ดิลไทอะเซม (Diltiazem)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 21 กุมภาพันธ์ 2564
- Tweet
- บทนำ : คือยาอะไร?
- ดิลไทอะเซมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
- ดิลไทอะเซมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ดิลไทอะเซมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ดิลไทอะเซมมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ดิลไทอะเซมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ดิลไทอะเซมอย่างไร?
- ดิลไทอะเซมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาดิลไทอะเซมอย่างไร?
- ดิลไทอะเซมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- แคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ (Calcium channel blocker)
- ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจวาย (Heart failure)
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจเสียจังหวะ (Arrhythmia)
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- ไมเกรน (Migraine)
- พอร์ฟิเรีย (Porphyria)
บทนำ : คือยาอะไร?
ยาดิลไทอะเซม (Diltiazem) คือ ยาในกลุ่ม Calcium channel blocker ทางแพทย์นำมารักษาโรคความดันโลหิตสูง ,ภาวะหัวใจขาดเลือด, และอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ, ในบางกรณีแพทย์ยังได้นำยานี้ไปใช้รักษาอาการปวดหัวไมเกรนอีกด้วย
ผลข้างเคียงที่พึงระวังจากยาดิลไทอะเซม ได้แก่ อาการความดันโลหิตต่ำ และภาวะหัวใจเต้นช้าผิดจังหวะ
รูปแบบของยาแผนปัจจุบันของยาดิลไทอะเซม จะเป็นยาชนิดรับประทาน และยาฉีด
โดยตัวยาดิลไทอะเซมสามารถดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ประมาณ 40% อวัยวะตับจะคอยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของยาดิลไทอะเซมอย่างต่อเนื่อง และร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 3 - 4.5 ชั่วโมง ในการกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยาดิลไทอะเซมลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาโรคหัวใจขาดเลือด (Ischemic heart disease)
การใช้ยาดิลไทอะเซม บผู้ป่วยจะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น ห้ามผู้ป่วยหยุดหรือปรับขนาด รับประทานด้วยตนเอง
ดิลไทอะเซมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
ยาดิลไทอะเซมมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:
- รักษาโรค/ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Angina pectoris)
- รักษาโรคความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- รักษาโรค/อาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac arrhythmias)
ดิลไทอะเซมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาดิลไทอะเซมคือ ตัวยาจะช่วยขยายหลอดเลือดแดงโดยออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดซึมประจุแคลเซียมในบริเวณผนังหลอดเลือดแดงและกล้ามเนื้อหัวใจ นอกจากนี้ยังช่วย เพิ่มปริมาณออกซิเจนที่ไปหล่อเลี้ยงหัวใจได้มากขึ้น จากกลไกดังกล่าวส่งผลให้เกิดฤทธิ์การรักษา ตามสรรพคุณ
ดิลไทอะเซมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาดิลไทอะเซมมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ด ขนาด 30, 60 และ 120 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาแคปซูล ขนาด 90, 100, 120, 180, 200, 240, 300 และ 360 มิลลิกรัม/แคปซูล
- ยาฉีด ขนาด 10 และ 50 มิลลิกรัม/ขวด
ดิลไทอะเซมมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาดิลไทอะเซมมีขนาดรับประทาน เช่น
ก. สำหรับโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Angina pectoris):
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 60 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้งเช้า - กลางวัน - เย็น หากจำเป็นแพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเป็น 360 - 480 มิลลิกรัม/วัน
- เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนถึงผลและผลข้างเคียงจากการใช้ยานี้กับผู้ป่วยเด็กที่ป่วยเป็นโรค หัวใจขาดเลือด ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
ข. สำหรับผู้ป่วยความดันโลหิตสูง (Hypertension):
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 60 - 120 มิลลิกรัมเช้า - เย็น หากจำเป็นแพทย์อาจปรับขนาดรับ ประทานได้ถึง 360 มิลลิกรัม/วัน
- เด็ก: รับประทาน 1.5 - 2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันทุก 8 ชั่วโมง ห้ามใช้ยาเกิน 6 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน และขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 360 มิลลิกรัม/วัน
*****หมายเหตุ:
- สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
- ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาดิลไทอะเซม ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาดิลไทอะเซมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาดิลไทอะเซม สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ดิลไทอะเซมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาดิลไทอะเซมสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- ปวดหัว
- บวมบริเวณข้อเท้า
- ความดันโลหิตต่ำ
- วิงเวียน
- อ่อนแรง
- ใบหน้าแดง
- คลื่นไส้
- รู้สึกไม่สบายในทางเดินอาหาร
- อาจพบผื่นคัน
- ผิวหนังมีสะเก็ดลอก
- ผื่นแพ้แสงแดด
- อาจเกิดตับอักเสบ
*****อนึ่ง: สำหรับผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาดอาจพบ อาการช็อกจากหัวใจเต้นช้า และจากมีความดันโลหิตต่ำ, หัวใจเต้นผิดจังหวะ, การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีเคจี (ECG) ผิดปกติ, บางคนอาจพบภาวะหัวใจล้มเหลว หรือหัวใจหยุดเต้น , ซึ่งหากพบอาการดังกล่าวให้รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน ซึ่งแพทย์จะให้การรักษาโดยใช้วิธีล้างท้องและให้ยาถ่านกำมันต์ (Activated charcoal) กับผู้ป่วยเพื่อลดปริมาณยาที่จะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย
มีข้อควรระวังการใช้ดิลไทอะเซมอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาดิลไทอะเซม เช่น
- ห้ามใช้ในผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติในการเต้นของหัวใจ, ผู้ป่วยโรคพอร์ฟิเรีย/ Porphyria (โรคทางพันธุกรรมที่พบได้ยากที่มีความผิดปกติของเอนไซม์สร้างสารฮีมของเม็ดเลือดแดง), ผู้ป่วยด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว, ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นช้าผิดปกติ, ผู้ป่วยด้วยอาการหัวใจเต้นช้าผิดจังหวะ
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ และ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้สูงอายุ
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะตับและ/หรือไตทำงานผิดปกติ, ผู้ป่วยที่มีอาการของหัวใจเต้นผิดปกติ, ผู้ป่วยเบาหวาน, ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตต่ำ
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ควรใช้ยาตามคำสั่งแพทย์โดยเคร่งครัด
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นช้า, และผู้ที่ใช้ยากลุ่มเบต้า-บล็อกเกอร์ (Beta blocker), หรือยา Digitalis , ด้วยอาจทำให้เกิดการพัฒนาเป็นโรคหัวใจได้มากยิ่งขึ้น
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาดิลไทอะเซมด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ดิลไทอะเซมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาดิลไทอะเซมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาดิลไทอะเซม ร่วมกับ ยาลดกรด เช่นยา Cimetidine สามารถเพิ่มความเข้มข้นของยาดิลไทอะเซมในกระแสเลือด และส่งผลให้เกิดอาการข้างเคียง/ผลข้างเคียงของยาดิลไทอะเซมติดตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาดิลไทอะเซม ร่วมกับ ยา Atenolol สามารถเพิ่มผลข้างเคียงของยาดิลไทอะเซมได้ มากยิ่งขึ้น เช่น อาจพบอาการปวดหัว, เป็นลม, บวมปลายมือ – เท้า, หัวใจเต้นผิดจังหวะ, หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป
- การใช้ยาดิลไทอะเซม ร่วมกับ ยารักษาโรคเกาต์ เช่นยา Colchicine สามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงตามมา เช่น ส่งผลให้เกิดการทำงานผิดปกติของ กล้ามเนื้อ, เม็ดเลือด, รวมถึงระบบประสาทและอวัยวะอื่นๆของร่างกาย อาทิ ตับและไตอีกด้วย, การจะใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับลดขนาดของยา Colchicine ลง หรือเว้นช่วงการใช้ยาให้ห่างกัน 14 วันเป็นอย่างต่ำ
- การใช้ยาดิลไทอะเซม ร่วมกับยา Cisapride สามารถทำให้ระดับยา Cisapride ในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้นจนส่งผลให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจมีอาการ วิงเวียน เป็นลม อึดอัด และหายใจไม่ออก/หายใจลำบากร่วมด้วย เพื่อความปลอดภัยจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาดิลไทอะเซมอย่างไร?
สามารถเก็บยาดิลไทอะเซม:
- เก็บยาที่อุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำ หรือ ในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ดิลไทอะเซมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาดิลไทอะเซม มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Angizem (แอนไจเซม) | Sun Pharma |
Cardil CR (คาร์ดิล ซีอาร์) | Orion |
Cascor XL (แคสคอร์ เอ็กซ์แอล) | Ranbaxy |
Denazox (เดนาซอก) | Remedica |
Dilcardia (ดิลคาร์เดีย) | J.B. Chemicals |
Dilem (ดิเลม) | Douglas |
Dilizem (ดิลิเซม) | Berlin Pharm |
Diltec (ดิลเทค) | Utopian |
Dilzem (ดิลเซม) | Central Poly Trading |
Ditizem (ดิทิเซม) | Siam Bheasach |
Herbesser 30/Herbesser 60 (เฮอร์เบสเซอร์ 30/เฮอร์เบสเซอร์ 60) | Mitsubishi Tanabe Pharma |
Herbesser 90 SR (เฮอร์เบสเซอร์ 90 เอสอาร์) | Mitsubishi Tanabe Pharma |
Herbesser Injection (เฮอร์เบสเซอร์ อินเจคชั่น) | Mitsubishi Tanabe Pharma |
Herbesser R100/Herbesser R200 (เฮอร์เบสเซอร์ อาร์100/เฮอร์เบสเซอร์ อาร์ 200) | Mitsubishi Tanabe Pharma |
Progor (โพรกอร์) | SMB Technology |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Diltiazem [2021,Feb20]
- https://www.mims.com/philippines/drug/info/dilzem?type=full [2021,Feb20]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/diltiazem-index.html?filter=3&generic_only= [2021,Feb20]
- https://reference.medscape.com/drug/cardizem-cd-diltiazem-342374 [2021,Feb20]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=diltiazem [2021,Feb20]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=diltiazem&page=0 [2021,Feb20]
- https://www.empr.com/drug/cardizem/ [2021,Feb20]
- https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/diltiazem-oral-route/proper-use/drg-20071775 [2021,Feb20]