ดาโรลูทาไมด์ (Darolutamide)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 13 กันยายน 2560
- Tweet
- บทนำ
- ดาโรลูทาไมด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ดาโรลูทาไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ดาโรลูทาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ดาโรลูทาไมด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- ดาโรลูทาไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ดาโรลูทาไมด์อย่างไร?
- ดาโรลูทาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาดาโรลูทาไมด์อย่างไร?
- ดาโรลูทาไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate cancer)
- ท้องเสีย (Diarrhea)
- มะเร็ง (Cancer)
- ยายับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจน (Antiandrogens)
- อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (Adverse Drug Reaction)
บทนำ
ยาดาโรลูทาไมด์(Darolutamide) เป็นสารประกอบที่มีโครงสร้างทางเคมีที่ไม่ใช่สารสเตียรอยด์และมีฤทธิ์ต่อต้านฮอร์โมนแอนโดรเจน(Nonsteroidal Antiandrogen ย่อว่า NSAA หรือ ยายับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจน) ฮอร์โมนแอนโดรเจนจัดเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้มะเร็งต่อมลูกหมากขยายตัวและโตขึ้น รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาดาโรลูทาไมด์คือยารับประทาน หลังการดูดซึมตัวยาชนิดนี้จากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือดร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 15.8 ชั่วโมงขึ้นไปเพื่อกำจัดยานี้ให้หมดไป ยาดาโรลูทาไมด์ในร่างกายจะต้องถูกเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีให้เป็นสารที่ออกฤทธิ์(Active metabolite)ที่ต่อต้านฮอร์โมนแอนโดรเจน
ผลการศึกษาวิจัยพบว่ามะเร็งต่อมลูกหมากในระยะที่ I และ II มีการตอบสนองต่อการใช้ยาดาโรลูทาไมด์เป็นอย่างดี โดยทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น แต่อาจเกิดผลข้างเคียงของการใช้ยาชนิดนี้อยู่บ้าง เช่น อ่อนแรง รู้สึกคลื่นไส้ และท้องเสีย
ข้อดีประการหนึ่ง คือยาดาโรลูทาไมด์สามารถซึมผ่านเข้าสมองได้เล็กน้อย แต่ไม่พบอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ที่ก่อให้เกิดอาการชักเหมือนยารักษามะเร็งต่อมลูกหมากบางตัว เช่น Enzalutamide
กลางปี ค.ศ. 2016 (พ.ศ. 2559) ยาดาโรลูทาไมด์อยู่ในช่วงการวิจัยเพื่อรักษาอาการมะเร็งต่อมลูกหมากระยะที่ III ซึ่งเป็นระยะที่โรคมีการลุกลามแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งออกนอกต่อมลูกหมาก และการฉายรังสีรักษาร่วมกับการลดฮอร์โมนแอนโดรเจนแล้วไม่ได้ผล ดังนั้นในอนาคตอันใกล้ ผู้บริโภคอาจจะพบเห็นยาดาโรลูทาไมด์มีวางจำหน่ายและใช้ในสถานพยาบาลโดยเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากระยะลุกลาม
ดาโรลูทาไมด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ดาโรลูทาไมด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ
- รักษามะเร็งต่อมลูกหมาก ปัจจุบันมีข้อสรุปจากงานวิจัยพบว่า ยานี้สามารถบำบัดอาการมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะที่ I และ II โดยทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น และปัจจุบัน ยาดาโรลูทาไมด์อยู่ระหว่างการวิจัยเพื่อบำบัดอาการมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะที่ III
ดาโรลูทาไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาดาโรลูทาไมด์คือ ตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับ(Receptor)ในร่างกายที่มีชื่อว่า แอนโดรเจน รีเซพเตอร์(Androgen receptor) และแสดงฤทธิ์กีดกัน/ต้านฮอร์โมนแอนโดรเจนซึ่งมีอิทธิพลสนับสนุนการเจริญ เติบโตของเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมาก จากกลไกนี้ จึงส่งผลให้เซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากชะลอการขยายตัวและ ช่วยลดโอกาสการแพร่กระจาย
ดาโรลูทาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาดาโรลูทาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาชนิดรับประทาน
ดาโรลูทาไมด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
ปัจจุบัน ยังเป็นข้อมูลที่รอการสรุปทางคลินิก ว่า ควรใช้ยาดาโรลูทาไมด์ในขนาดเท่าไรเพื่อการรักษาควบคุมมะเร็งต่อมลูกหมาก ดังนั้น การใช้ยานี้ที่รวมถึงขนาดและระยะเวลา จึงขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาดาโรลูทาไมด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่เพราะยาดาโรลูทาไมด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
ดาโรลูทาไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
เท่าที่มีข้อสรุปของผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) จากผู้ที่ได้รับยาดาโรลูทาไมด์ โดยมีการควบคุมการบริหารยา/ใช้ยาอย่างใกล้ชิดพบว่า ยาดาโรลูทาไมด์สามารถทำให้เกิดอาการ อ่อนแรง คลื่นไส้ และท้องเสีย อาการข้างเคียงต่อระบบอวัยวะอื่นๆของร่ากาย ยังต้องรอผลการศึกษาวิจัย และสรุปยืนยันทางคลินิกอีกทีหนึ่ง
มีข้อควรระวังการใช้ดาโรลูทาไมด์อย่างไร?
ข้อควรระวังโดยรวมๆของยาดาโรลูทาไมด์อาจสรุปได้ดังนี้ เช่น
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรี
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก
- ห้าม/หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ
- รับประทานยานี้ต่อเนื่องตรงตามขนาดและเวลาในแต่ละวันตามแพทย์สั่ง
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง เพื่อรับการตรวจร่างกาย และดูความก้าวหน้าของการรักษา
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่งทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาดาโรลูทาไมด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ดาโรลูทาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ปัจจุบัน ยังไม่มีข้อมูลยืนยันทางคลินิกของการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาของยาดาโรลูทาไมด์กับยารับประทานชนิดใดๆ
ควรเก็บรักษาดาโรลูทาไมด์อย่างไร?
ควรเก็บยาดาโรลูทาไมด์ในช่วงอุณหภูมิที่ทำให้ยานี้เสถียรตามผลการวิจัย/ตามเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
ดาโรลูทาไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาดาโรลูทาไมด์ เป็นยาใหม่ ยังไม่มีการจำหน่ายแพร่หลาย จึงยังไม่มียาชื่อการค้า มีแต่ชื่อที่ใช้ในการศึกษาวิจัย โดยมีบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย คือ
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
ODM-201, BAY-1841788 หรือ ODM 201 (โอเอมดี-201, เบย์-1841788) | Orion and Bayer HealthCare |
บรรณานุกรม
- http://adisinsight.springer.com/drugs/800033671[2017,Aug26]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Darolutamide[2017,Aug26]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4673554/[2017,Aug26]
- https://en.wikipedia.org/wiki/ORM-15341[2017,Aug26]
- http://medinfo2.psu.ac.th/social/doc/2014-05-01-09-18-45.pdf[2017,Aug26]
- https://newdrugapprovals.org/2016/08/12/darolutamide/[2017,Aug26]