ดาพ็อกซิไทน์ (Dapoxetine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาดาพ็อกซิไทน์(Dapoxetine) เป็นยาในกลุ่มเอสเอสอาร์ไอ (Selective serotonin reuptake inhibitors/SSRI) ทางคลินิก นำมาใช้บำบัดอาการหลั่งน้ำอสุจิเร็วเกินไป(Premature Ejaculation) ซึ่งพบได้ในบุรุษในช่วงอายุ 18–64 ปี ยานี้ยังมีฤทธิ์ต้าน อารมณ์ซึมเศร้าด้วยเช่นกัน เพราะเป็นยาที่มีการออกฤทธิ์เร็ว ทางการแพทย์จึงมัก ใช้ยาดาพ็อกซิไทน์มาบำบัดภาวะหลั่งน้ำอสุจิเร็วเกินไปมากกว่าใช้เป็นยาต้านเศร้า

อย่างไรก็ตาม กลไกลดอาการหลั่งเร็วของยาดาพ็อกซิไทน์ ยังไม่เป็นที่ทราบชัดเจนแต่เชื่อกันว่า การยับยั้งการดูดคืนกลับของสาร Serotonin ในสมอง ส่งผลเพิ่มความสามารถในการควบคุมความรู้สึกการหลั่งน้ำอสุจิได้ดีในระดับหนึ่ง

เภสัชภัณฑ์ของยาดาพ็อกซิไทน์ เป็นแบบรับประทาน โดยต้องรับประทานยาล่วงหน้า 1-3 ชั่วโมงก่อนมีเพศสัมพันธ์ ขนาดการใช้ยากับบุรุษอาจมีความแตกต่างกันตามสภาพของร่างกายแต่ละบุคคล ทั่วไป ร่างกายใช้เวลาประมาณ 19 ชั่วโมงเพื่อทำลายยานี้ออกจากกระแสเลือด และตัวยาส่วนมากจะถูกขับทิ้งไปกับปัสสาวะ

มีข้อจำกัดการใช้ยาดาพ็อกซิไทน์บางประการที่ควรทราบดังนี้ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคหัวใจ เช่น หัวใจล้มเหลว หัวใจขาดเลือด ผู้ที่ใส่อุปกรณ์กระตุ้นการทำงานของหัวใจ อย่างเช่น Pacemaker ผู้ที่มีอาการทางจิตประสาท ผู้ป่วยอารมณ์สองขั้ว ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าอย่างรุนแรง ผู้ป่วยโรคไตระยะรุนแรง ผู้ป่วยโรคตับที่มีความรุนแรงตั้งแต่ระดับกลางขึ้นไป ด้วยตัวยาดาพ็อกซิไทน์ จะทำให้อาการของโรคดังกล่าวทวีความรุนแรงมากขึ้น
  • ห้ามใช้ยาดาพ็อกซิไทน์ในผู้ป่วยที่เพิ่งหยุดการใช้ยาต้านเศร้าชนิดต่างๆ หรือ ยากลุ่ม SSRIs หรือ SNRIs หรือ MAOIs ควรเว้นระยะเวลาหลังจากหยุดใช้ยากลุ่มดัง กล่าว 14 วันเป็นอย่างต่ำ จึงใช้ยาดาพ็อกซิไทน์
  • ห้ามใช้ร่วมกับกลุ่มยาที่มีการออกฤทธิ์เป็น CYP3A4 inhibitors เช่น Ketoconazole , Ritonavir, และ Telithromycin

ยาดาพ็อกซิไทน์เป็นยาที่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้เช่นเดียวกับยาชนิดอื่น อาทิ คลื่นไส้ วิงเวียน ปากแห้ง ปวดศีรษะ ท้องเสีย หรือนอนไม่หลับ การหยุดใช้ยาจะทำให้อาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)หายไปได้เอง อาการข้างเคียงที่สำคัญคือก่อให้เกิดสมรรถภาพทางเพศเสื่อมลง แพทย์จึงแนะนำให้ผู้บริโภคใช้ยานี้ในขนาดความแรงที่ต่ำขณะเริ่มต้น และใช้ยาเมื่อมีความจำเป็นจริงๆเท่านั้น

ก่อนใช้ยาดาพ็อกซิไทน์ ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรต้องตรวจสภาพร่างกายและให้แพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายยาดาพ็อกซิไทน์เท่านั้น ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาชนิดนี้โดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์ ปัจจุบันยาดาพ็อกซิไทน์ที่มีจำหน่ายภายในประเทศ มียาชื่อการค้าว่า Priligy

ดาพ็อกซิไทน์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ดาพ็อกซิไทน์

ยาดาพ็อกซิไทน์ มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้เป็นยาบำบัดอาการหลั่งน้ำอสุจิเร็วเกินไปขณะมีเพศสัมพันธ์ (Ejaculation premature)

ดาพ็อกซิไทน์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการหลั่งน้ำอสุจิมีความสัมพันธ์ต่อคำสั่งกระแสประสาทในสมองที่ส่งผ่านมาทางไขสันหลังไปจนถึงอวัยวะเพศของบุรุษ/องคชาติ ยาดาพ็อกซิไทน์เป็นยาที่มีกลไกการออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดคืนกลับของสาร Serotonin ที่อยู่ในช่วงรอยต่อของเซลล์ประสาท (Pre-and postsynaptic receptors) นักวิทยาศาสตร์มีความเชื่อว่ากลไกนี้เองที่ทำให้ยกระดับความสามารถในการควบคุมการหลั่งน้ำอสุจิได้ดีขึ้น และเป็นที่มาของฤทธิ์การรักษาตามสรรพคุณ

ดาพ็อกซิไทน์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาดาพ็อกซิไทน์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ประกอบด้วยตัวยา Dapoxetine ขนาด 30 และ 60 มิลลิกรัม/เม็ด

ดาพ็อกซิไทน์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาดาพ็อกซิไทน์มีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่อายุ 18–64 ปี: รับประทานยาครั้งละ 30 มิลลิกรัม ก่อนมีเพศสัมพันธ์ 1–3 ชั่วโมง วันละ 1 ครั้ง หากจำเป็น แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเป็น 60 มิลลิกรัม/ครั้ง/วัน
  • ผู้อายุต่ำกว่า 18ปีหรือสูงกว่า 64ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกของการใช้ยา/และขนาดนี้

อนึ่ง:

  • สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหาร ควรรับประทานยาพร้อมน้ำดื่ม 1 แก้วอย่างเพียงพอ
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยานี้พร้อมสุรา ด้วยจะทำให้ความสามารถในการควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจเปลี่ยนแปลงไป
  • แพทย์อาจขอตรวจสมรรถภาพร่างกายหลังใช้ยาไปแล้วประมาณ 4 สัปดาห์ ซึ่งเฉลี่ยเทียบเท่ากับการใช้ยา 6 ครั้ง ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์ตามนัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามรับประทานยานี้เกินขนาด เพราะจะทำให้มีอาการ คลื่นไส้อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว ตัวสั่น วิงเวียน การรักษาผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด แพทย์ จะดูแลรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น และในปัจจุบันยังไม่มียาต้านพิษยาดาพ็อกซิไทน์

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาดาพ็อกซิไทน์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคทางจิตประสาท โรคตับ โรคไต รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาดาพ็อกซิไทน์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

การลืมรับประทานยาชนิดนี้ก่อนมีเพศสัมพันธ์ ไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพแต่อย่างใด ผู้บริโภคควรให้ความสำคัญในเรื่องขนาดรับประทานและความถี่ของการใช้ยานี้ที่เหมาะสมกับสุขภาพร่างกายของตนเอง โดยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์

ดาพ็อกซิไทน์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาดาพ็อกซิไทน์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก ปวดท้อง ปากแห้ง เบื่ออาหาร
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น มีภาวะใบหน้าแดง ความดันโลหิตสูง
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เหงื่อออกมาก
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ ง่วงนอน ตัวสั่น เกิดภาวะเซ็กเสื่อม ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น วิตกกังวล ฝันประหลาด นอนไม่หลับ
  • ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า
  • ผลต่อหู: เช่น หูดับ

*อนึ่ง ทั่วไปอาการข้างเคียงดังกล่าวจะหายไปเอง หลังจากหยุดใช้ยานี้

อาการอย่างไรที่ต้องหยุดการใช้ยาแล้วกลับมาปรึกษาแพทย์?

หลังรับประทานยาดาพ็อกซิไทน์ หากพบอาการดังต่อไปนี้ต้องหยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วรีบด่วนกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด

  • เกิดอาการชักกระตุก
  • เป็นลม หรือวิงเวียน เมื่อลุกขึ้นยืน
  • มีอารมณ์เปลี่ยนแปลงหรือเกิดอาการทางจิตประสาท
  • มีความรู้สึกอยากทำร้ายตนเอง

มีข้อควรระวังการใช้ดาพ็อกซิไทน์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาดาพ็อกซิไทน์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาชนิดนี้
  • ยานี้ถูกออกแบบมาให้ใช้กับบุรุษเพื่อบำบัดอาการหลั่งน้ำอสุจิเร็วเกินไป
  • การนำไปใช้เป็นยาต้านเศร้าให้ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่เสื่อมสภาพ เช่น เม็ดยาแตกหัก สียาเปลี่ยนไป
  • ห้ามใช้ยากับ สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
  • หลังรับประทานยานี้แล้วมีอาการวิงเวียน ต้องหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆรวมถึงการทำงานกับเครื่องจักร ด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับยาชนิดอื่นใดโดยมิได้ขอคำแนะนำจากแพทย์เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาดาพ็อกซิไทน์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่องข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ดาพ็อกซิไทน์มีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาดาพ็อกซิไทน์ มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาดาพ็อกซิไทน์ร่วมกับยาบำบัดอาการหย่อนสมรรถภาพเพศชายหรือ พีดีอี 5 อินฮิบิเตอร์ (PDE 5 inhibitor) เพราะอาจเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนอิริยาบถ/ความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกยืน(Orthostatic hypotension)
  • ห้ามใช้ยาดาพ็อกซิไทน์ร่วมกับยาThioridazine ด้วยจะทำให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจ ผิดปกติ (Prolonged QT interval)
  • ห้ามใช้ยาดาพ็อกซิไทน์ร่วมกับยากลุ่ม SSRIs, SNRIs, หรือ MAOIs เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงจากการมีสาร Serotonin ในระบบประสาทมากเกินไป(Serotonin syndrome)

ควรเก็บรักษาดาพ็อกซิไทน์อย่างไร?

ควรเก็บรักษายาดาพ็อกซิไทน์ ดังนี้ เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแข็งตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาที่เสื่อมสภาพหรือยาที่หมดอายุแล้ว
  • ห้ามทิ้งยาลงในแม่น้ำหรือคูคลองตามธรรมชาติ

ดาพ็อกซิไทน์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาดาพ็อกซิไทน์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Priligy(พริลิจี้)A.Menarini

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Dumax, Duratia, Joybox, Kutub, Lejam, Pentenal-30, Sustinex, Ever Long, Westoxetin

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Dapoxetine [2018,June9]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/dapoxetine/?type=brief&mtype=generic [2018,June9]
  3. https://www.drugs.com/uk/priligy-30-mg-film-coated-tablets-leaflet.html [2018,June9]