ดาพากลิโฟลซิน (Dapagliflozin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาดาพากลิโฟลซิน(Dapagliflozin) เป็นยาในกลุ่มยา Gliflozin หรือ Sodium-glucose Cotransporter inhibitor มีฤทธิ์ยับยั้งการดูดกลับของน้ำตาลกลูโคส(Glucose)ที่บริเวณไต ทางคลินิก จึงได้นำยานี้มาใช้รักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ยาดาพากลิโฟลซินถูกพัฒนาเมื่อปี ค.ศ.2011 (พ.ศ.2554) โดยบริษัท Bristol-Myers Squibb การใช้ยานี้มักจะต้องควบคู่ไปกับการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ

ยาดาพากลิโฟลซินสามารถใช้ร่วมกับยารักษาเบาหวานกลุ่มอื่น อย่างเช่น Metformin ทั้งนี้เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการรักษานั่นเอง โดยรูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้ จะเป็นยาชนิดรับประทาน ที่หลังการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร ตัวยาที่เข้าสู่กระแสเลือดจะเกิดการรวมตัวกับโปรตีนในเลือดประมาณ 91% และร่างกายต้องใช้เวลา ประมาณ 12.9 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

ระหว่างที่ผู้ป่วยได้รับยาดาพากลิโฟลซิน ควรต้องหมั่นตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ และมารับการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดจากโรงพยาบาลตามคำสั่งแพทย์เสมอ ซึ่งโดยทั่วไป แพทย์จะทำการนัดผู้ป่วยมาพบเป็นระยะๆเพื่อดูความก้าวหน้าของการรักษา ผู้ป่วยควรมาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง

ทั้งนี้ มีข้อควรระวังบางประการที่ผู้บริโภคควรทราบก่อนการใช้ยาดาพากลิโฟลซิน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ยานี้อาจเป็นเหตุให้เพิ่มความเสี่ยงเกิดกระดูกหักได้มากขึ้น จึงควรหลีกเลี่ยง การใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีมวลกระดูกบางหรือกระดูกมีสภาพที่ง่ายต่อการแตกหักอยู่แล้ว(เช่น ภาวะกระดูกพรุน)
  • ระหว่างใช้ยานี้ จะเกิดโอกาสติดเชื้อราในช่องทางเดินสืบพันธุ์ (เช่น เชื้อราในช่องคลอด) และในระบบทางเดินปัสสาวะ(เช่น โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ)ได้ง่าย ผู้ป่วยจึงควรดูแลสุขอนามัยในบริเวณอวัยวะเพศให้สะอาดเสมอ
  • ระหว่างใช้ยานี้ มีโอกาสเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำได้ จึงเป็นข้อควรระวัง และต้องเฝ้าติดตามความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์ เภสัชกร แนะนำ
  • ยานี้อาจทำให้ระดับไขมันคอเลสเตอรอลชนิดแอลดีแอล/LDL เพิ่มสูงขึ้น
  • ต้องระวังการเกิดภาวะเลือดเป็นกรด (Ketoacidosis) ด้วยยานี้สามารถทำให้ ร่างกายมีระดับสารคีโตน (Ketone) ในเลือด หรือในปัสสาวะ เพิ่มมากขึ้น
  • ยานี้มีผลกระทบต่อไต ด้วยมีรายงานว่า ยาดาพากลิโฟลซินสามารถสร้างความเสียหายและรบกวนการทำงานของไตผู้ป่วยได้

โดยสรุป นอกจากต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดแล้ว ระหว่างที่ใช้ยาดาพากลิโฟลซิน ผู้ป่วยจะต้องได้รับการตรวจสอบระดับไขมันแอลดีแอล (LDL cholesterol)ในเลือด ตรวจการติดเชื้อราในช่องทางเดินสืบพันธุ์ ตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจระดับอิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte)ในเลือด ตลอดจนสภาพเลือดว่าเป็นกรดหรือไม่

ด้วยกลไกการออกฤทธิ์ของยาดาพากลิโฟลซิน ไม่เหมาะต่อการนำไปรักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 1 การคัดเลือกตัวยาที่จะใช้รักษาเบาหวานประเภทใด จึงต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์เท่านั้น โดยผู้ป่วยควรปฏิบัติและใช้ยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด

สำหรับข้อมูลด้านอื่นๆที่ควรทราบเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยปรับตัวได้ดีเมื่อได้รับยาดาพากลิโฟลซิน เพื่อเกิดประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยสูงสุด อาทิ เช่น

  • ยาดาพากลิโฟลซิน เป็นยาที่รับประทานเพียงวันละ 1 ครั้ง ไม่ยุ่งยากต่อการจดจำ หรือการหลงลืมรับประทานยาแต่อย่างใด และควรรับประทานยานี้ในเวลาเดียวกันของทุกวัน เช่น เวลาเช้า เป็นต้น
  • สามารถรับประทานยานี้ได้ทั้ง ก่อนหรือหลัง มื้ออาหาร โดยต้องดื่มน้ำตามอย่าง เพียงพอเพื่อให้ตัวยากระจายตัวในร่างกายได้มากขึ้น
  • รับประทานยานี้อย่างต่อเนื่อง และคอยควบคุม ระดับน้ำตาลในเลือด เช่น ในการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย และหมั่นตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กรณีลืมรับประทานยานี้ ให้รับประทานยาได้ทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ โดยไม่ต้องเพิ่ม ขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
  • หากพบอาการวิงเวียน หลังใช้ยานี้ ให้หยุดพักดูอาการ และห้ามขับขี่ยวดยานพาหนะ และ/หรือการทำงานกับเครื่องจักร เพราะอาการนี้อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • อย่าหลงลืมจนเป็นเหตุให้รับประทานยานี้เกินขนาด
  • ดื่มน้ำเป็นปริมาณเพียงพอในแต่ละวัน เช่น ประมาณ วันละ 6-8 แก้ว หรือตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะสูญเสียน้ำของร่างกาย
  • โดยทั่วไป การรับประทานยานี้ตามคำสั่งแพทย์ จะไม่ก่อให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามผู้ป่วยควรต้องเรียนรู้วิธีปฐมพยาบาลเมื่อมีอาการน้ำตาในเลือดต่ำ เพื่อช่วยเหลือดูแลตนเองได้ทันเวลา(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในผู้ป่วยเบาหวาน)
  • ผู้สูงอายุที่ใช้ยานี้ อาจมีอาการ วิงเวียน ร่างกายขาดน้ำ/ภาวะขาดน้ำ ความดันโลหิตต่ำ มีปัญหาต่อการทำงานของไต โดยอาการ/อาการแสดงเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น
  • ยาดาพากลิโฟลซินถูกออกแบบให้ใช้กับผู้ใหญ่เท่านั้น ห้ามใช้กับเด็ก
  • สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร สามารถใช้ยานี้ได้หรือไม่นั้น ต้องอยู่ที่ ดุลยพินิจของแพทย์แต่ผู้เดียว

ในประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยา ได้กำหนดให้ผลิตภัณฑ์ยาดาพากลิโฟลซิน อยู่ในหมวดยาควบคุมพิเศษ การสั่งจ่ายให้ผู้ป่วยจะต้องมีใบสั่งจากแพทย์มากำกับเท่านั้น ผู้บริโภคไม่สามารถหาซื้อยานี้จากร้านขายยาได้โดยตรง

หากต้องการทราบข้อมูลของยาดาพากลิโฟลซินเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้จากแพทย์ผู้ที่ทำการรักษาโรคเบาหวาน หรือจากเภสัชกรได้โดยทั่วไป

ยาอะบาคาเวียร์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ดาพากลิโฟลซิน

ยาดาพากลิโฟลซินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เพื่อ บำบัดรักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2

ดาพากลิโฟลซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาดาพากลิโฟลซินคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดคืนกลับของน้ำตาลในเลือดที่บริเวณไต โดยไม่มีผลกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินของตับอ่อน ส่งผลลดระดับน้ำตาลในกระแสเลือด จากกลไกดังกล่าว ทำให้เกิดฤทธิ์รักษาได้ตามสรรพคุณ

ดาพากลิโฟลซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาดาพากลิโฟลซิน มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 5 และ 10 มิลลิกรัม/เม็ด

ดาพากลิโฟลซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาดาพากลิโฟลซิน มีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานยาครั้งละ 5 มิลลิกรัม วันละ 1ครั้ง ตอนเช้า ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ โดยควรรับประทานยาตรงเวลาในแต่ละวัน ทั้งนี้แพทย์อาจปรับเพิ่มขนาดรับประทานเป็นครั้งละ 10 มิลลิกรัม โดยดูจากการตอบสนองของระดับน้ำตาลในเลือดผู้ป่วยต่อยานี้
  • เด็ก: ทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัย และขนาดยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

อนึ่ง:

  • ผู้ป่วยโรคไตที่มีความรุนแรงระดับกลางไปจนถึงขั้นรุนแรงมาก อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องหลีกเลี่ยง/ ห้ามใช้ยานี้
  • ผู้ป่วยโรคตับที่ไม่รุนแรงหรือรุนแรงในระดับกลาง ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดรับประทานแต่อย่างใด
  • สามารถใช้ร่วมกับยารักษาเบาหวานชนิดอื่นได้ เช่น Metformin เป็นต้น

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาดาพากลิโฟลซิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคไตระยะรุนแรง โรคกระดูก รวมถึง กำลังกินยา/ใช้ยา และ/หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาดาพากลิโฟลซินอาจส่งผลให้ อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ และ/หรือกับอาหารเสริม ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาดาพากลิโฟลซิน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

แต่อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาดาพากลิโฟลซินตรงเวลา

ดาพากลิโฟลซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาดาพากลิโฟลซินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะและอวัยวะสืบพันธ์: เช่น ปัสสาวะขัด ติดเชื้อในบริเวณช่องคลอดได้ง่าย ติดเชื้อในบริเวณอวัยวะเพศของบุรุษได้ง่าย
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ
  • ผลต่อตับ: เช่น ตับอักเสบ
  • ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ มีภาวะเลือดเป็นกรด
  • ผลต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น ปวดหลัง มีโอกาสกระดูกหักง่าย
  • ผลต่อการเกิดเนื้องอกของร่างกาย: เช่น พบโอกาสเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ได้ประมาณ 0.1 – 1% เมื่อใช้ยานี้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น ทำให้ระดับพาราไทรอยด์ฮอร์โมน(ฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ ที่มีหน้าที่ควบคุมปริมาณแคลเซียมในเลือด)ในเลือดเพิ่มขึ้น
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ
  • ผลต่อระบบหายใจ: เช่น คอหอยอักเสบ และเยื่อจมูกอักเสบ

มีข้อควรระวังการใช้ดาพากลิโฟลซินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาดาพากลิโฟลซิน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคไตระยะรุนแรง
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยานี้กับ เด็ก สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา) ผู้ป่วยต้องแจ้งแพทย์ทุกครั้งว่ามีการใช้ยาชนิดใดอยู่ก่อน
  • หยุดการใช้ยานี้ทันทีหากผู้ป่วยมีอาการแพ้ยานี้ เช่น ใบหน้าบวม หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ขึ้นผื่น แล้วรีบไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ปฏิบัติตามคำสั่ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาดาพากลิโฟลซินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ดาพากลิโฟลซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาดาพากลิโฟลซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาดาพากลิโฟลซินร่วมกับยา Gatifloxacin ด้วยอาจก่อให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือไม่ก็สูง กรณีที่เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการช็อกหมดสติจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นหากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาดาพากลิโฟลซินร่วมกับยา Nadolol, Methyldopa, จะเพิ่มความเสี่ยงของภาวะความดันโลหิตต่ำ และเสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำ กรณีจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาดาพากลิโฟลซินร่วมกับยา Pseudoephedrine, Estradiol, Hydrocortisone, อาจทำให้ประสิทธิภาพในการควบคุมน้ำตาลในเลือดของยาดาพากลิโฟลซินลดลง หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • หลีกเลี่ยงและห้ามรับประทานยาดาพากลิโฟลซินร่วมกับเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ด้วยอาจก่อให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูงก็ได้

ควรเก็บรักษาดาพากลิโฟลซินอย่างไร?

ควรเก็บยาดาพากลิโฟลซินภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส(Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น

ดาพากลิโฟลซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาดาพากลิโฟลซิน ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Forxiga (ฟอร์ซิกา)AstraZeneca

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ที่จำหน่ายในต่างประเทศ เช่น Farxiga

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Gliflozin [2016,Nov12]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/forxiga [2016,Nov12]
  3. https://www.drugs.com/ppa/dapagliflozin.html [2016,Nov12]
  4. https://www.drugs.com/drug-interactions/dapagliflozin-index.html?filter=2&generic_only=#N [2016,Nov12]