วย อนึ่ง สามารถใช้ยานี้ได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก โดยใช้น้ำหนักตัวมาเป็นเกณฑ์ในการคำนวณขนาดการให้ยานี้กับผู้ป่วย

ยาดีไฮโดรอีมีทีนสามารถใช้เป็นยาเดี่ยวในการรักษาฝีในตับที่เกิดจากอะมีบาหรือใช้ร่วมกับยา Metronidazole แบบฉีด โดยทั่วไป การใช้ยาฉีดดีไฮโดรอีมีทีนจะมีแต่ในสถานพยาบาล แพทย์เท่านั้นที่สามารถบริหารการใช้ยานี้ได้เหมาะสมและปลอดภัยที่สุด

ระหว่างการใช้ยาดีไฮโดรอีมีทีน ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจประเมินจากแพทย์ถึงการทำงานของหัวใจ การทำงานของกล้ามเนื้อ และของไตร่วมด้วย ด้วยยานี้สามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)กับอวัยวะดังกล่าว

องค์การอนามัยโลกได้ระบุระยะเวลาในการใช้ตัวยาดีไฮโดรอีมีทีนกับผู้ใหญ่ไม่เกิน 4–6 วัน ในขณะที่การใช้ยานี้กับเด็กไม่ควรเกิน 5 วัน แต่ในบางประเทศแถบเอเชียได้ระบุระยะเวลาการใช้ยานี้กับผู้ใหญ่ได้ยาวนานถึง 15 วัน โดยต้องขึ้นกับอาการป่วยและดุลยพินิจของแพทย์

ปัจจุบันในตลาดการค้ายา เราสามารถพบเห็นการจัดจำหน่ายยาชนิดนี้ภายใต้ชื่อการค้าว่า “Tilemetin” และการบริหาร/การใช้ยานี้จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์แต่ผู้เดียว

ดีไฮโดรอีมีทีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ดีไฮโดรอีมีทีน

ยาดีไฮโดรอีมีทีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาโรคบิดมีตัว (โรคลำไส้อักเสบที่มีสาเหตุจากเชื้ออะมีบา)
  • รักษาโรคฝีตับที่มีสาเหตุจากเชื้ออะมีบา

ดีไฮโดรอีมีทีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

สำหรับกลไกการออกฤทธิ์ของยาดีไฮโดรอีมีทีน ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่ผลการศึกษษวิจัยที่ได้จากห้องทดลองพบว่า ยานี้ส่งผลต่อการจัดเรียงสารพันธุกรรมในระดับเซลล์ จึงเป็นที่มาของข้อสันนิษฐานว่า ยาดีไฮโดรอีมีทีนมีผลต่อสารพันธุกรรมในเชื้ออะมีบา ส่งผลให้เกิดการยับยั้งการเจริญเติบโต ทำให้เชื้ออะมีบาตายลง ซึ่งเป็นที่มาของสรรพคุณ

ดีไฮโดรอีมีทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาดีไฮโดรอีมีทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีดที่ประกอบด้วย Dehydroemetine hydrochloride ขนาด 30 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

ดีไฮโดรอีมีทีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาดีไฮโดรอีมีทีน มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อขนาด 1 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันเป็นเวลา 4–6 วัน โดยขนาดการใช้ยาสูงสุดไม่เกิน 60 มิลลิกรัม/วัน
  • ผู้สูงอายุ: ให้ลดขนาดการใช้ยาจากผู้ใหญ่ลงมา 50%
  • เด็ก: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อขนาด 1 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน ไม่เกิน 5 วัน

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาดีไฮโดรอีมีทีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคหัวใจ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่เพราะยาดีไฮโดรอีมีทีน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากไม่ได้รับการฉีดยาควรทำอย่างไร?

การใช้ยานี้มีแต่ในสถานพยาบาลและเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ที่มีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ดังนั้นโอกาสที่ผู้ป่วยจะไม่ได้รับการฉีดยา จึงเป็นไปได้น้อยมาก

ดีไฮโดรอีมีทีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาดีไฮโดรอีมีทีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดกล้ามเนื้อ
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว หัวใจผิดจังหวะ คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ

มีข้อควรระวังการใช้ดีไฮโดรอีมีทีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาดีไฮโดรอีมีทีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจ ผู้ที่มีภาวะเส้นประสาทอักเสบ
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น มีฝุ่นผงในยา
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • กรณีที่ใช้ยานี้แล้วอาการไม่ดีขึ้น หรืออาการเลวลง ให้รีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล โดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
  • ปฏิบัติตามคำสั่ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาดีไฮโดรอีมีทีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ดีไฮโดรอีมีทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาดีไฮโดรอีมีทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาดีไฮโดรอีมีทีนร่วมกับยาบางชนิดที่มีผลทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ ด้วยจะทำให้อาการหัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรงมากขึ้น เช่น ยา Theophylline, Psedoephredine, Codeine, Caffeine, เป็นต้น

ควรเก็บรักษาดีไฮโดรอีมีทีนอย่างไร?

ควรเก็บยาดีไฮโดรอีมีทีนตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ดีไฮโดรอีมีทีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาดีไฮโดรอีมีทีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Tilemetin (ไทล์เมทิน)Tablets (India) Limited

บรรณานุกรม

  1. http://apps.who.int/medicinedocs/en/d/Jh2922e/2.1.3.html[2017,July29]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Dehydroemetine[2017,July29]
  3. http://www.mims.com/india/drug/info/tilemetin/tilemetin%20inj[2017,July29]
  4. http://www.druginfosys.com/drug.aspx?drugcode=216&type=1[2017,July29]